สังเกต ทำไมไม่มีสระ อุ (บาลีวันละคำ 2,363)
สังเกต ทำไมไม่มีสระ อุ
ถ้าให้เขียนคำว่า “สังเกต” คนส่วนมากจะเขียนเป็น “สังเกตุ” – มีสระ อุ
“สังเกตุ” มีสระ อุ เป็นคำที่ผิด
“สังเกต” ไม่มีสระ อุ เป็นคำที่ถูกต้อง
“สังเกต” บาลีเป็น “สงฺเกต” อ่านว่า สัง-เก-ตะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สํ (คำอุปสรรค = ร่วมกัน, พร้อมกัน) + กิ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง อิ ที่ กิ เป็น เอ (กิ > เก)
: สํ > สงฺ + กิ = สงฺกิ > สงฺเก + ต = สงฺเกต
(2) สํ + กิต (ธาตุ = รู้) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ), แปลง อิ ที่ กิ-(ตฺ) เป็น เอ (กิตฺ > เกต)
: สํ > สงฺ + กิต = สงฺกิต + อ = สงฺกิต > สงฺเกต
“สงฺเกต” แปลตามศัพท์ว่า “รู้ร่วมกัน” “รู้พร้อมกัน” หมายถึง การกำหนด, ความตกลง, การนัดหมาย, สถานที่นัดหมาย, ที่นัดพบ (intimation, agreement, engagement, appointed place, rendezvous)
โปรดสังเกตว่า คำเดิมหรือรากศัพท์ไม่ได้มีสระ อุ ที่ ต แต่ประการใด จึงเป็นคำตอบที่ว่า “สังเกต” ทำไมไม่มีสระ อุ
บาลี “สงฺเกต” ในภาษาไทยเขียนว่า “สังเกต” (ไม่มีสระ อุ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังเกต : (คำกริยา) กําหนดไว้, หมายไว้, เช่น ทำเครื่องหมายไว้เป็นที่สังเกต; ตั้งใจดู, จับตาดู, เช่น ไม่ได้สังเกตว่าวันนี้เขาแต่งตัวสีอะไร สังเกตกิริยาท่าทางเขาไว้ว่าเป็นคนดีหรือคนร้าย. (ป., ส.).”
ความจริง “เกตุ” ในภาษาบาลีก็มี แต่ไม่มี “สงฺเกตุ” มีแต่ “เกตุ” เดี่ยวๆ
“เกตุ” บาลีอ่านว่า เก-ตุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่อยู่ข้างบน” (หมายถึงผ้าที่ถูกผูกไว้บนที่สูง) และ “สิ่งที่เป็นเครื่องหมายให้รู้น้ำ” (หมายถึงผ้าที่ผูกไว้ที่บ่อน้ำ บอกให้รู้ว่าตรงนั้นมีน้ำ)
“เกตุ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) รัศมี, แสงสว่าง, ความรุ่งโรจน์, ความโชติช่วง (ray, beam of light, splendour, effulgence)
(2) ธง, ธงชัย, เครื่องหมาย, อาจเป็นเครื่องแสดงความรุ่งโรจน์ (flag, banner, sign, perhaps as token of splendour)
เป็นอันว่า “เกตุ” (เก-ตุ) กับ “สังเกต” (-เก-ตะ) เป็นคนละคำกัน
“สังเกต” มี
“สังเกตุ” ไม่มี
ข้อสังเกต :
เหตุที่มักเขียน “สังเกต” เป็น “สังเกตุ”
“-ต” ที่เป็นตัวสะกดและมีสระ ที่เราคุ้นกันมาก ก็เช่น ชาติ (ชาด) ธาตุ (ทาด) เหตุ (เหด)
โดยเฉพาะ “เหตุ” โครงสร้างของรูปคำและระดับเสียงเข้ากับ “เกตุ” ได้พอดี
พอเห็นคำว่า “สังเกต” (ไม่มีสระ อุ = ถูก) ใจก็สั่งให้เขียนเป็น “สังเกตุ” (มีสระ อุ = ผิด) ตามความเคยชินที่ซึมซับมาจากคำอื่นๆ
เหตุข้อนี้คือที่เรียกกันเป็นคำวิชาการว่า-มีแนวเทียบผิด
ประกอบกับคนทั่วไปมักไม่ระแวงหรือไม่ชอบสงสัยว่าคำในภาษาเดิมจะสะกดอย่างไร มือเคยเขียนอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น จึงพากันเขียนผิดเพลินไปโดยไม่ได้สังเกต
อาจจะต้องใช้เทคนิคในการแก้ปัญหาเฉพาะตัว เช่น
– ท่องไว้ว่า “สังเกต ไม่มีเหตุต้องใส่สระ อุ”
– อย่าอ่านว่า สัง-เกด แต่ให้อ่านในใจไว้เสมอว่า สัง-เก-ตะ เวลาเขียนจะได้ไม่เผลอไปเขียนเป็น สัง-เก-ตุ
ดูเพิ่มเติม:
“สงฺเกต” บาลีวันละคำ (380) 29-5-56
“สังเกต” บาลีวันละคำ (710) 27-4-57
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความชั่วไม่ใช่ตัวหนังสือ
: ทำแล้วลบไม่ได้
#บาลีวันละคำ (2,363)
1-12-61
……………………………………………..
……………………………………………..