บาลีวันละคำ

ศรัทธาสาธุชน (บาลีวันละคำ 3,410)

ศรัทธาสาธุชน

คือคนเช่นไร

อ่านว่า สัด-ทา-สา-ทุ-ชน

ประกอบด้วยคำว่า ศรัทธา + สาธุ + ชน

(๑) “ศรัทธา

บาลีเป็น “สทฺธา” อ่านว่า สัด-ทา รากศัพท์มาจาก –

(1) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ธา (ธาตุ = เชื่อถือ, นับถือ) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น นฺ แล้วแปลง นฺ เป็น ทฺ (สํ > สนฺ > สทฺ)

: สํ > สนฺ > สทฺ + ธา = สทฺธา + = สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่เชื่อถือ” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้เชื่อถือ” 

(2) (ตัดมาจาก “สมฺมา” = ด้วยดี, ถูกต้อง) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ธา (ธาตุ = มอบไว้, ฝากไว้) + (อะ) ปัจจัย, แปลง นิ เป็น ทฺ 

: + นิ + ธา = สนิธา + = สนิธา > สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเหตุให้มอบจิตไว้ด้วยดี

สทฺธา” หมายถึง ความเชื่อ (faith) 

บาลี “สทฺธา” สันสกฤตเป็น “ศฺรทฺธา” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ศฺรทฺธา : (คำนาม) ‘ศรัทธา,’ ความเชื่อ; faith, belief.”

บาลี “สทฺธา” ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “ศรัทธา” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศรัทธา : (คำนาม) ความเชื่อ, ความเลื่อมใส, เช่น สิ้นศรัทธา ฉันมีศรัทธาในความดีของเขา บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ ประสาทะ เป็น ศรัทธาประสาทะ. (คำกริยา) เชื่อ, เลื่อมใส, เช่น เขาศรัทธาในการรักษาแบบแพทย์แผนโบราณ. (ส. ศฺรทฺธา; ป. สทฺธา).”

(๒) “สาธุ

อ่านว่า สา-ทุ รากศัพท์มาจาก สาธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + อุ ปัจจัย

สาธฺ + อุ = สาธุ แปลตามศัพท์ว่า “ยังประโยชน์ให้สำเร็จ” มีความหมายว่า “ดีแล้ว” “ถูกต้องแล้ว” “ใช่แล้ว” “เห็นชอบด้วย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สาธุ” ในความหมายต่างๆ ดังนี้ –

(1) good, virtuous, pious (ดี, มีคุณธรรม, มีศรัทธาแก่กล้า)

(2) good, profitable, proficient, meritorious (ดี, งาม, คล่อง, มีกำไร, เป็นกุศล)

(3) well, thoroughly (อย่างดี, โดยทั่วถึง)

(4) come on, welcome, please (โปรดมาซี, ขอต้อนรับ, ยินดีต้อนรับ : ใช้ในฐานะเป็นคำขอร้องเชิญชวน)

(5) alright, yes (ดีแล้ว ตกลง : ใช้ในฐานะเป็นคำยอมรับและอนุมัติในการตอบคำถาม หรือกรณีอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน)

ในที่นี้ “สาธุ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (2) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สาธุ” ไว้ว่า –

(1) (คำวิเศษณ์) ดีแล้ว, ชอบแล้ว, (เป็นคําที่พระสงฆ์เปล่งวาจาเพื่อยืนยันหรือรับรองพิธีทางศาสนาที่กระทําไป).

(2) (ภาษาปาก) (คำกริยา) เปล่งวาจาแสดงความเห็นว่าชอบแล้วหรืออนุโมทนาด้วย, มักใช้เข้าคู่กับคำ โมทนา เป็น โมทนาสาธุ

(3) (คำกริยา) ไหว้ (เป็นคําบอกให้เด็กแสดงความเคารพตามธรรมเนียม กร่อนเสียง เป็น ธุ ก็มี). 

(๓) “ชน” 

ภาษาไทยอ่านว่า ชน บาลีอ่านว่า ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + (อะ) ปัจจัย

: ชนฺ + = ชน แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ยังกุศลหรืออกุศลให้เกิดได้” เป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะธรรมดาของคน ดีก็ทำได้ ชั่วก็ทำได้ 

(2) “ผู้ยังตัวตนให้เกิดตามกรรม” หมายความว่า นอกจากทำกรรมได้แล้ว ยังทำ “ตัวตน” (คน) ให้เกิดได้อีก

ชน” หมายถึง บุคคล, สัตว์, คน (an individual, a creature, person, man)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ชน ๒, ชน– : (คำนาม) คน (มักใช้ในภาษาหนังสือ).(ป., ส.).”

การประสมคำในภาษาไทย :

(๑) สาธุ + ชน = สาธุชน (สา-ทุ-ชน) แปลตามศัพท์ว่า “คนดี” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สาธุชน : (คำนาม) คนดี, คนที่มีคุณงามความดี, (ใช้ในการยกย่อง). (ป.).”

(๒) ศรัทธา + สาธุชน = ศรัทธาสาธุชน (สัด-ทา-สา-ทุ-ชน) แปลโดยประสงค์ว่า “คนดีมีศรัทธา” หมายถึง คนที่มีศรัทธาในการบำเพ็ญกุศล เช่นชอบทำบุญให้ทานเป็นต้น

ขยายความ :

คำว่า “ศรัทธาสาธุชน” เป็นคำที่ผู้ประกาศงานบุญคิดขึ้น เมื่อมีงานที่จัดขึ้นเป็นบุญสาธารณะ เช่นงานปิดทองฝังลูกนิมิตเป็นต้น มีคนมาเที่ยวงานกันมาก ผู้ประกาศงานบุญก็จะประกาศเชิญชวนให้คนทำบุญ โดยเรียกผู้คนที่มาในงานเป็นคำรวมว่า “ศรัทธาสาธุชน” เช่นประกาศว่า –

“ขอเชิญท่านศรัทธาสาธุชนร่วมบริจาคทรัพย์บำเพ็ญบุญตามอัธยาศัยโดยทั่วกัน”

คำว่า “ศรัทธาสาธุชน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คาดว่าถ้ามีคนพูดคำนี้กันมากขึ้น ก็คงได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ เข้าสักวันหนึ่งในอนาคต

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ศรัทธาที่ขาดปัญญากำกับ

: ตกนรกย่อยยับ ยังหลงว่ากำลังขึ้นสวรรค์

#บาลีวันละคำ (3,410)

13-10-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *