เสมอภาค
เสมอภาค
———-
“เสมอภาค” เป็นทฤษฎีทางสังคมชนิดหนึ่ง มีหลักการอยู่ว่า มนุษย์ย่อมมีความเสมอภาคกัน หมายความว่า ในทางสังคมไม่มีใครสูงไม่มีใครต่ำกว่ากัน ไม่มีผู้ใหญ่ไม่มีผู้น้อย ทุกคนเสมอภาคกัน ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่น
…………..
กล่าวเฉพาะทางพระพุทธศาสนา มีหลักคำสอนที่ระบุว่า ทุกคนเสมอภาคกันในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พูดภาษาธรรมดาว่า ทุกคนที่เกิดมาต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเสมอภาคกัน ไม่มีใครได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ หรือไม่ต้องตาย
ในจูฬกัมมวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๕๘๑ มีพระพุทธพจน์แสดงไว้ว่า –
กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย.
(กัมมัง สัตเต วิภะชะติ ยะทิทัง หีนัปปะณีตะตายะ)
แปล: กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและดีแตกต่างกัน
นั่นแสดงว่า เพราะการกระทำของตัวเอง มนุษย์จึงไม่อาจเสมอภาคกันไปหมดได้ทุกเรื่อง
ในแง่การปฏิบัติต่อกันสำหรับคนทั่วไป พระพุทธศาสนาสอนว่าให้มองทุกชีวิตว่าเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ที่รู้กันว่าเป็นการแผ่เมตตา แก่นแท้ของเมตตาคือการมองทุกชีวิตว่าเป็นมิตรรักของเราเสมอภาคกัน (เป็นความรู้สึกจากใจจริง ไม่ใช่ท่องบ่นจนจำได้)
ในแง่ปฏิบัติต่อกันเฉพาะบุคคลที่อยู่ในฐานะต่างๆ พระพุทธศาสนาสอนเรื่อง “ทิศหก” คือใครอยู่ในฐานะใด ก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามฐานะนั้นซึ่งแตกต่างกันไปตามฐานะของแต่ละบุคคล ในแง่นี้แสดงว่ามนุษย์ไม่ได้มีฐานะเสมอภาคกัน
ในแง่การประพฤติปฏิบัติธรรม พระพุทธศาสนาแสดงว่า ไม่ว่าบุคคลจะมีฐานะทางสังคมแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม เมื่อมาสู่พระธรรมวินัย มีศีลเสมอกัน มีสัมมาทิฐิเสมอกัน ปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผล ย่อมมีความเสมอภาคกันโดยธรรม
…………..
อย่างไรก็ตาม มีสุภาษิตบทหนึ่งในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ดังนี้ –
ยตฺถ อลโส จ ทกฺโข จ
สูโร ภีรุ จ ปูชิยา
น ตตฺถ สนฺโต วสนฺติ
อวิเสสกเร นเค.
ที่มา: เนรุชาดก ฉักนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๘๕๓
พากย์ไทยว่า –
ในที่ใด คนเกียจคร้านกับคนขยัน
คนกล้าหาญกับคนขลาด
ได้รับการยกย่องเสมอภาคกัน
สัตบุรุษย่อมไม่อยู่ในที่นั้น
อันเป็นที่ซึ่งไม่สามารถจะแยกคนให้ต่างกันได้
เพราะฉะนั้น —
: ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมกันให้มาก
: มนุษย์ก็เสมอภาคกันทันที
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๔
๑๑:๕๒