บาลีวันละคำ

จักรยานยนต์ (บาลีวันละคำ 260)

จักรยานยนต์

(บาลีไทย)

อ่านว่า จัก-กะ-ยาน-ยน

ประกอบด้วยคำบาลีว่า จกฺก + ยาน + ยนฺต

“จกฺก” (จัก-กะ) แปลว่า ล้อรถ, แผ่นกลม, วงกลม

“ยาน” (ยา-นะ) แปลว่า การไป, การดำเนินไป, สิ่งสำหรับทำให้เคลื่อนไป, พาหนะ

“ยนฺต” (ยัน-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำกิริยาอาการต่างๆ ได้” หมายถึงสิ่งที่คิดขึ้น, สิ่งประดิษฐ์, เครื่องมือ, เครื่องยนต์, กลไก ความหมายที่คุ้นกันที่สุดก็คือ “เครื่องยนต์” คำนี้ภาษาไทยเขียนว่า “ยนต์” (ยน)

จกฺก + ยาน = จกฺกยาน เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “จักรยาน” แปลตามศัพท์ว่า “พาหนะที่มีล้อ” ตามนัยนี้ พาหนะทุกชนิดที่มีล้อย่อมสามารถเรียกว่า “จักรยาน” ได้

แต่เนื่องจากคำนี้เราบัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า bicycle “จักรยาน” จึงหมายเฉพาะรถชนิดนั้น (พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล bicycle เป็นภาษาบาลีว่า จกฺกยุค = รถที่มีล้อคู่)

“ยนต์” เป็นคำขยาย ถ้าเป็นบาลีต้องอยู่ข้างหน้า เป็น “ยนฺตจกฺกยาน” แต่ภาษาไทยคำขยายมักอยู่หลัง จึงเป็น จักรยาน + ยนต์ = จักรยานยนต์ = รถที่มีล้อสองล้อเหมือนรถจักรยาน แต่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์

ถามแถม : พระสงฆ์ขับจักรยานยนต์ ผิดหรือไม่ ?

บาลีวันละคำ (260)

24-1-56

น  ภิกฺขเว  ยาเนน  ยายิตพฺพํ  โย  ยาเยยฺย  อาปตฺติ  ทุกฺกฏสฺส

ภิกษุไม่พึงไปด้วยยาน รูปใดไป ต้องอาบัติทุกกฎ

มหาวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๔

จกฺก (บาลี-อังกฤษ)

ล้อ (รถ), แผ่นหินแบนกลมใช้เป็นอาวุธสำหรับขว้างไป, แผ่นกลม, วงกลม

ยาน

การไป, การดำเนินไป, สิ่งสำหรับทำให้เคลื่อนไป, พาหนะ,

ยนฺต

วิธีหนึ่งสำหรับถือ, สิ่งที่คิดขึ้น, อุบาย, เครื่องมือ, เครื่องยนต์, กลไก

ยนฺต (ศัพท์วิเคราะห์)

ตํ ตํ กิริยํ ยาติ ปาปุณาตีติ ยนฺตํ สิ่งที่ถึงกิริยานั้น คือแสดงกิริยานั้นได้

ยา ธาตุ ในความหมายว่าถึง อนฺต ปัจจัย

หตฺถปาทาทีหิ ตํ ตํ อาการํ กุรุมานํ ยาติ คจฺฉตีติ ยนฺตํ สิ่งที่ทำอาการนั้นๆ ด้วยมือและเท้าเป็นต้นไป (เหมือน วิ.ต้น)

ยตติ อุคฺฆาฏนนิคฺฆาฏนาทีสุ วายมติ เอเตนาติ ยนฺตํ สิ่งเป็นเครื่องพยายามในการยกขึ้นยกลงเป็นต้น หมายถึงหุ่นยนต์

ยต ธาตุ ในความหมายว่าพยายาม อ ปัจจัย ซ้อน นฺ

จักรยาน

น. รถถีบ, ยานพาหนะประเภทรถที่มีล้อ ๒ ล้อ ล้อหนึ่งอยู่ข้างหน้าและอีกล้อหนึ่งอยู่ข้างหลัง มีโครงเหล็กเชื่อมล้อหน้ากับล้อหลัง มีคันบังคับด้วยมือติดตั้งอยู่บนล้อหน้า ขับเคลื่อนด้วยกำลังคนผู้ขี่ซึ่งใช้เท้าถีบบันไดรถให้วิ่ง เรียกว่า จักรยานสองล้อ, ถ้ามี ๓ ล้อ เรียกว่า จักรยานสามล้อ.

จักรยานยนต์

น. รถที่มีล้อ ๒ ล้อ เหมือนกับรถจักรยานขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์, ภาษาปากเรียก รถเครื่อง หรือ มอเตอร์ไซค์.

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย