สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ (บาลีวันละคำ 3,368)
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ (ชุดพรหมวิหารภาวนา)
“จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนอยู่เถิด”
“สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ” เขียนแบบบาลีเป็น “สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ” อ่านว่า สุ-ขี อัด-ตา-นัง ปะ-ริ-หะ-รัน-ตุ
ประกอบด้วยคำบาลี 3 คำ คือ “สุขี” “อตฺตานํ” “ปริหรนฺตุ”
(๑) “สุขี”
อ่านว่า สุ-ขี รูปคำเดิมมาจาก สุข + อี ปัจจัย
(ก) “สุข” บาลีอ่านว่า สุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ม ที่สุดธาตุ
: สุ + ขมฺ = สุขม + กฺวิ = สุขมกฺวิ > สุขม > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทนได้ง่าย”
(2) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ น ที่สุดธาตุ
: สุ + ขนฺ = สุขน + กฺวิ = สุขนกฺวิ > สุขน > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี”
(3) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ท ที่สุดธาตุ, ลดเสียง อา ที่ ขา-(ทฺ) เป็น อะ
: สุ + ขาทฺ = สุขาท + กฺวิ = สุขาทกฺวิ > สุขาท > สุขา > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี”
(4) สุขฺ (ธาตุ = สุขสบาย) + อ (อะ) ปัจจัย
: สุขฺ + อ = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลให้สุขสบาย”
(5) สุ (คำอุปสรรค = ง่าย, สะดวก) + ข (โอกาส)
: สุ + ข = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ให้โอกาสได้ง่าย”
“สุข” เราแปลทับศัพท์กันจนอาจจะไม่เคยคิดว่าหมายถึงอะไร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุข” (นปุงสกลิงค์) ไว้ดังนี้ –
(1) agreeable, pleasant, blest (เป็นที่พอใจ, รื่นรมย์, ได้รับพร)
(2) wellbeing, happiness, ease (ความผาสุก, ความสุข, ความสบาย)
(3) ideal, success (อุดมคติ, ความสำเร็จ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุข, สุข– : (คำนาม) ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง, มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ. (คำวิเศษณ์) สบายกายสบายใจ เช่น เดี๋ยวนี้เขาอยู่สุขสบายดี. (ป., ส.).”
(ข) สุข + อี = สุขี แปลว่า “ผู้มีความสุข” หมายถึง มีความสุข, มีความสบาย (happy, at ease) สบายดี, ไม่มีอันตราย (being well, unhurt)
“สุขี” ในบาลีเป็นได้ทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ ใช้ “สุขี” เป็นคำขยายได้ได้ทั้งชายและหญิง
(๒) “อตฺตานํ”
รูปศัพท์เดิมเป็น “อตฺต” (อัด-ตะ) มาจากรากศัพท์ดังนี้ :
(1) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ต ปัจจัย
: อตฺ + ต = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)
๒) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)
๓) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)
(2) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ต ปัจจัย, แปลง ท เป็น ต
: อทฺ + ต = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)
๒) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)
(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ต ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > อ)และ อา ที่ ธา (ธา > ธ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ
: อา + ธา = อาธา + ต = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)
“อตฺต” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul)
“อตฺต” หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ
ในทางปรัชญา “อตฺต” หรือ “อตฺตา” หมายถึง ความยึดมั่นในตัวเอง ที่เรียกกันว่า “ตัวกูของกู” หรือที่รู้กันในคำอังกฤษว่า ego
“อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ในที่นี้ “อตฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เปลี่ยนรูปเป็น “อตฺตานํ” (อัด-ตา-นัง) เขียนแบบไทยหรือแบบคำอ่านเป็น “อัตตานัง” แปลตามศัพท์ว่า “ซึ่งตน”
แถมหลักไวยากรณ์ :
คำแปลว่า “ซึ่งตน” ที่ต้องมีคำว่า “ซึ่ง-” ด้วย เพราะเป็นการแปลตามศัพท์หรือ “แปลโดยพยัญชนะ” ต้องมีคำที่เรียกว่า “อายตนิบาต” หรือคำเชื่อมก่อนจะแปลตัวศัพท์ บาลีไวยากรณ์ไทยกำหนดว่า วิภัตตินามที่สองให้ใช้คำเชื่อมว่า “ซึ่ง, สู่, ยัง, สิ้น, ตลอด, กะ” คำใดคำหนึ่งที่เหมาะแก่ความในที่นั้น
(๓) “ปริหรนฺตุ”
อ่านว่า ปะ-ริ-หะ-รัน-ตุ เป็นคำกริยาที่เรียกว่า “กริยาอาขยาต” (– อา-ขะ-หฺยาด)
พึงทราบว่า ในหมู่นักเรียนบาลีไทย คำว่า “กริยา” จะใช้ว่า “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา” เพราะฉะนั้น “กริยาอาขยาต” ถ้าเขียนให้ถูกหลักนิยมนักเรียนบาลีไทยต้องเขียนว่า “กิริยาอาขยาต”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายคำว่า “อาขยาต” ไว้ดังนี้ –
“อาขยาต : (คำวิเศษณ์) กล่าวแล้ว. (คำนาม) ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน เช่น กโรติ = ย่อมกระทำ ประกอบด้วย กรฺธาตุ ติวิภัตติ ปัจจุบันกาล ปรัสสบท เอกพจน์ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก โอปัจจัย. (ป., ส.).”
“ปริหรนฺตุ” รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + อ (อะ) ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + อนฺตุ (วิภัตติอาขยาต หมวดปัญจมี บอกความบังคับ) พหูพจน์ ปฐมบุรุษ (ประธานในประโยคเป็นผู้ที่เราพูดถึง) กัตตุวาจก
: ปริ + หรฺ = ปริหรฺ + อ = ปริหร + อนฺตุ = ปริหรนฺตุ แปลตามศัพท์ว่า “(สัตว์ทั้งหลาย) จงดูแล” “- จงปกครอง” “- จงบริหาร”
แถมความหมายอื่นๆ :
ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) = ปริหร คำกริยาสามัญคือ “ปริหรติ” (ปะ-ริ-หะ-ระ-ติ) มีความหมายเพิ่มขึ้นเป็นหลายอย่างดังนี้ –
(1) ระมัดระวัง, เอาใจใส่, บริหาร, ปกป้อง, รักษาไว้, สงวน, คุ้มครอง, ดูแล (to take care of, to attend to, shelter, protect, keep up, preserve, look after)
(2) นำไป (to carry about)
(3) เคลื่อนไปรอบๆ, นำไปรอบๆ, ไปรอบ, หมุนรอบ (to move round, go round, circle, revolve)
(4) ปกปิด, ซ่อน (to conceal)
(5) เริ่ม, หยิบยก, เสนอ, เสนอให้ (to set out, take up, put forward, propose)
คำว่า “บริหาร” ที่เราใช้ในภาษาไทยก็มีรากศัพท์มาจาก ปริ + หรฺ
ขยายความ :
“สุขี” “อตฺตานํ” “ปริหรนฺตุ” รวมกันเป็นประโยค ประกอบด้วยคำบาลี 3 คำ เขียนรวมเป็นประโยคบาลีเป็น “สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ” อ่านว่า สุ-ขี อัด-ตา-นัง ปะ-ริ-หะ-รัน-ตุ เขียนแบบคำอ่านเป็น “สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ” แปลตามศัพท์ว่า “(ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง) จงมีความสุข ดูแลซึ่งตน”
“สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ” แปลเอาความว่า จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเถิด
“สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ” เป็นคำที่ใช้ในคำแผ่พรหมวิหารภาวนาในส่วนที่เรานิยมเรียกกันว่า “แผ่เมตตา”
คำ “แผ่เมตตา” มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ –
…………..
สพฺเพ สตฺตา
อเวรา โหนตุ
อพฺยาปชฺฌา โหนฺตุ
อนีฆา โหนฺตุ
สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ
…………..
เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –
…………..
สัพเพ สัตตา
อะเวรา โหนตุ
อัพ๎ยาปัชฌา โหนตุ
อะนีฆา โหนตุ
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ.
…………..
คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ –
……………
สัพเพ สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ = จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อัพ๎ยาปัชฌา โหนตุ = อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ = อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ. = จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเถิด
…………..
ดูเพิ่มเติม: “สัพเพ สัตตา” บาลีวันละคำ (2,859) 10-4-63
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รักษาจิตได้
: รักษาตนได้
#บาลีวันละคำ (3,368) (ชุดพรหมวิหารภาวนา)
1-9-64