บาลีวันละคำ

ครุธรรม (บาลีวันละคำ 1,681)

ครุธรรม

อยากทำหรืออยากเป็น?

อ่านว่า คะ-รุ-ทำ

ประกอบด้วย ครุ + ธรรม

(๑) “ครุ” (คะ-รุ) รากศัพท์มาจาก –

ก) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป; ลอยขึ้น) + อุ ปัจจัย

: ครฺ + อุ = ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เลื่อนไหลกว้างขวางไป” (2) “ผู้ลอยเด่น

ข) คิรฺ (ธาตุ = คาย, หลั่ง) + อุ ปัจจัย, ลบสระต้นธาตุ (คิรฺ > ครฺ)

: คิรฺ + อุ = คิรุ > ครุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้คายความรักให้หมู่ศิษย์” (2) “ผู้หลั่งความรักไปในหมู่ศิษย์

ครุ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) หนัก, น้ำหนักบรรทุก (heavy, a load)

(2) สำคัญ, ควรเคารพ, พึงเคารพ (important, venerable, reverend)

(3) คนที่ควรนับถือ, ครู (a venerable person, a teacher)

(๒) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

ครุ + ธมฺม = ครุธมฺม > ครุธรรม แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติอันหนัก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ครุธรรม” ว่า a rule to be observed (กฎที่จะต้องปฏิบัติ)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “ครุธรรม” เป็นอังกฤษว่า

ครุธรรม : (Garudhamma) (the eight) strict conditions or chief rules to be observed by the Buddhist nun throughout her life.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายขยายความคำว่า “ครุธรรม” ไว้ดังนี้ –

ครุธรรม : ธรรมอันหนัก, หลักความประพฤติสำหรับนางภิกษุณีจะพึงถือเป็นเรื่องสำคัญอันต้องปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ละเมิดตลอดชีวิต มี 8 ประการ คือ –

1. ภิกษุณีแม้บวชร้อยพรรษาแล้วก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชวันเดียว

2. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้

3. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถและเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน

4. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้ง 3 คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (รังเกียจ หมายถึง ระแวงสงสัยหรือเห็นพฤติกรรมอะไรที่น่าเคลือบแคลง)

5. ภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย (คือ ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) 15 วัน

6. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์สองฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา

7. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ

8. ไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้

…………..

อภิปราย :

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีสตรีปรากฏตัวในสถานภาพ “ภิกษุณี” ชุกชุมขึ้น และยังมีประเด็นถกเถียงกันว่าปัจจุบันสตรีสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้หรือไม่

เป็นที่ทราบและยอมรับ-แม้ในหมู่สตรีที่บวชเป็นภิกษุณีเอง-ว่า “ครุธรรม” เป็นเงื่อนไขสำคัญของการอยู่เป็นภิกษุณี แต่คนส่วนมากในสังคมแทบไม่รู้และไม่สนใจว่า “ครุธรรม” คืออะไร สำคัญอย่างไร นั่นก็คือ สนใจแต่การบวชเป็นภิกษุณี แต่ไม่สนใจที่จะรู้ว่าเป็นภิกษุณีแล้วต้องทำอะไรและห้ามทำอะไร

การปฏิบัติตามครุธรรมนั้น ทราบว่าบางสำนักใช้วิธีตีความ เช่น ครุธรรมข้อ 2 ว่า “ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้” (ภิกษุณีต้องอยู่ในวัดที่มีภิกษุเป็นผู้ปกครอง) ก็ตีความว่า เจตนารมณ์ของครุธรรมข้อนี้คือต้องการให้ภิกษุณีอยู่ในที่ปลอดภัย

สำนักที่ตั้งเป็นเอกเทศ (ไม่มีภิกษุปกครอง) อ้างว่าสำนักของตนมีรั้วรอบขอบชิดและมีการระวังป้องกันภัยเป็นอย่างดี จึงไม่ขัดต่อครุธรรมข้อนี้

จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ก็แล้วทำไมจึงไม่ไปอยู่ในวัดที่มีภิกษุปกครองให้ถูกต้องตรงตามครุธรรมเล่า?

และจึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่สตรีพยายามจะบวชเป็นภิกษุณีในเมืองไทย ทั้งๆ ที่มีปัญหาตั้งแต่ถกเถียงกันว่าตามพระธรรมวินัยแล้วบวชได้หรือไม่ ไปจนกระทั่งบวชแล้วปฏิบัติตามครุธรรมได้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เช่นนี้ เป็นเพราะอยากปฏิบัติธรรมให้สูงขึ้นไป หรือเพียงเพราะอยากเป็นภิกษุณีกันแน่?

…………..

: สังคมขาดคนทำจึงลำบาก

: อยากเป็นมากอยากทำน้อยไม่ค่อยเห็น

: ถ้าอยากให้สังคมเราร่มเย็น

: อย่าอยากเป็นให้มากกว่าอยากทำ

10-1-60