บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ไม่ได้เป็นพระที่ห่มจีวร?

ไม่ได้เป็นพระที่ห่มจีวร?

———————–

หลายคนคงเคยพูดประโยคนี้-ไม่ได้เป็นพระที่ห่มจีวร

ความคิดที่ว่า-ไม่ได้เป็นพระที่ห่มจีวร-นี้ฟังผ่านๆ ก็ดูดี หลายคนคงเห็นด้วย โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณี “คนห่มจีวร” ประพฤติเลอะเลอะในลักษณะต่างๆ ปรากฏให้รู้เห็นกันในสังคม (โดยผ่านสื่อ)

ก่อนที่ใครจะเห็นด้วยกับความคิด-ไม่ได้เป็นพระที่ห่มจีวร ผมอยากจะชวนให้ถอยมาตั้งหลักคิดกันในรอบคอบ

เริ่มตั้งแต่-คนเราไม่ได้เป็นพระมาตั้งแต่เกิด ตั้งหลักตรงนี้ก่อนจะช่วยให้เห็นภาพชัด

เกิดมาแล้ว โตแล้ว มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นพระได้ สมัครเข้าอุปสมบทตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ผ่านกรรมวิธีและขั้นตอนต่างๆ ครบถ้วนแล้ว จึงจะสำเร็จเป็น “พระ” 

กรรมวิธีและขั้นตอนต่างๆ-นี่แหละครับที่ต้องยอมรับกันก่อน ถ้าไม่ยอมรับก็คุยอะไรกันต่อไปไม่ได้ ก็คือ-ก็อยู่เป็นชาวบ้านต่อไปเหมือนกับที่เมื่อตอนเกิดมา

หลักเกณฑ์และวิธีการก็ดี กรรมวิธีและขั้นตอนต่างๆ ก็ดี ล้วนเป็นเรื่องสมมุติ อันที่จริงบทบัญญัติทางพระวินัยเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น แต่เป็นสมมุติที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ใครอยากจะเข้ามาใช้ชีวิตแบบ “พระ” ก็ต้องปฏิบัติตามสมมุตินั้น ปฏิบัติเอาเองก็ไม่ได้

โกนผมห่มจีวรเอาเอง เดินเคร่ง พูดจาสำรวม น่าเลื่อมใสขนาดไหน ก็ไม่ใช่พระ

ห่มจีวรโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ผ่านกรรมวิธีและขั้นตอนต่างๆ ครบถ้วน แต่กิริยาวาจากระโดกกระเดก ไม่น่าเลื่อมใส ก็ยังเป็นพระอยู่-ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ไปประพฤติการที่กำหนดว่าประพฤติเข้าแล้วขาดจากความเป็นพระ

ตรงนี้ต้องจับประเด็นให้แม่น มิเช่นนั้นจะหลงทาง แล้วก็จะไปเข้าทางความคิด-ไม่ได้เป็นพระที่ห่มจีวร

ถ้าจับหลักได้แม่นอย่างนี้ ก็ควรจะพูดใหม่ว่า-คนเราเป็นพระกันที่ห่มจีวร แต่ต้องห่มตามหลักเกณฑ์และวิธีการ และผ่านกรรมวิธีและขั้นตอนต่างๆ ครบถ้วน

คำว่า “ไม่ได้เป็นพระที่ห่มจีวร” อาจพูดได้-ใช้ได้ในบางกรณี แต่ต้องเป็นกรณีพิเศษ เช่น จีวรหาย สำนวนในคัมภีร์ว่า “ถูกโจรชิงจีวรไป” อย่างนี้พูดได้เต็มปากว่า “ไม่ได้เป็นพระที่ห่มจีวร” แต่ต้องหมายความว่า ขณะนั้นไม่ได้ห่มจีวรเพราะไม่มีจีวรจะห่ม แต่ความเป็นพระยังคงมีอยู่เต็มตามสิทธิ์ 

แต่ถ้าผู้ที่เป็นพระถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการอยู่แล้ว จีวรที่จะห่มได้ก็มี แต่ไม่ห่มจีวรที่มีรูปแบบและลักษณะถูกต้องตามข้อกำหนดในพระวินัย หากแต่แต่งตัวตามใจชอบ แล้วอ้างว่า “คนเราไม่ได้เป็นพระที่ห่มจีวร” – อย่างนี้คือเพี้ยนแล้วครับ

……………….

ความคิด “ไม่ได้เป็นพระที่ห่มจีวร” น่าจะเกิดจากชาวบ้านเห็นคนห่มจีวรประพฤติตัวไม่เหมาะไม่ควร แล้วเกิดความคับแค้นใจ และเห็นว่าทำแบบนี้ไม่น่าที่จะมีสิทธิ์ห่มจีวรอยู่ต่อไป ก็เลยเกิดความคิดในมุมกลับ-ถ้าประพฤติตัวดี ไม่ต้องห่มจีวรก็เป็นพระได้ ก็ดูสิ ประพฤติไม่ดียังห่มจีวรอยู่ได้เลย 

ต่อจากนี้-หลายคนคงอยากพูดเสริมต่อว่า แบบนี้ผม/ฉันประพฤติได้ดีกว่าคนห่มจีวรเสียอีก พูดตรงๆ ชาวบ้านที่ประพฤติดีเป็น “พระ” มากกว่าคนห่มจีวรที่ประพฤติไม่ดีเสียด้วยซ้ำ คนเราไม่ได้เป็นพระกันที่ห่มจีวรหรอกน่า

ตรงนี้ก็ต้องระวังอีก เดี๋ยวจะหลงประเด็น ประพฤติดีกว่าพระขนาดไหนก็ตาม ถ้ายังไม่ได้ผ่านหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนด ก็ยังไม่เป็น “พระ” อยู่นั่นเอง

เราอาจพูดได้ว่า สิ่งที่พระต้องทำหรือห้ามทำนั้น ชาวบ้านอาจปฏิบัติได้เหมือนพระทุกอย่าง หรืออาจปฏิบัติได้ดีกว่าพระด้วยซ้ำ เช่น –

พระไม่เสพเมถุน ชาวบ้านที่ไม่เสพเมถุนก็มีเยอะไป

พระไม่ฉันอาหารหลังเที่ยงวัน ชาวบ้านที่ไม่กินอาหารหลังเที่ยงวันก็มีเยอะไป

พระไม่ฉันสุรา ชาวบ้านที่ไม่กินเหล้าก็มีเยอะไป

พระสวดมนต์เช้า-เย็นทุกวัน ชาวบ้านที่สวดมนต์เช้า-เย็นก็มีเยอะไป

ฯลฯ

แต่จะพูดว่า ชาวบ้านที่ไม่ทำอะไรๆ เหมือนกับที่พระไม่ทำ หรือทำอะไรๆ เหมือนกับที่พระทำนั้น เป็น “พระ” เหมือนกับที่พระเป็น – อย่างนี้ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะการเป็นพระต้องเป็นไปตามสมมุติที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ถ้ายังไม่ได้ทำให้ถูกต้องตามสมมุติที่บัญญัติ ก็ยังไม่เป็นพระอยู่นั่นเอง

การเป็นพระ มีเงื่อนไขอย่างหนึ่ง

การปฏิบัติให้สมกับเป็นพระ ก็มีเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่ง

เอามาปนกันทุกเรื่องก็ไม่ได้ แยกขาดจากกันไปเลยก็ไม่ได้

เรื่องบางเรื่องเป็นสิ่งที่ควรทำ ถ้าไม่ทำก็บกพร่อง

เรื่องบางเรื่องเป็นสิ่งที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็เสียหาย

การปฏิบัติให้สมกับความเป็นพระ เป็นทั้งเรื่องที่ควรทำ เป็นทั้งเรื่องที่ต้องทำ

……………….

ผมสังเกตเห็นว่า เวลานี้ในแวดวงพระศาสนามีแนวคิดที่กำลังก่อตัวขึ้นเงียบๆ อยู่ ๒ เรื่อง คือ –

๑ ไม่ได้เป็นนักบวชที่เครื่องแต่งตัว 

๒ ผิดหรือถูกต้องตัดสินตามปรมัตถ์

๑ “ไม่ได้เป็นนักบวชที่เครื่องแต่งตัว” อันนี้สอดรับกับความคิดที่ว่า “ไม่ได้เป็นพระที่ห่มจีวร” แต่ความหมายกว้างไกลไปถึงว่า ถ้าตั้งใจจะทำความดีก็อย่าเอาเครื่องแต่งตัวมาเป็นข้อกำหนด คุณจะนุ่งจะห่มอย่างไรก็ได้-ถ้าคุณทำความดี

ถ้าแนวคิดนี้งอกงามขึ้นในพระพุทธศาสนาเถรวาท ในอนาคตพระไทยจะแต่งตัวกันแปลกๆ มากขึ้น เวลานี้พระใส่เสื้อ ใส่หมวก ปรากฎตัวต่อสาธารณะโดยเปิดเผยมีมากขึ้น และเริ่มจะไม่มีใครเห็นว่าผิดปกติ นี่ก็มาจากฐานความคิดที่ว่า คนเราจะดีจะชั่วไม่ได้อยู่ที่เครื่องแต่งตัว 

ต่อไปพระวินัยเกี่ยวกับเรื่องจีวรจะไม่มีความหมาย คอยดูไปเถิด

๒ “ผิดหรือถูกต้องตัดสินตามปรมัตถ์” นี่คือแนวคิดที่มองทุกอย่างเป็นปรมัตถ์หมด อะไรจะดีจะชั่วจะถูกจะผิดต้องตัดสินด้วยปรมัตถ์ 

ตัวอย่างที่น่าจะถูกลองดีหรือลองของก่อนเป็นอันดับต้นๆ ก็เช่น พระฉันอาหารในเวลาวิกาลเป็นอาบัติ จะมีคนยกเอาแนวคิดทฤษฎีนี้ขึ้นมาค้านว่าไม่เป็นความจริง แนวคิดนี้จะอ้างว่า การกินอาหารหลังเที่ยงวันไม่ใช่ความชั่ว ถ้าการกินอาหารหลังเที่ยงวันเป็นความชั่ว ชาวบ้านก็คงตกนรกกันหมด เพราะฉะนั้น พระฉันอาหารหลังเที่ยงวันจึงไม่เป็นความผิด

ตอนนี้ อธิบายแบบนี้คงยังมีคนเห็นว่าเป็นการเถียงข้างๆ คูๆ เพราะผู้ที่ยอมรับพระวินัยยังมีมาก แต่ในอนาคตทฤษฎีนี้จะถูกยกขึ้นมาอ้างกันทั่วไป และจะมีคนยอมรับกันมากขึ้น ในอนาคตพระฉันอาหารหลังเที่ยงวันจะกลายเป็นเรื่องปกติ นี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง คอยดูกันไปเถิด 

เรื่องแบบนี้ ถ้าศึกษาเรื่อง “อันตรธาน” ประกอบแนวคิดในจักกวัตติสูตรจะช่วยให้เตรียมตัวและเตรียมใจได้ดี

พระแต่งตัวแปลกๆ สมัยนี้ ถ้าคนสมัยสุโขทัยลุกขึ้นมาพูด เขาก็จะต้องบอกว่า โอย แบบนี้ก็ไม่ใช่พระแล้ว

แต่พระสมัยนี้ที่แต่งตัวแปลกๆ นั่นเอง ถ้ามีใครไปถามท่านว่าพระมีเมียท่านเห็นเป็นอย่างไร ท่านก็จะต้องบอกว่า โอย แบบนั้นก็ไม่ใช่พระแล้ว

ตามเรื่องในอันตรธาน อีกสามพันปีข้างหน้า ชาวพุทธสมัยโน้นมองพระมีเมีย เขาก็ยังนับถือว่าเป็นพระอยู่ ใครไปถาม เขาก็จะบอกว่า โอย มันเป็นเรื่องธรรมดา นี่คุณมาจากโลกไหนเนี่ย

ลองเทียบกลับไปกลับมาดูเถิด – ฉันใดก็ฉันนั้น

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑ กันยายน ๒๕๖๔

๑๔:๑๒

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *