คฑาธร (บาลีวันละคำ 2,625)
คฑาธร
ถูก แต่ผิด
อ่านว่า คะ-ทา-ทอน
ประกอบด้วยคำว่า คฑา + ธร
(๑) “คฑา”
บาลีเป็น “คทา” (-ทา ท ทหาร) อ่านว่า คะ-ทา รากศัพท์มาจาก ค (คะ แทนศัพท์ว่า “ทุกฺข” = ความทุกข์) + ทา (ธาตุ = ให้) + อ ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อา ที่ ทา (ทา > ท) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ค + ทา = คทา > คท + อ = คท + อา = คทา แปลตามศัพท์ว่า (1) “อาวุธที่ให้ความทุกข์” (2) “อาวุธที่ให้ความทุกข์เหมือนเพชร” หมายถึง ไม้ถือ, ไม้ค้ำ, ไม้เท้า, ไม้พลอง, ไม้เรียว (a stick, staff, rod; the walking-stick)
(๒) “ธร”
บาลีอ่านว่า ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ ปัจจัย
: ธรฺ + อ = ธร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้” หมายถึง รองรับ, สวม, เก็บ; จำไว้ในใจ, ท่องจำ (bearing, wearing, keeping; holding in mind, knowing by heart)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธร : (คำนาม) การยึดไว้, การถือไว้, การทรงไว้, การมีไว้; ผู้รักษาไว้, ผู้ทรงไว้, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น วิชาธร วินัยธร. (ป.; ส.).”
คทา + ธร = คทาธร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งไม้พลอง”
อภิปราย :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า“คทา” แปลว่า ตะบอง แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “คทาธร”
เมื่อจะเขียนคำที่หมายถึง “ผู้ทรงไว้ซึ่งไม้พลอง” หรือผู้ถือตะบอง ก็ต้องสะกดเป็น “คทาธร” คทา– ท ทหาร
ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรีมีถนนสายหนึ่ง ชื่อ “ถนนคฑาธร” คำว่า “คฑา-” ใช้ ฑ มณโฑ
ชื่อ “ถนนคฑาธร” นี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในอดีตของเมืองราชบุรี คือ พระยาคฑาธรบดี สีหราชบาลเมือง สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ.2465 – พ.ศ.2469
ในเอกสารรุ่นใหม่ เมื่อเอ่ยชื่อท่านผู้นี้มักสะกดเป็น “พระยาคทาธรบดี” แม้จะสะกดถูกตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ก็ผิดจากข้อเท็จจริง เพราะชื่อท่านผู้นี้ในสมัยนั้นสะกดเป็น “พระยาคฑาธรบดี” “คฑา-” ใช้ ฑ มณโฑ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าภาษาเป็นสิ่งสมมุติ
: ก็ยิ่งสมควรที่สุดที่จะช่วยกันสมมุติให้ถูกต้องดีงาม
#บาลีวันละคำ (2,625)
20-8-62