บาลีวันละคำ

อาทิกัมมิกะ (บาลีวันละคำ 3,392)

อาทิกัมมิกะ

ผู้ทำตัวอย่าง

อ่านว่า อา-ทิ-กำ-มิ-กะ

ประกอบด้วยคำว่า อาทิ + กัมมิกะ

(๑) “อาทิ” 

อ่านว่า อา-ทิ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + อิ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” (คือลบ อา ที่ ทา : ทา > )

: อา + ทา = อาทา > อาท + อิ = อาทิ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนอันเขาถือเอาทีแรก

หมายเหตุ : “อา” (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” เมื่อนำหน้า “ทา” ธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า “ให้” เป็น “อาทา” จึงกลับความจาก “ให้” (give) เป็น “เอา” (take) 

อาทิ” เป็นคำนาม (ปุงลิงค์) หมายถึง จุดเริ่มต้น, เบื้องแรก (starting-point, beginning)

อาทิ” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เบื้องต้น, ในชั้นแรก, อันที่หนึ่ง, ตัวการ, หัวหน้า (beginning, initially, first, principal, chief)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายความหมายของ “อาทิ” เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ไว้ว่า –

beginning with, being the first (of a series which either is supposed to be familiar in its constituents to the reader or hearer or is immediately intelligible from the context), i. e. and so on, so forth. (เริ่มด้วย, เป็นที่หนึ่ง (พูดถึงลำดับอะไรก็ได้ที่เป็นของคุ้นแก่ผู้อ่านหรือผู้ฟัง หรือพอเป็นที่เข้าใจได้จากบริบท), นั่นคือ- และอื่น ๆ, และต่อๆ ไป)

อาทิ” สันสกฤตก็เป็น “อาทิ” เช่นกัน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อาทิ : (คำคุณศัพท์) ต้น, ประถม, แรก; ก่อน; เปนเอก; อื่น; first, primary; prior; pre-eminent; other; – (วลี) และอื่นๆ; et cetera, and the rest, and so forth.”

อาทิ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

อาทิ : (คำนาม) ต้น ในคําว่า เป็นอาทิ, เป็นเบื้องต้น, ทีแรก, ข้อต้น. (ป., ส.).”

(๒) “กัมมิกะ

บาลีเป็น “กมฺมิก” อ่านว่า กำ-มิ-กะ ประกอบด้วย กมฺม + อิก ปัจจัย

(ก) “กมฺม” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”

ในที่นี้ “กรรม” หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ซึ่งจะมีผลตามมา

(ข) กมฺม + อิก = กมฺมิก (กำ-มิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำกรรม” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กมฺมิก” ไว้ดังนี้ – 

(1) one who does or looks after; one whose occupation is of such & such a character (ผู้กระทำหรือดูแล; ผู้ซึ่งอาชีพของเขาเป็นลักษณะนั้น ๆ)

(2) a merchant, trader (พ่อค้า, คนค้าขาย)

(3) a superintendent, overseer, manager; executioner of an order (ผู้ดูแล, ผู้ตรวจตรา, ผู้จัดการ; ผู้กระทำให้เสร็จตามคำสั่ง)

(4) one connected with the execution of an ecclesiastical (ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการตามบทบัญญัติของคณะสงฆ์)

อาทิ + กมฺมิก = อาทิกมฺมิก (อา-ทิ-กำ-มิ-กะ) แปลว่า “ผู้ทำกรรมเป็นเบื้องต้น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาทิกมฺมิก” ว่า a beginner (ผู้เริ่มต้น) 

อาทิกมฺมิก” หมายถึง ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติ คือทำผิดเป็นคนแรกในกรณีนั้นๆ และถือว่าไม่ต้องอาบัติ คือไม่มีความผิด 

อาทิกมฺมิก” เขียนแบบไทยเป็น “อาทิกัมมิกะ” 

ขยายความ :

คำว่า “อาทิกัมมิกะ” ในทางพระวินัยปรากฏเสมอในคำอธิบายสิกขาบทแต่ละข้อ กล่าวคือ คำอธิบายสิกขาบทจะประกอบไปด้วยคำจำกัดความ (เหมือนในพระราชบัญญัติที่บอกว่า-ในพระราชบัญญัตินี้ “รัฐมนตรี” หมายความว่า ….”) คำอธิบายเงื่อนไขแห่งการกระทำความผิด ตัวอย่าง (ถ้ามี) และลงท้ายด้วย “อนาปัตติวาร” คือกรณียกเว้นไม่ถือว่าเป็นอาบัติ จะมีรายการระบุไว้ว่า ใคร หรือกรณีเช่นไรแม้ทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ก็ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ

ตัวอย่างคำว่า “อาทิกัมมิกะ” ในทุติยปาราชิก (ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์) –

…………..

“ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นของตน 1 ถือเอาด้วยวิสาสะ 1 ขอยืม 1 ทรัพย์อันเปรตหวงแหน 1 ทรัพย์อันสัตว์ดิรัจฉานหวงแหน 1 ภิกษุมีความสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล 1 ภิกษุวิกลจริต 1 ภิกษุอาทิกัมมิกะ 1 เหล่านี้ไม่ต้องอาบัติ”

(มหาวิภังค์ ภาค 1 วินัยปิฎก, พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 125)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “อาทิกัมมิกะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

อาทิกัมมิกะ

1. “ผู้ทำกรรมทีแรก” หมายถึง ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติในสิกขาบทนั้นๆ 

2. ชื่อคัมภีร์ในพระวินัยปิฎก เป็นคัมภีร์แรก เมื่อแยกพระวินัยปิฎกเป็น ๕ คัมภีร์ ใช้คำย่อว่า อา; อาทิกัมม์ ก็เรียก; 

…………..

ดูก่อนภราดา!

ชั่วหรือดีมีตัวอย่างวางไว้หมด

ตรงหรือคดขาวหรือดำทำให้เห็น

รู้จักเลือกรู้จักดูรู้จักเป็น

อย่าหลงเต้นตามอย่างทุกอย่างไป

#บาลีวันละคำ (3,392)

25-9-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *