บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เด็กวัด

——

เด็กสมัยนี้คงไม่รู้จักแล้วว่า “เด็กวัด” คือใคร เพราะวัดต่างๆ ในเวลานี้กล่าวได้ว่าระบบวิถีชีวิตเด็กวัดหมดไปแล้ว หากจะยังมีอยู่บ้างก็เป็นแค่ “เด็กอาศัยวัด”

เมื่อก่อนนี้สังคมไทยยังไม่มีโรงเรียนแบบที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ แต่เรามีวัดอยู่ทั่วไป และวัดนั่นเองทำหน้าที่เป็นโรงเรียน ชายไทยที่อายุครบ ๒๐ ต้องบวชพระ นี่ก็คือไปเข้าโรงเรียนนั่นเอง 

คำว่า “บวชเรียน” ยังเป็นคำพูดติดปากคนไทยอยู่จนถึงวันนี้

คนที่บวชเป็นพระแล้ว เมื่อสึกออกมา มีคำไทยเรียกว่า “ทิด” 

คำว่า “ทิด” กลายรูปมาจากคำว่า “บัณฑิต”

ในภาษาไทย เราเรียกคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยว่า “บัณฑิต”

“บัณฑิต” สมัยก่อนคือคนที่บวชแล้ว 

“บัณฑิต” สมัยนี้คือคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย

จะเห็นได้ว่ามาจากแนวคิดเดียวกัน คือหมายถึงคนที่สำเร็จการศึกษาแล้ว พร้อมที่จะออกไปทำมาหากินตั้งเนื้อตั้งตัวต่อไป

ชายไทยที่อายุยังไม่ครบ ๒๐ ถ้าอยากเข้าโรงเรียนก็ไปอยู่วัดได้ คือบวชเป็นสามเณรอย่างหนึ่ง กับเป็นเด็กวัดอีกอย่างหนึ่ง

สามเณรนั้นมีชีวิตอยู่กึ่งกลางระหว่างพระกับเด็กวัด

วิถีชีวิตใกล้ไปทางพระ

แต่นิสัยใจคอใกล้มาทางเด็ก

ผมถือว่า ชีวิตผมมีโชคดี คือได้เป็นมาแล้วทั้ง ๓ สถานะ

—————–

ผมเป็นเด็กวัดตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ ตอนนั้นพี่ชายคนโตบวชเป็นพระ และผมก็ควรจะเข้าโรงเรียนได้แล้ว วัดที่พี่ชายบวชอยู่คือวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี มีโรงเรียนประชาบาลตั้งอยู่ในวัด พ่อแม่ก็เห็นชอบที่จะให้ผมมาอยู่วัดเพื่อเข้าโรงเรียนด้วย

ชีวิตเด็กวัดสมัยผมก็คงคล้ายๆ กับเด็กในโรงเรียนที่รับเด็กอยู่ประจำในสมัยนี้ มีพระเป็นผู้ปกครอง และต้องทำกิจวัตรประจำวันตามระบบวิถีชีวิตของชาววัด 

วัดหนองกระทุ่มเป็นวัดบ้านนอก สมัยโน้นพระไปบิณฑบาตได้แต่ข้าวสุก ไม่มีกับข้าว ถุงพลาสติกยังไม่เกิดหรือยังไปไม่ถึง เด็กวัดจึงมีหน้าที่เอาปิ่นโตไปใส่กับข้าวมาจากบ้านของพระแต่ละรูป 

มีคำเรียกกิจวัตรนี้ของเด็กวัดว่า “เดินปิ่นโต” 

วิธีการก็คือ ตอนเช้าหิ้วปิ่นโตเปล่าไปยังบ้านของพระ เป็นศิษย์พระรูปไหนก็ไปที่บ้านพระรูปนั้น นั่นหมายถึงว่าบ้านไหนลูกชายไปบวชเป็นพระ บ้านนั้นก็มีภาระที่จะต้องทำกับข้าวไปถวายพระของตน โดยมีเด็กวัดเอาปิ่นโตมาใส่กับข้าวทุกเช้า

จึงเกิดมีสำนวน “ส่งปิ่นโต” อันหมายถึงอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งด้วยอาหารบิณฑบาต (ตลอดถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย) เช่น

“มหาย้อยนี่ตอนบวชอยู่ฉันส่งปิ่นโตอยู่ตั้งหลายปี”

พอเดินปิ่นโตกลับมาถึงวัด เด็กวัดก็จัดที่นั่งให้พระบนหอฉัน ก็คือเตรียมอาสนะ ชาม ช้อน กาน้ำ แก้วน้ำ กระโถน และเตรียมเชิงรองบาตร (เราเรียกกันว่า “ขาบาตร”) ตั้งไว้ เมื่อพระกลับจากบิณฑบาตก็จะวางบาตรลงบนเชิงรองได้ทันที (มีคติถือกันว่า ห้ามวางบาตรลงกับพื้นโดยไม่มีเชิงรอง เว้นแต่จะมีผ้าถลกบาตรหุ้มบาตรอยู่)

กิจทั้งปวงนี้ภาษาเด็กวัดหนองกระทุ่มเรียกว่า “จัดโอ” (โอ : ภาชนะเครื่องเขินอย่างหนึ่งสําหรับใส่ของ รูปคล้ายขัน มีขนาดต่าง ๆ, ต่อมาได้อนุโลมเรียกขันเคลือบทรงสูงว่า ขันโอ)

เข้าใจว่า สำรับที่จัดถวายพระในสมัยหนึ่งคงนิยมใช้ขันโอใส่น้ำฉันตั้งเทียบไว้ด้วย และคงเป็นภาชนะที่เด่นกว่าอย่างอื่น จึงเรียกการจัดที่ให้พระฉันเป็นคำรวมๆ ว่า “จัดโอ”

วัดหนองกระทุ่มพระฉันเป็นวง ฉันรวมกันบนหอฉัน พระทุกรูปต้องออกบิณฑบาต จะกินแรงเพื่อนพระด้วยกันไม่ได้

เมื่อพระนั่งเข้าวง เด็กวัดทำหน้าที่ประเคนแล้วนั่งเฝ้ารับใช้อยู่ใกล้ๆ รอจนพระฉันเสร็จและอนุโมทนาแล้วจึงได้กินข้าว

กินข้าวแล้ว เก็บกวาดอะไรต่อไรเสร็จจึงไปโรงเรียน

เรียนไปจนถึงใกล้เพล นักเรียนที่เป็นเด็กวัดจะได้รับอนุญาตให้พักกลางวันก่อนเด็กทั่วไป เพื่อไปเตรียมจัดโอให้พระฉันเพล

ตอนเย็นกินข้าวที่เหลือมาจากมื้อเพล 

ประสบการณ์สอนให้รู้ว่ากับข้าวชนิดไหนบูดง่าย ชนิดไหนเก็บไว้ได้จนถึงเย็น แม้แต่ข้าว ถ้าบูด เด็กวัดก็มีกรรมวิธีที่จะกินได้ทั้งๆ ที่บูด

พอพระทำวัตรเย็นเสร็จ เด็กวัดทั้งหมดจะต้องมารวมกันที่หอฉันเพื่อสวดมนต์และ “ต่อหนังสือ” คือท่องบทสวดมนต์ตามที่พระผู้ปกครอง-ซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่จากหลวงปู่ พระครูขันตยาภิรัต เจ้าอาวาสวัดหนองกระทุ่ม ให้เป็นผู้ดูแลเด็กวัด-จะอบรมสั่งสอน

ระบบนี้เรียกกันว่า “ต่อหนังสือค่ำ” เพราะมักทำในเวลาค่ำหรือใกล้ค่ำ ระบบนี้ทำให้ผมท่องสวดมนต์บทต่างๆ ได้เป็นอันมาก โดยเฉพาะบทพาหุง มหาการุณิโก ท่องได้คล่องตั้งแต่เป็นเด็กวัด 

ถึงเวลานอนก็เลือกที่นอนกันตามถนัด โดยมากนอนหน้าห้องพระที่เราเป็นลูกศิษย์เดินปิ่นโต อุปกรณ์การนอนก็แทบไม่ต้องใช้อะไรนอกจากผ้าอาบเก่าๆ (ลักษณะเหมือนผ้าขาวม้า) ที่พระท่านให้ไว้ใช้ประจำตัวใช้เป็นผ้าห่มนอนไปด้วย

พอรุ่งเช้า ชีวิตก็เข้าสู่วงจรเดิม

วันที่เป็นสวรรค์สำหรับเด็กวัดก็คือวันพระในพรรษา เพราะเป็นวันที่ชาวบ้านมาชุมนุมทำบุญตามประเพณี เป็นวันที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์พิเศษกว่าวันธรรมดาซึ่งอาจจะอิ่มบ้างไม่อิ่มบ้าง 

มีคำกล่าวว่า “อาหารพระเหมือนอาหารเสือ”

เสือในป่า ยังชีพด้วยการล่าเหยื่อ ได้หรือไม่ได้ ได้มากน้อยแค่ไหน เอาแน่ไม่ได้ บางวันอิ่ม บางวันอด 

ชีวิตชาววัด-โดยเฉพาะเด็กวัด-ก็เป็นเช่นนั้น

เด็กวัดหนองกระทุ่มพอจะแบ่งได้เป็น ๒ จำพวก คือ 

๑ จำพวกที่มีบ้านช่องห้องหอเป็นหลักฐาน คือมีพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นตัวตน มาอยู่วัดเป็นการเฉพาะกิจด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นพี่ชายบวช น้องมาเป็นเด็กเดินปิ่นโตเป็นต้น 

๒ จำพวกที่ไม่มีบ้านเป็นหลักฐานด้วยสาเหตุต่างๆ กัน มาอยู่วัดเพราะไม่รู้ว่าจะไปอยู่ไหน

เด็กวัดมีเวลาปล่อยกลับบ้าน หรือลากลับบ้านได้ตามความจำเป็น จำพวกแรกนั้นอาจมีวันใดวันหนึ่งกลับไปค้างบ้าน 

ส่วนผมอยู่ในจำพวกหลัง คือค้างวัดตลอดกาลเพราะไม่มีบ้านจะกลับ

—————–

ผมไม่ค่อยรู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวของตัวเอง ได้ยินแว่วๆ ว่า พวกเราถูกญาติซึ่งเป็นพี่ๆ คนละแม่โกง (พ่อมีเมีย ๒ คน เมียคนแรกตายจึงมาได้เมียคนที่สองคือแม่ผม) จนไม่เหลือสมบัติอะไร แม้แต่บ้านที่ผมจำได้เงาๆ ว่าอยู่มาตั้งแต่เกิด ตอนผมมาเป็นเด็กวัดก็ไม่มีแล้ว พ่อกับแม่ต้องอาศัยบ้านญาติห่างๆ อยู่

สภาพชีวิตหรือภูมิหลังของเด็กวัดแต่ละคนในสมัยนั้นคงจะเป็นที่รู้กันในหมู่ชาวบ้านทั่วไป ผมจำได้ว่า ปีหนึ่งโรงเรียนวัดหนองกระทุ่มจัดงานอะไรสักอย่าง มีภาพยนตร์ปิดวิก (คือล้อมรั้วเก็บค่าผ่านประตู) ด้วย 

ผมอยากดูภาพยนตร์ แต่ไม่มีสตางค์ค่าผ่านประตู จึงได้แต่ไปชะเง้อมองอยู่ข้างรั้ว พอมีคนเสียค่าผ่านประตูเดินเข้าไป ผมก็ทำทีท่าเลียบๆ เคียงๆ อยู่แถวนั้น

มีเสียงผู้ใหญ่คนหนึ่งตะโกนออกมาจากข้างใน บอกคนเฝ้าประตูว่า 

“ไอ้นั่นมันเด็กวัด พ่อแม่มันไม่มี ให้มันเข้ามาเถอะ”

—————–

ผมเป็นเด็กวัดอยู่ได้ราว ๒ ปี แม่ก็ตาย 

ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นประถม ๒ จำได้ว่ากำลังเป็นหิดน้ำเหลืองไหลเยิ้มทั้งสองมือ (หิด : ชื่อโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อ Sarcoptes scabiei ลักษณะเป็นเม็ดสีขาว ใสเป็นเงาในเนื้อ ขึ้นตามผิวหนัง มีอาการปวดและคัน เรียกว่า หิดด้าน เมื่อเม็ดแตกมีนํ้าเหลืองไหลเยิ้ม เรียกว่า หิดเปื่อย) 

เด็กวัดเป็นหิดไม่ผิดปกติ ควรจะเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเด็กวัดที่ไม่มีพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลอย่างผมด้วยแล้ว ถือว่าปกติอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นหิด เพราะเด็กมักรักษาความสะอาดตัวเองไม่เป็น 

เด็กวัดสมัยผมกินข้าวไม่ต้องมีช้อน ใช้มือเปิบ ล้างถ้วยล้างชามไม่มีน้ำยาล้างจานใช้ สบู่ก็หายาก เพราะฉะนั้น มือของเด็กวัดจึงเป็นส่วนของร่างกายที่มีโอกาสเป็นหิดได้ง่ายที่สุด

พระพี่ชายพาผมไปบ้านญาติที่แม่ตาย ไปถีงบ้าน ผมเห็นแม่นอนนิ่ง มีผ้าผวยคลุมร่าง พี่ชายบอกให้ผมเข้าไปกราบศพแม่

ตอนนั้นผมเด็กเกินที่จะรู้จักพิษสงของการจากพรากสูญเสีย กราบแม่แล้วผมก็ได้แต่ลุกออกมานั่งนิ่งๆ คนเดียว

ขณะนั้น เด็กๆ รุ่นราวคราวเดียวกันหลายคนทั้งชายและหญิงกำลังเล่นอะไรกันอยู่ เด็กเหล่านั้นเห็นผมก็เข้ามาหาตามประสาเด็กด้วยกัน

ผมจำภาพนั้นได้ไม่เคยลืม-ภาพที่ผู้ใหญ่พ่อแม่หรือญาติของเด็กเหล่านั้นกรี๊ดกร๊าดหวีดผวาเข้ามาลากตัวลูกๆ หลานๆ ของเขาไม่ให้เข้ามาใกล้ผม ปากก็พร่ำบอกอย่างหวาดระแวง

“อย่าเข้าไปเล่นกับมัน มันเป็นเด็กวัด มันเป็นหิด”

—————–

วันนั้น จนถึงทุกวันนี้ผมก็ไม่แน่ใจว่า ญาติผู้ใหญ่เหล่านั้นรังเกียจที่ผมเป็นหิด หรือรังเกียจที่ผมเป็นเด็กวัดกันแน่

แต่วันนี้ ผมอยากจะบอกคนที่มีลูกหลานว่า ถ้าเราช่วยกันอบรมสั่งสอนเด็กๆ ของเราให้รังเกียจคนทำทุจริต-เหมือนกับที่ญาติผมรังเกียจผมที่เป็นหิด-(หรือที่เป็นเด็กวัด)-กันให้มากๆ ก็จะเป็นการดีนักหนา

เด็กวัดเป็นหิดเดี๋ยวนี้คงไม่มีแล้ว

แต่คนทำทุจริตยังมี และมีมากด้วย

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

วันเด็กแห่งชาติ

๑๔ มกราคม ๒๕๖๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *