บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ขอบิณฑบาต

ขอบิณฑบาต

————-

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเล็กๆ เรื่องสำนักธรรมกายขอจัดกิจกรรมตักบาตรสามเณร ๑๐,๐๐๐ รูป ที่จังหวัดราชบุรี ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๙ แต่ลงท้ายก็ไม่ได้จัด

ในฐานะคนในพื้นที่ ผมขอสรุปเรื่องเพื่อทราบทั่วกันดังนี้

๑ เบื้องต้น สำนักผาสุกวนิชซึ่งเป็นสำนักของวัดพระธรรมกายในจังหวัดราชบุรีขอจัดกิจกรรมตักบาตรสามเณร ๑๐,๐๐๐ รูป (ตอนแรกนัยว่าแจ้งจำนวน ๑,๐๐๐ รูป แล้วกลายเป็น ๑๐,๐๐๐ รูปไปอย่างไรก็ไม่ทราบ) สถานที่จัดก็คือถนนคฑาธร คือถนนที่ผ่านห้างโลตัส ผ่านหน้าโรงเรียนดรุณาราชบุรี ไปจนถึงวงเวียนนาฬิกาหลังโรงพยาบาลราชบุรี (เมื่อก่อนเป็นด้านหน้าโรงพยาบาล)

๒ เบื้องต้น ผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีเป็นต้นก็เห็นชอบไปแล้ว แต่ต่อมาเกิดเสียงคัดค้านขึ้น ผู้มีอำนาจหน้าที่ได้เรียกประชุมปรึกษาผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีด้วย ที่ประชุมเห็นควรงดกิจกรรมตักบาตรที่ถนนคฑาธรเนื่องจากอาจเกิดความไม่สงบ (ดูเอกสารจากภาพประกอบ)

๓ เมื่อจัดที่ถนนคฑาธรไม่ได้ ฝ่ายผู้จัดกิจกรรมได้ไปติดต่อขอใช้สนามกีฬากลางจังหวัดราชบุรี นัยว่าเจ้าของสถานที่ไม่ขัดข้อง แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดขัดข้อง

๔ เมื่อจัดที่สนามกีฬาก็ไม่ได้ ผู้ขอจัดกิจกรรมจึงได้ติดต่อเจ้าของตลาดกอบกุล คือนายมานิต นพอมรบดี เพื่อขอไปจัดกิจกรรมตักบาตรที่นั่น โดยบอกนายมานิตว่า ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีเห็นชอบด้วยแล้ว

๕ ตลาดกอบกุลอยู่นอกตัวเมืองไปเล็กน้อย สถานที่กว้างขวาง เป็นตลาดเปิดใหม่ แต่ผู้คนก็เริ่มจะรู้จักกันมากขึ้นแล้ว เจ้าของตลาดคือนายมานิต นพอมรบดี เป็นนักการเมือง เป็นสามีของนางกอบกุล นพอมรบดี นักการเมืองชื่อดังที่ถูกยิงเสียชีวิตที่สี่แยกเขางูเมื่อหลายปีมาแล้ว (ทุกวันนี้คนเลยเรียกสี่แยกนั้นว่า สี่แยกกอบกุล)

๖ นางกอบกุล นพอมรบดี เป็นคนบ้านเดียวกับพระธรรมปัญญาภรณ์ ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เคารพนับถือกันมานานก่อนที่นางกอบกุลจะเล่นการเมือง เพราะฉะนั้น นายมานิตกับท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีจึงมีอะไรก็ถึงกัน

ข้างนายมานิต พอได้ฟังว่าท่านเจ้าคณะจังหวัดเห็นชอบ ก็ไม่ขัดข้อง

๗ ฝ่ายทางผู้ว่าฯ พอรู้ว่าผู้ขอจัดกิจกรรมไปติดต่อตลาดกอบกุลและอ้างว่าท่านเจ้าคณะจังหวัดเห็นชอบ ก็มอบหมายให้ผู้กำกับฯ ตำรวจภูธรราชบุรีไปนมัสการถามความเป็นจริงจากท่านเจ้าคณะจังหวัด เพราะในที่ประชุมตกลงเข้าใจกันดีแล้วว่าไม่อนุญาตให้จัด แล้วทำไมจึงเกิดเห็นชอบขึ้นมาอีก

๘ ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่ที่ประชุมตกลงไม่อนุญาตแล้ว ท่านก็ไม่ได้เห็นชอบอะไรกับใครอีกเลย 

ผู้กำกับฯ ตำรวจภูธรราชบุรีจึงต่อโทรศัพท์ถึงนายมานิต ให้พูดกับท่านเจ้าคณะจังหวัดต่อหน้าคณะของผู้กำกับฯ ตรงนั้นเลย 

ท่านเจ้าคณะจังหวัดก็บอกกับนายมานิตว่า ท่านไม่ได้เห็นชอบตามที่ผู้ขอจัดกิจกรรมอ้างแต่ประการใดทั้งสิ้น

๙ นายมานิต พอได้ฟังคำอธิบายเช่นนั้นก็ตอบปฏิเสธผู้ขอจัดกิจกรรมไป ณ เพลานั้น 

เรื่องก็เป็นอันจบลง ด้วยประการฉะนี้

—————

ต่อไปนี้เป็นความเห็นของผม และหากความเห็นนี้จะกระทบกระเทือนถึงศรัทธาของชาวธรรมกาย ก็ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า ณ ที่นี้ด้วย

เบื้องต้นขอให้สังเกตความไม่สุจริตของสำนักธรรมกาย ตรงที่ไปอ้างกับเจ้าของตลาดกอบกุลว่า “ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีเห็นชอบด้วยแล้ว”

เห็นได้ชัดว่า ผู้ขอจัดกิจกรรมของสำนักธรรมกายใช้เล่ห์กะเท่ยกเอาคำเห็นชอบในตอนแรกของท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีขึ้นมาอ้างแบบตีขลุม ทั้งๆ การเห็นชอบในตอนแรกนั้นถูกยกเลิกไปแล้วตามมติของที่ประชุม (อันเป็นเหตุให้ต้องวิ่งหาที่จัดใหม่นั่นเอง)

นี่คือความไม่สุจริต

แต่ถ้าไปอ้างกับเจ้าของตลาดกอบกุลว่า ที่มาขอจัดที่ตลาดกอบกุลนี่ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีก็เห็นชอบด้วยแล้ว-ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คือ มุสาวาทโดยตรง

นี่ก็คือความไม่สุจริตอย่างยิ่ง

ควรจะตั้งข้อสงสัยกันด้วยว่า สำนักธรรมกายเป็นองค์กรทางศาสนาซึ่งควรจะต้องมีความสุจริตอย่างยิ่งเป็นพื้นฐาน ทำไมจึงมากระทำการอันไม่สุจริตเช่นนี้เสียเอง

การจะเข้าใจเรื่องนี้ ก็ต้องเข้าใจสำนักธรรมกายให้ถูกต้องเสียก่อน

สำนักธรรมกายเป็นองค์กรทางศาสนาที่ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ทางพาณิชย์ ที่เรียกกันทั่วไปว่า “พุทธพาณิชย์” คือแสวงหาทรัพย์และความมั่งคั่งเป็นเป้าหมายสูงสุด

นโยบายของสำนักธรรมกายก็คือ เอาทรัพยากรในพระพุทธศาสนาออกมาแปรรูปเป็นเสมือนสินค้าจำหน่ายให้แก่ผู้ต้องการบุญ

ฝ่ายการตลาดของสำนักธรรมกายวิจัยแล้วพบว่า ธรรมชาติของมนุษย์คือตื่นเต้นกับความยิ่งใหญ่อลังการ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่ากิจกรรมของสำนักธรรมกายจะมีขนาดที่มหึมา และมีรูปแบบอภิมหาอลังการเสมอ ใครได้เห็นจะต้องตื่นตะลึง นั่นหมายถึงว่าสามารถก่อให้เกิดศรัทธาได้อย่างท่วมท้น

ขอให้สังเกตด้วยว่า การจัดองค์ประกอบทางกายภาพให้น่าศรัทธาเลื่อมใสนับเป็นคุณสมบัติส่วนที่สำคัญที่สุดของสำนักธรรมกาย

ใครเข้าไปในวัดพระธรรมกายจะต้องตื่นตากับความเรียบร้อยราบรื่น ไม่มีมุมสกปรกรกรุงรัง ไม่มีหมาขี้เรือนหรือแมวป่วยให้พบเห็นเป็นที่น่ารำคาญตาเหมือนวัดทั่วไปในเมืองไทย หลายคนพูดตรงกันว่าห้องน้ำของวัดพระธรรมกายสะอาดกว่าห้องนอนที่บ้านของเขาเสียอีก

ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีเองก็บอกว่า ส่วนดีของธรรมกายเขาก็มี

ผมว่าตรงจุดนี้แหละคือส่วนที่ดีมากๆ ของสำนักธรรมกาย-การจัดองค์ประกอบทางกายภาพได้อย่างเนียนเนี้ยบ 

การจัดองค์ประกอบทางกายภาพไม่ได้มีแค่อาคารสถานที่ แต่หมายรวมไปถึงบุคลิกของบุคลากร การนุ่งห่ม ระเบียบในการปรากฏตัวต่อสายตาประชาชน การสร้างหรือ “ปั้น” บุคลากรด้านต่างๆ ระบบการบริหารจัดการ ฯลฯ สำนักธรรมกายทำได้อย่างดีเยี่ยม

ดูตัวอย่างกันง่ายๆ เรื่องเดียว

วัดพระธรรมกายเริ่มเปิดสอนบาลีมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ จนถึงปีนี้ ๒๕๕๙ มีพระเณรสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค (ป.ธ.๙) และและอุบาสิกา/ฆราวาสสอบได้บาลีศึกษา ๙ ประโยค (บ.ศ.๙) รวมทั้งหมดประมาณ ๘๐ รูป/ท่าน

สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี ของผม เปิดเรียนบาลีมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๒ จนถึงบัดนี้ ๖๘ ปี มีผู้สอบประโยค ๙ ได้เพียง ๖ รูป/ท่าน

วัดมหาธาตุ ราชบุรี ๖๘ ปี ได้ ๖

วัดพระธรรมกาย ๓๒ ปี ได้ ๘๐

เทียบชั้นกันไม่ติด 

ทิ้งกันไม่เห็นฝุ่น

ถ้าวัดในเมืองไทยทำได้สักครึ่งของสำนักธรรมกายก็จะเป็นมหากุศลยิ่งนัก

ขอย้ำว่า การสร้างศรัทธาเลื่อมใสเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นการกระทำที่ถูกต้อง

พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกปฏิบัติโดยทรงระบุวัตถุประสงค์ไว้แน่ชัดถึง ๑๐ ข้อ ในจำนวนนี้มี ๒ ข้อบอกไว้ว่า

– เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส

– เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

เพราะฉะนั้น ภารกิจที่สำคัญของวัดหรือองค์กรทางศาสนาก็คือ การทำให้ชุมชนเลื่อมใส

แต่ที่ว่ามานั้นคือการขึ้นต้น หรือต้นทางในการสร้างศรัทธา การทำให้ชุมชนเลื่อมใสไม่ใช่ปลายทางของพระพุทธศาสนา ยังจะต้องตามไปดูให้ถึงปลายทางว่า ทำให้เขาเลื่อมใสศรัทธาแล้ว-อะไรต่อไป

ศรัทธาในพระพุทธศาสนามีเป้าหมายอยู่ที่การลงมือปฏิบัติธรรม

หมายความว่า เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นแล้วต้องนำไปสู่ฉันทะวิริยะที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างมุ่งมั่นต่อไปเพื่อบรรลุผลที่ต้องการ

ผลที่ต้องการในพระพุทธศาสนาก็คือฝึกหัดขัดเกลาพัฒนาตนจนอยู่เหนืออำนาจกิเลส จิตเป็นอิสระโปร่งโล่ง กล่าวตรงก็คือบรรลุมรรคผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ

คนจะทำอย่างนี้ได้ต้องเริ่มด้วยมีศรัทธา-ศรัทธาในตัวบุคคลและศรัทธาในหลักคำสอน

ที่ต้องจำไว้ไม่ให้พลาดก็คือ พระพุทธศาสนาต้องการให้ผู้ที่มีศรัทธาแล้วลงมือปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้ปฏิบัติเอง มิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ทำให้เกิดศรัทธา

พูดชัดๆ พระพุทธเจ้าท่านทำให้คนเกิดศรัทธา แล้วมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมเพื่อประโยชน์ของเขาเอง ไม่ใช่ให้เขาเกิดศรัทธาแล้วเอาผลประโยชน์อะไรมาให้พระองค์

พูดเป็นภาพรวมก็คือ-คำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง มิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้สอน

เคยมีคนอธิบายว่า พระสอนคนให้ทำบุญตักบาตรก็เพื่อที่พระจะได้มีกินไม่อดตาย

น่าเสียใจที่ผู้อธิบายแบบนี้ก็คือชาวพุทธของเรานี่เอง

เมื่อรู้จักปลายทางที่ถูกต้องของศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้ว คราวนี้ก็ลองตามไปดูเถิดว่า สำนักธรรมกายใช้ศรัทธานั้นไปเพื่ออะไร

—————-

สำนักธรรมกายเคยจัดกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูปที่ถนนคฑาธรมาแล้วเมื่อไม่กี่ปีมานี้ คราวนั้นโฆษณาให้เหตุผลว่าเพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไทยใส่บาตรกันให้มากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันคนไทยใส่บาตรน้อยลง

ผมเป็นสามเณรมาอยู่วัดมหาธาตุ ราชบุรีเมื่อปี ๒๕๐๖ ไปบิณฑบาตที่ตลาดราชบุรีได้แต่ข้าวเปล่าเป็นพื้น กับข้าวแทบไม่มี ดังที่เคยเล่าให้ฟังแล้วว่าบางวันได้ไข่เค็มมาใบหนึ่ง ผ่าซีก ฉันเช้าซีกหนึ่ง เก็บไว้ฉันเพลซีกหนึ่ง อาศัยที่ทางวัดมี “แกงเวร” คือกับข้าวที่ทางวัดมอบหมายให้แม่ชีในสำนักประชุมนารีทำขึ้นวันละ ๑ หม้อใหญ่ มีแกงเป็นพื้นจึงเรียกว่า “แกงเวร”  แล้วตักแจกพระเณรรูปละ ๒ ปิ่นโต จึงพอยังอัตภาพให้เป็นไป

เดี๋ยวนี้ของที่คนใส่บาตร พระไปบิณฑบาตหอบหิ้วกันไม่ไหว ต้องใส่รถเข็นกลับวัดทุกวัน 

แต่สำนักธรรมกายบอกว่าปัจจุบันคนไทยใส่บาตรน้อยลง

—————–

ตักบาตรพระ ๑,๐๐๐ รูปครั้งนั้นอลังการมาก เหลืองอร่ามไปทั้งถนนคฑาธร ผมไปสังเกตการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ สิ่งที่สะดุดตาคือ “ไม้สวรรค์” เดินสะพัดไปทั้งสองฟากถนน แบงก์ร้อย แบงก์ห้าร้อย แม้กระทั่งแบงก์พันโบกไสวไกวแกว่งด้วยแรงศรัทธาอันเต็มเปี่ยม รวมกันแล้วไม่มีรายงานว่าเป็นเงินมหาศาลขนาดไหน สำนักธรรมกายจัดกิจกรรมตักบาตรขนาดมหึมาแบบนี้ในหลายๆ จังหวัด ลองคูณกันเอาเอง

ไม่มีรายงานเช่นเดียวกันว่า หลังจากจัดกิจกรรมตักบาตรครั้งนั้นแล้วคนไทยใส่บาตรกันมากขึ้นแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ความมั่งคั่งของสำนักธรรมกายเพิ่มขึ้นอีกมาก

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การตักบาตรสามเณร ๑๐,๐๐๐ รูป ในวันที่ ๙ เมษายน ที่ผ่านมาถ้าจัดขึ้นได้ตามแผน ไม่ว่าจะเป็นที่ถนนคฑาธรอันเป็นที่ซึ่งเคยดูดทรัพย์อันเกิดจากศรัทธาไปได้เป็นจำนวนมากมาแล้ว หรือที่สนามกีฬากลาง หรือแม้แต่ที่ตลาดกอบกุล เราก็จะได้เห็นความอลังการมหึมายิ่งกว่าเมื่อคราวตักบาตรพระ ๑,๐๐๐ รูปครั้งนั้นเพิ่มขึ้นอีก ๑๐ เท่า และนั่นหมายความว่าจำนวนทรัพย์อันเกิดจากศรัทธาก็จะถูกดูดไปได้เพิ่มขึ้นอีก ๑๐ เท่าเช่นกัน

พอจะมองเห็นคำตอบไหมครับว่า ทำไมสำนักธรรมกายจึงพยายามนักหนาที่จะจัดกิจกรรมตักบาตรสามเณร ๑๐,๐๐๐ รูปให้จงได้ แม้จะต้องใช้วิธีที่ไม่สุจริตก็ตาม

—————–

คราวนี้มาพิจารณาถึงหลักการกันบ้าง 

การทำบุญในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนา หรือบุญอื่นใดอีกก็ตามท่านทำกันเป็นกิจวัตร คือทำในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ใช่จัดกิจกรรมเป็นครั้งคราวเพื่อถ่ายรูปเอาไว้เป็นที่ระลึก 

จะมีใครเห็นหรือไม่เห็น จะมีใครถ่ายรูปหรือไม่ถ่าย ท่านก็ทำกันเป็นประจำ

ทีนี้การบิณฑบาตนี้คืออะไร

การบิณฑบาตเป็น “นิสัย” คือวิธีครองชีพของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมี ๔ อย่าง คือ เที่ยวบิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุล อยู่โคนไม้ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตร นี่ก็คือที่เรารู้จักกันดีว่า ปัจจัย ๔ นั่นเอง (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค)

ตามหลักแล้ว อาหารที่ใช้ดำรงชีวิตของพระเณรต้องได้มาจากการออกบิณฑบาต ดังนั้นพระเณรจึงมีกิจที่จะต้องออกบิณฑบาตทุกวัน มีข้อยกเว้นได้บ้าง เช่นได้รับนิมนต์ไปฉันเป็นครั้งคราว หรือได้รับนิตยภัตเป็นต้น

หลักในเรื่องนี้ก็คือ การออกบิณฑบาตเป็น “กิจวัตร” คือกิจที่ต้องทำเป็นประจำ ไม่ใช่ “กิจกรรม” คือกิจที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว 

พูดให้ชัดกว่านี้ก็คือ พระเณรออกบิณฑบาตต้องเป็นของจริง ทำจริง ทำเป็นประจำวัน ไม่ใช่จัดฉากเป็นครั้งคราวอย่างที่สำนักธรรมกายขอจัด

ลองตั้งคำถามดูก็ได้ สามเณร ๑๐,๐๐๐ รูป ที่สำนักธรรมกายจะเอามาเข้าฉากบิณฑบาตนั้น ณ เวลานั้นอยู่ที่ไหน และ ณ เวลานี้กำลังอยู่ที่ไหน

ข้อเท็จจริงก็คือสำนักธรรมกายไม่มีสามเณรเป็นของตัวเองมากถึง ๑๐,๐๐๐ รูป

เมื่อถึงวันนั้น ก็ต้องใช้วิธีไปเที่ยวดูดเอาสามเณรที่บวชอยู่ตามวัดหรือตามสำนักต่างๆ มาเข้าฉาก ดังที่เคยดูดพระมาเข้าฉากเดินธุดงค์ หรือดูดพระตามวัดต่างๆ ไปเข้าฉากบิณฑบาตตามจังหวัดต่างๆ หรือฉากกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่จัดขึ้นที่วัดพระธรรมกายดังที่ได้เห็นข้อเท็จจริงกันมาแล้ว (ยังจำได้ไหมที่ผมเล่าให้ฟังว่า มาฆบูชาปีหนึ่งธรรมกายมาดูดเอาพระวัดหนึ่งในราชบุรีบ้านผมไปจนเกลี้ยงวัด วันนั้นญาติโยมรอบวัดมาทำบุญเจอแต่วัดที่ว่างเปล่า)

ปัญหาเรื่องหาพระเณรมาเข้าฉากกิจกรรมนี้ ผมคาดเดาว่าในอนาคตสำนักธรรมกายจะต้องใช้วิธีจัดสร้าง “พระเณรเฉพาะกิจ” ขึ้นมาเองเป็นแน่ ขอให้จับตาดูกันต่อไป

ในเมื่อการบิณฑบาตเป็นกิจที่ต้องทำจริงๆ ทุกวันอยู่แล้ว ถ้าไม่หวังผลอะไรอย่างอื่น จะต้องมีใครมาเอาสามเณรตั้งหมื่นหนึ่งไปบิณฑบาตรวมกันที่ไหนด้วยวัตถุประสงค์อะไรกัน

ใครอยากจะใส่บาตรก็มีพระมีเณรออกบิณฑบาตมาจนถึงหน้าบ้านทุกวันอยู่แล้ว ใครที่บ้านอยู่ไกลวัด ไม่มีพระเณรมาบิณฑบาต ก็มีวิธีที่จะใส่บาตรหรือทำบุญบริจาคอะไรๆ อย่างอื่นได้อีกตั้งหลายวิธี

ถามว่า ใส่บาตรวันที่ ๙ เมษายนเสร็จแล้ว วันอื่นๆ จะไปใส่ที่ไหน หรือว่าปีหนึ่งจะใส่บาตรวันเดียว หรือว่าคนอยู่ภูเก็ตก็จะต้องนั่งเครื่องบินมาใส่บาตรสามเณร ๑๐,๐๐๐ รูปที่ถนนคฑาธรเท่านั้นจึงจะได้บุญ ใส่เณรวัดข้างบ้านไม่ได้บุญ

ถนนคฑาธรก็ดี สนามกีฬากลางก็ดี ตลาดกอบกุลก็ดี โดยปกติแล้วไม่ใช่ “โคจรคาม” คือที่เที่ยวบิณฑบาตของพระเณร (เฉพาะถนนคฑาธรอาจมีพระเณรไปบิณฑบาตบ้าง เพราะเป็นที่มีบ้านคนตั้งอยู่ แต่ก็เป็นการบิณฑบาตตามปกติ)

พระเณรอยู่วัดไหน ก็มีที่เที่ยวบิณฑบาตประจำอยู่แล้ว ถ้าอยากจะทำบุญใส่บาตรก็สามารถไปใส่ในที่ต่างๆ ที่ท่านออกบิณฑบาตประจำวันได้ตามปกติ

มีความจำเป็นอะไร หรือเพื่อประโยชน์อะไรจึงจะต้องนิมนต์ให้ท่านไปชุมนุมกันที่ใดที่หนึ่งที่เดียวเป็นพันเป็นหมื่นเพื่อจะใส่บาตร

ท่านที่ไปร่วมตักบาตรในกิจกรรมเช่นว่านั้นท่านเตรียมอาหารไปครบสำหรับสามเณร ๑๐,๐๐๐ รูปหรือเปล่า หรือว่าที่แท้ก็เตรียมไปเท่าที่จะพอมีกำลังตามความสะดวก ไม่ได้ใส่บาตรครบทั้ง ๑๐,๐๐๐ รูปแต่อย่างใด แล้วจะต้องไปชุมนุมใส่ในที่เดียวกันเพื่อประโยชน์อะไร

—————–

ผมไม่มีเจตนาจะไปขัดขวางศรัทธาของใคร ถ้าท่านอยากจะใส่บาตรในกิจกรรมของสำนักธรรมกาย ก็เชิญตามสบาย ขออนุโมทนาด้วย 

แต่ที่ผมกำลังจะบอกก็คือ ขอให้พิจารณาให้ถึงสภาพจริงๆ ของบุญ เวลานี้สามเณร ๑๐,๐๐๐ รูป ถ้ายังมีอยู่ ก็ยังต้องการภัตตาหารประจำวัน ไม่ใช่ต้องการเฉพาะวันที่ ๙ เมษายนวันเดียว 

วันนี้มีใครไปใส่บาตรให้สามเณรเหล่านั้นบ้าง ใครที่ตั้งใจจะไปร่วมกิจกรรมตักบาตรเมื่อวันที่ ๙ เมษายน วันนี้ได้ไปตักบาตรกับสามเณรเหล่านั้นที่วัดต่างๆ บ้างหรือเปล่า สำนักธรรมกายที่มาดูดเอาสามเณรไปเข้าฉากเคยเป็นห่วงสามเณรเหล่านั้นบ้างไหมว่า ชีวิตจริงในวันอื่นๆ อยู่กันอย่างไร

การบิณฑบาต การใส่บาตร เป็นกิจที่ทำจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การแสดงเป็นครั้งคราว

ก็เหมือนการปฏิบัติธุดงควัตร นั่นก็เป็นสิ่งที่ต้องทำจริง เป็นนิสัยเป็นอัธยาศัยของพระภิกษุรูปนั้นๆ เพื่อขัดเกลาตนเองจริงๆ ไม่ใช่ทำเหมือนเปิดรอบการแสดงให้คนเช้าชม ไม่มีพระธุดงค์จริงที่ไหนเข้าแถวเดินกันเข้ามาในเมืองเพื่อให้คนศรัทธา

นั่นก็คือชีวิตจริง ของจริง เป็นกิจที่ควรจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ใช่เห็นเป็นสินค้าที่จะหยิบฉวยเอาไปแปรรูปวางตลาดแสวงหาประโยชน์เป็นคราวๆ

เวลานี้เรากำลังหลงศรัทธาที่ผิดทาง คือชื่นชมยินดีปลื้มปีติกับภาพที่จัดฉากขึ้น

แต่ไม่ได้เฉลียวใจคิดถึงของจริงที่ควรทำจริงปฏิบัติจริงว่าควรเป็นอย่างไรและควรทำกันอย่างไร

—————-

ปีนี้วัดมหาธาตุ ราชบุรี มีสามเณรภาคฤดูร้อนประมาณ ๕๐ รูป แยกย้ายกันออกบิณฑบาตทุกวันตามปกติโดยมีพระพี่เลี้ยงนำไป ไม่มีใครตามไปถ่ายรูปโฆษณา ไม่เป็นข่าว ไม่มีใครตื่นเต้นเหมือนข่าวสามเณร ๑๐,๐๐๐ รูป 

ใครที่ใส่บาตรทุกวัน ไม่ว่าจะใส่กับสามเณรวัดไหน ถึงจะไม่มีสามเณร ๑๐,๐๐๐ รูปมาบิณฑบาต ท่านก็ได้บุญทุกวันอยู่แล้ว และบุญที่ได้ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าใส่บาตรสามเณร ๑๐,๐๐๐ รูปวันเดียวแต่อย่างใดเลย ซ้ำยังจะดีกว่าตรงที่ได้สงเคราะห์สามเณรเหล่านั้นตรงๆ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ใช่ทำวันเดียวเลิก

ท่านที่เข้าใจว่าบุญในพระพุทธศาสนาต้องชุมนุมคนเป็นหมื่นเป็นแสนร่วมกันทำจึงจะเป็นบุญ หรือจึงจะได้บุญมาก ทำคนเดียวเงียบๆ ไม่เป็นบุญหรือได้บุญน้อย 

ขอบิณฑบาตเถอะครับ ขอได้โปรดตรองตรึก ศึกษา พิจารณาให้รอบถ้วนโดยทั่วกัน เทอญ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ เมษายน ๒๕๕๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *