วายุภกฺข (บาลีวันละคำ 257)
วายุภกฺข
อ่านว่า วา-ยุ-พัก-ขะ
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตว่า “วายุภักษ์” อ่านว่า วา-ยุ-พัก
“วายุภกฺข – วายุภักษ์” ประกอบด้วย วายุ + ภกฺข = วายุภกฺข
“วายุ” แปลว่า ลม (หมายถึงธาตุลม ไม่ได้เล็งที่ลมพัดไปมา ถึงไม่มีลมพัดไปมา ธาตุลมก็มีอยู่)
“ภกฺข” แปลว่า อาหาร, เหยื่อ และหมายถึงกินอาหาร, กิน-(สิ่งใดสิ่งหนึ่ง)-เป็นอาหาร
“วายุภกฺข” แปลตามสำนวนบาลีว่า “ผู้มีลมเป็นภ้กษา” หมายความว่ากินลมเป็นอาหาร
“วายุภักษ์” เป็นชื่อนกในวรรณคดี กล่าวกันว่านกชนิดนี้กินลมเป็นอาหาร จึงชื่อ “วายุภักษ์” แปลว่า “นกกินลม” ทางราชการไทยใช้รูปนกวายุภักษ์เป็นตราหรือเครื่องหมายของกระทรวงการคลัง
คำที่ออกเสียงว่า “พัก” ที่เราคุ้นกันดีคือ “พักตร์” (ใบหน้า) ชื่อนกชนิดนี้จึงมักถูกเขียนเป็น “วายุพักตร์” บ่อยที่สุด
เวลานี้มีเสียง “พัก” ที่เขียนเป็น “ภัค” (มีโชค) หรือ “ภักดิ์” (ความจงรัก) หรือ “พรรค” (กลุ่ม, พวก) จึงมีผู้เอาเสียง “วา-ยุ-พัก” ไปเขียนเป็น “วายุภัค” “วายุภักดิ์” “วายุพรรค” รวมทั้ง “วายุพักตร์” แล้วพยายามอธิบายความหมายไปตามความเข้าใจ
“วา-ยุ-พัก” เป็นชื่อเฉพาะ เขียนได้แบบเดียว คือ “วายุภักษ์”
: ทำผิด แล้วอธิบายให้เป็นถูก อาจดูดี
: แต่ทำให้ถูก ดีกว่า
บาลีวันละคำ (257)
21-1-56
วายุ
น. ลม, อากาศ, ลมหายใจ; เทพแห่งลม. (ป., ส.). (ดู พายุ).
พายุ
น. ลมแรง. (ป., ส. วายุ ว่า ลม).
วายุภักษ์
น. ชื่อนกในวรรณคดี แปลว่า นกกินลม. (ส.).
ภักษา
น. เหยื่อ, อาหาร. (ส. ภกฺษ; ป. ภตฺต).
ภักษาหาร
น. เหยื่อ, อาหาร, อาหารที่กินประจํา, เช่น เนื้อเป็นภักษาหารของเสือ หญ้าเป็นภักษาหารของวัว.
ภกฺข (บาลี-อังกฤษ)
รับประทาน, กิน-เป็นอาหาร, อาหาร, เหยื่อ, ภักษา