บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรื่องที่น่ากลัวมากในเวลานี้

เรื่องที่น่ากลัวมากในเวลานี้

—————————–

เมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้ ญาติมิตรท่านหนึ่งเห็นภาพบรรพชิตในพระพุทธศาสนาไหว้คฤหัสถ์ จึงนำมาสนทนากับผม 

ท่านแสดงความเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะผู้ไหว้อาจจะตั้งใจไหว้คุณธรรมอันมีอยู่ในตัวคฤหัสถ์นั้น ก็แหละคุณธรรมนั้นท่านว่าเป็นสิ่งที่ควรเคารพ ดังคำว่า ธัมมคารวตา ความเป็นผู้เคารพในธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของผู้ที่จะสามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ 

และมีพุทธภาษิตรับรองไว้ว่า วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ผู้ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ คฤหัสถ์ไหว้บรรพชิต แล้วบรรพชิตไหว้ตอบ ย่อมเป็นการปฏิบัติตามพุทธภาษิตบทนี้ นับเป็นการถูกต้องแล้ว 

ทั้งเมื่อว่าโดยปรมัตถ์ บรรพชิตไม่มี คฤหัสถ์ไม่มี มีแต่ธาตุมาประชุมกัน จึงไม่เป็นการถูกต้องที่จะมาเอาผิดอะไรกันในการที่บรรพชิตไหว้คฤหัสถ์เช่นนั้น

………………..

เมื่อท่านอ้างปรมัตถ์ ผมก็เลยได้แต่ฟังอย่างเดียว

ฟังแล้วก็นึกถึงข้อความตอนหนึ่งในเรื่อง “กามนิต” นิยายอิงพระพุทธศาสนา วรรณกรรมแปลของ เสถียรโกเศศ และ นาคะประทีป บทที่ชื่อว่า “รหัสยลัทธิ” เป็นคำสอนในหมู่โจร 

ทฤษฎีของลัทธินี้ก็คือ การที่เราเอาดาบฟันใครตาย เราไม่ได้ทำปาณาติบาต คือไม่ได้ทำผิดอะไร เพราะโดยปรมัตถ์แล้วเป็นแต่เพียงวัตถุ (คือดาบ) ผ่านไปในระหว่างอณูหรือปรมาณู (คือร่างคน) เท่านั้น จึงไม่มีใครตาย และจึงไม่มีใครฆ่าใคร 

ทฤษฎีนี้ปรากฏอยู่ในมหาภารตะและภควัตคีตาด้วย เป็นคำสอนของพระกฤษณะสอนอรชุนเมื่อจะทำสงครามกับพี่น้องของตนเอง

และถ้าใครศึกษาพระไตรปิฎกก็จะพบว่า ลัทธิดังว่านี้ปรากฏว่าเป็นคำสอนของครูปูรณกัสสปะ ๑ ในครูทั้ง ๖ ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในสมัยพุทธกาล มีบันทึกไว้ในสามัญญผลสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสแก่พระเจ้าอชาตศัตรู

ขอยกข้อความในสามัญญผลสูตรมาเสนอไว้ในที่นี้ เป็นการช่วยกันศึกษาพระไตรปิฎกอีกทางหนึ่ง

………………………………………..

          (ครูปูรณกัสสปะกล่าวว่า) เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำให้เขาดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ดักปล้นในทางเปลี่ยว ทำชู้ภริยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป แม้หากผู้ใดจะใช้จักรซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อกองเดียวกัน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา 

          แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา

          แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา …

ที่มา: สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 94

………………………………………..

ถ้าประเทศต่างๆ ในโลกนี้ใช้ทฤษฎีนี้เป็นหลักในการปกครอง กฎหมายว่าด้วยการฆ่ากันก็โละทิ้งถังขยะได้เลย

คราวนี้มาดูว่า ในพระวินัยกำหนดระเบียบเรื่องภิกษุจะไหว้ใครหรือไม่ไหว้ใครไว้อย่างไร

ในวินัยปิฎกมีข้อกำหนดเรื่องนี้ไว้ ขอยกมาให้ดูสักตอนหนึ่งทั้งคำบาลีและคำแปล ดังนี้

………………………………………..

อปเรปิ  อุปาลิ  ปญฺจ  อวนฺทิยา. 

ดูก่อนอุบาลี ยังมีบุคคลที่ภิกษุไม่ควรไหว้อีก ๕ จำพวก

กตเม  ปญฺจ. 

๕ จำพวกคือใครบ้าง? 

(๑) ปุเร  อุปสมฺปนฺเนน  ปจฺฉา  อุปสมฺปนฺโน  อวนฺทิโย. 

ภิกษุผู้อุปสมบททีหลัง อันภิกษุผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้

(๒) อนุปสมฺปนฺโน  อวนฺทิโย. 

อนุปสัมบัน (คือผู้ที่มิได้บวชเป็นภิกษุ) อันภิกษุไม่ควรไหว้

(๓) นานาสํวาสโก  วุฑฺฒตโร  อธมฺมวาที  อวนฺทิโย. 

ภิกษุมีสังวาสต่างกัน (คือต่างพวกต่างนิกาย) มีพรรษาแก่กว่า เป็นอธรรมวาที (คือสอนผิดพูดผิดพระธรรมวินัย) อันภิกษุไม่ควรไหว้ 

(๔) มาตุคาโม  อวนฺทิโย. 

มาตุคาม (คือสตรี) อันภิกษุไม่ควรไหว้ 

(๕) ปณฺฑโก  อวนฺทิโย.  

บัณเฑาะก์ (คือที่รู้กันว่าเป็นกะเทย) อันภิกษุไม่ควรไหว้ 

อิเม  โข  อุปาลิ  ปญฺจ  อวนฺทิยา. 

ดูก่อนอุบาลี บุคคล ๕ จำพวกนี้แลอันภิกษุไม่ควรไหว้ 

ที่มา: คัมภีร์ปริวาร กฐินัตถารวรรคที่ ๑๔ อุปาลิปัญจกะ วินัยปิฎก 

พระไตรปิฎกเล่ม ๘ ข้อ ๑๒๒๕

………………………………………..

ยังมี “อวันทิยบุคคล” คือผู้ที่ภิกษุไม่ควรไหว้อีกหลายจำพวก ผู้ปรารถนาจะทราบยิ่งไปกว่านี้พึงศึกษาตรวจสอบดูในหลักพระธรรมวินัยนั้นเถิด 

วินัยของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาล้วนแต่เป็นสมมุติสัจจะ ถ้าใช้ปรมัตถสัจจะมาตัดสิน พระวินัยปิฎกก็โละทิ้งถังขยะได้เลย 

ภิกษุทำอะไรก็เอาปรมัตถ์มาตัดสิน จึงไม่มีใครผิด และจึงไม่ต้องมีพระวินัย

อนึ่ง หลักของพระวินัยนั้นไม่ใช่อยู่ที่ละเมิดแล้วอย่าให้ใครรู้ใครเห็น (เช่นภิกษุจะไหว้คฤหัสถ์ก็ไหว้ไป แต่อย่าเอาภาพมาเผยแพร่ ก็จะไม่มีปัญหาอะไร) แต่อยู่ที่-ไม่ละเมิด 

และหลักของท่านก็มีอยู่ว่า “อนุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี” อาบัติเล็กน้อยขนาดไหนก็เห็นเป็นเรื่องน่ากลัว

………………..

เรื่องที่น่ากลัวมากในเวลานี้ก็คือ ชาวพุทธเราทิ้งหลักพระธรรมวินัย ตัดสินอะไรไปตามความเห็นของตัวเอง หรือตามความเห็นของตัวบุคคลที่แต่ละคนเชื่อถือ

ถอยกลับเข้าไปหาพระธรรมวินัยกันเถอะขอรับ 

พระบรมศาสดาของเราประทับอยู่ที่นั่น

ตัวพระศาสนาก็อยู่ที่นั่น

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๗:๒๖

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ต้นร่างของเรื่องนี้เป็นความคิดเห็นที่เขียนลงไปท้ายโพสต์ของท่านผู้หนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) เมื่อ ๙ กันยายน ๒๕๖๔

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *