บาลีวันละคำ

สาม “ลัก-” (บาลีวันละคำ 251)

สาม “ลัก-”

คำบาลีสันสกฤตที่เอามาใช้ในภาษาไทยขึ้นต้นว่า “ลัก-” ที่ควรสังเกตมีอยู่ 3 คำ คือ –

1. “ลกฺขณ” (ลัก-ขะ-นะ) ภาษาไทยใช้ว่า “ลักษณะ” แปลว่า ลักษณะจำเพาะ, สมบัติเฉพาะตัว, ประเภท, เครื่องหมายที่ร่างกาย (เช่น ลักษณะของอวัยวะบางอย่างที่ใช้ทำนายอนาคตหรือนิสัยใจคอ)

“ลัก-” นี้ใช้ในภาษาไทยมากที่สุด เขียน “ลักษณะ-ลักษณ์” จนเคยมือ

2. “ลกฺข” (ลัก-ขะ)  ภาษาไทยใช้ว่า “ลักษะ” แปลว่า “แสน” (จำนวนแสน) เช่น – อำเภอ “ขาณุวรลักษบุรี” จังหวัดกำแพงเพชร เดิมชื่อบ้าน “แสนตอ” (ขาณุ แปลว่า “ตอไม้”), อำเภอ “กันทรลักษ์” จังหวัดศรีสะเกษ เดิมชื่อบ้าน “ห้วยลำแสน” (กันทร แปลว่า “ลำธาร”) “ลัก-” นี้มักเขียนด้วยความเคยมือเป็น “ลักษณ์” ซึ่งเป็นคำที่เขียนผิด

“ลกฺข” ยังแปลว่า “โชคดี” อีกด้วย คำบาลี “ลกฺขี” แปลว่า “คนมีโชคดี” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Lucky

3. “ลัก-” ชื่อน้ององค์หนึ่งของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ ที่เราเรียกกันว่า “พระลัก-” สันสกฤตเป็น “ลกฺษฺมณ” (ลัก-สะ-มะ-นะ) เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ลักษมณ์” แต่อ่านแบบไทยว่า “ลัก”

“ลัก-” นี้ก็มักเขียนผิดเป็น “ลักษณ์” อีกเหมือนกัน

ลักจำ :

– ลัก-ทั่วไป : ลักษณะ

– ลัก-แสน : ลักษะ

– ลัก-น้องพระราม : ลัก-สะ-มน (ลักษมณ์)

บาลีวันละคำ (251)

15-1-56

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย