เบญจโภชน์ (บาลีวันละคำ 3,404)
เบญจโภชน์
ของกินทั้งห้า
อ่านว่า เบ็น-จะ-โพด
ประกอบด้วยคำว่า เบญจ + โภชน์
(๑) “เบญจ”
บาลีเป็น “ปญฺจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน 5) ในภาษาไทยนิยมแปลงเป็น “เบญจ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เบญจ-, เบญจะ : (คำวิเศษณ์) ห้า, ลําดับที่ ๕ เช่น นาเบญจะ หัวเมืองเบญจะ. (ป. ปญฺจ; ส. ปญฺจนฺ), มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”
(๒) “โภชน์”
เขียนแบบบาลีเป็น “โภชน” อ่านว่า โพ-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ (ภุชฺ > โภช)
: ภุชฺ + ยุ > อน = ภุชน > โภชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากิน” “สิ่งที่ควรกิน” หมายถึง อาหาร, โภชนะ, ของกินโดยทั่วๆ ไป (food, meal, nourishment in general); การกิน (eating)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“โภชน-, โภชนะ : (คำนาม) อาหาร; การกิน, การกินข้าว. (ป., ส.).”
เขียนแบบบาลี : ปญฺจ + โภชน = ปญฺจโภชน (ปัน-จะ-โพ-ชะ-นะ)
เขียนแบบไทย : เบญจ + โภชน์ = เบญจโภชน์ (เบ็น-จะ-โพด)
แปลว่า “โภชนะห้าอย่าง” หรือ “ของกินทั้งห้า”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “เบญจโภชน์” ไว้ แต่มีคำว่า “โภชนะห้า” บอกไว้ดังนี้ –
“โภชนะห้า : (คำนาม) ข้าว ๕ อย่าง คือ ข้าวสุก (ข้าวมัน หรือ ข้าวผัด ก็นับเข้า) ขนมสด (ขนมที่จะบูดเมื่อล่วงเวลาแล้ว เช่น แป้งจี่ ขนมด้วง ขนมครก) ขนมแห้ง (ที่ไม่บูด เช่น จันอับ ขนมปัง) ปลา (รวมทั้งหอย กุ้ง และสัตว์นํ้าเหล่าอื่นที่ใช้เป็นอาหาร) เนื้อ (เนื้อของสัตว์บกและนกที่ใช้เป็นอาหาร).”
ขยายความ :
สิกขาบทที่ 5 โภชนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 (พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 501) ระบุ “เบญจโภชน์” ไว้ดังนี้ –
…………..
โภชนียํ นาม ปญฺจ โภชนานิ
โอทโน กุมฺมาโส สตฺตุ มจฺโฉ มํสํ ฯ
…………..
ขยายความว่า ที่ชื่อว่า โภชนียะ (ของกิน) ได้แก่ โภชนะ 5 อย่าง คือ
(1) โอทโน ข้าวสุก (boiled rice)
(2) กุมฺมาโส ขนมสด (junket)
(3) สตฺตุ ขนมแห้ง (barley-meal)
(4) มจฺโฉ ปลา (fish)
(5) มํสํ เนื้อ (meat)
…………..
หนังสือ วินัยมุข เล่ม 1 พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อธิบายเรื่อง “เบญจโภชน์” ไว้ดังนี้ –
…………..
ในคัมภีร์วิภังค์กล่าวโภชนะไว้ 5 อย่าง คือ ข้าวสุก 1 กุมมาส คือขนมสด 1 สัตตุ คือขนมแห้ง 1 ปลา 1 เนื้อ 1
ธัญญชาติทุกชนิดที่หุงให้สุกแล้ว เช่นข้าวจ้าว ข้าวเหนียว หรือตกแต่งเป็นของต่างชนิด เช่นข้าวสุก ข้าวมัน ข้าวผัดเป็นต้น นับเข้าในชื่อว่าข้าวสุกทั้งนั้น.
กุมมาสนั้น คือขนมสดมีอันจะบูดเมื่อล่วงกาลแล้ว เช่นแป้งจี่ ขนมด้วง ขนมครกเป็นตัวอย่าง.
สัตตุนั้น ได้แก่ขนมแห้งที่ไม่บูด เช่นขนมที่เรียกว่าจันอับและขนมปังเป็นตัวอย่าง.
ปลานั้น สงเคราะห์เอาหอย เอากุ้ง และสัตว์น้ำเหล่าอื่นที่ใช้เป็นอาหารเข้าด้วย.
เนื้อนั้น คือมังสะของสัตว์บกและนกที่ใช้เป็นอาหาร.
นี้เรียกว่าโภชนะ 5 อย่าง.
ที่มา: วินัยมุข เล่ม 1 หน้า 141-142
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กินเพื่ออยู่ สำคัญ
: แต่อยู่เพื่ออะไร สำคัญกว่า
#บาลีวันละคำ (3,407)
7-10-64