บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรื่องส่วนตัว

เรื่องส่วนตัว

————

เราทุ่มเทงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาลไปเพื่อการแก้ปัญหาอันเกิดจากการกระทำของคนชั่ว 

และเราก็ทุ่มเทงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาลไปเพื่อการศึกษาที่มุ่งสอนให้คนมีความรู้เป็นหลักใหญ่-ซึ่งสามารถใช้ความรู้นั้นไปเพื่อการทำชั่วได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น 

แต่เราแทบจะไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการอบรมบ่มเพาะสั่งสอนขัดเกลาผู้คนเพื่อไม่ให้เป็นคนชั่ว 

จนกระทั่งเวลานี้ ศาสนา-ซึ่งมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การสั่งสอนผู้คนไม่ให้ทำชั่ว แต่ให้ทำดี ไปจนถึงฝึกอบรมจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด-ก็มีผู้แสดงความเห็นออกมาแล้วว่า “ควรเป็นเรื่องส่วนตัว” 

หมายความว่า การไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้สะอาด เป็นเรื่องส่วนตัว ใครจะทำหรือไม่ทำเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน บังคับกันไม่ได้ แล้วแต่ใครจะศรัทธา 

แนวคิดนี้ยังเสนอแนะต่อไปด้วยว่า ถ้าไม่ต้องการให้สมาชิกของสังคมทำอะไรที่เห็นว่าเป็นเรื่องชั่ว ก็ออกเป็นกฎหมายห้ามทำอย่างนั้นๆ เช่นไม่ต้องการให้มีคนโกง ไม่ต้องการให้มีการโกง ก็ออกกฎหมายห้ามโกง ใครโกง ผิดกฎหมาย ใช้กฎหมายจัดการ – แบบนี้จึงจะถูกต้อง 

ส่วนใครจะอบรมสั่งสอนลูกหลานไม่ให้โกง หรือจะไม่อบรมสั่งสอน หากแต่ปล่อยให้โกงไปตามเรื่องตามราว นั่นเป็นเรื่องส่วนตัว 

ถ้าถือตามแนวคิดนี้-แนวคิดที่ว่า “ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว” การปลูกฝังสั่งสอนอบรมบ่มเพาะขัดเกลาให้ผู้คนมีศีลธรรมก็ไม่ต้องทำให้เป็นงานระดับชาติ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน จะเอางบประมาณของชาติมาทำย่อมผิดหลัก 

และถ้าจะถือเคร่งตามแนวคิดนี้กันจริงๆ แล้ว กิจกรรมปลูกฝังสั่งสอนอบรมบ่มเพาะขัดเกลาให้ผู้คนมีศีลมีธรรมก็ไม่ควรมีไม่ควรทำ เช่นพระเทศน์สั่งสอนประชาชนให้รักษาศีลปฏิบัติธรรม ก็ไม่ต้องเทศน์ ไม่ต้องสอน จะต้องเทศน์ต้องสอนทำไมในเมื่อใครจะรักษาศีลปฏิบัติธรรมหรือไม่ มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา พระไปเทศน์ไปสอนให้เขารักษาศีลปฏิบัติธรรม ก็เท่ากับเข้าไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของเขานั่นเอง ใช่หรือไม่

หรือว่าพอพูดอย่างนี้ ก็เกิดจะมีข้อยกเว้นขึ้นมาอีก – ใครจะทำก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ห้ามกันไม่ได้ และไม่ควรห้าม เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพทางศาสนา

…………………………….

เวลาไม่อยากฟัง ก็บอกว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ต้องมาสอน

เวลาอยากสอน ก็บอกว่าใครจะสอนก็เป็นเรื่องส่วนตัว

…………………………….

แนวคิดนี้ดูๆ ไปก็สอดคล้องกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาตั้งพรรคการเมืองแล้วประกาศว่า รัฐไม่ควรอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

ซึ่งก็ไปตรงกับแนวนโยบายของบางประเทศที่ไม่ให้มีการสอนศาสนาในโรงเรียน ด้วยเหตุผลทางพหุวัฒนธรรม 

และไปสวนทางกับบางประเทศที่ต้องสอนศาสนาในโรงเรียน ถึงกับมีโรงเรียนสอนศาสนาโดยตรง

ถ้าเราปล่อยให้การปลูกฝังสั่งสอนอบรมบ่มเพาะขัดเกลาให้ผู้คนมีศีลธรรมเป็นเรื่องส่วนตัว ต่างคนต่างทำกันไป ไม่ต้องทำเป็นนโยบายระดับชาติ ประการหนึ่ง 

และถ้าเห็นว่าใครจะทำดีทำชั่วเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ใครไม่ต้องมาสอนใคร ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อีกประการหนึ่ง 

ก็เป็นที่หวังได้ว่า ประเทศของเราจะเดินหน้าไปสู่ความหายนะได้เร็วกว่าที่คาดกันไว้อย่างแน่นอน 

เจริญเลย!!

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๖:๔๕

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *