บาลีวันละคำ

ชาดก-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,422)

ชาดก-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย

อดีตชาติของพระพุทธเจ้า

อ่านว่า ชา-ดก

ชาดก” บาลีเป็น “ชาตก” อ่านว่า ชา-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก

(1) ชาต (เรื่องที่เกิดแล้ว) + เก (ธาตุ = ส่งเสียง, กล่าว, บอกเล่า) + (อะ) ปัจจัย, แปลง เอ ที่ เก เป็น อะ (เก >

: ชาต + เก = ชาตเก > ชาตก + = ชาตก แปลตามศัพท์ว่า “กล่าวถึงเรื่องอันเกิดมีในภพชาติก่อน

(2) ชา (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะกะ) 

: ชา + = ชาต + ณฺวุ > อก = ชาตก แปลตามศัพท์ว่า “(เรื่องหรือบุคคล) อันเกิดขึ้นแล้ว

ชาตก” (ชา-ตะ-กะ) ในภาษาไทยใช้เป็น “ชาดก” (ชา-ดก, ไทย เด็ก บาลี เต่า)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ชาดก : (คำนาม) เรื่องพระพุทธเจ้าที่มีมาในพระชาติก่อน ๆ ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ชื่อนี้, ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เป็น ๑ ใน ๙ ส่วนของคัมภีร์นวังคสัตถุศาสน์. (ป., ส. ชาตก). (ดู นวังคสัตถุศาสน์ ประกอบ).”

…………..

ขยายความ :

ชาดก” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย (คำเดิมสะกด ขุททกนิกาย) 

ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) 

5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย

ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม 

คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ชาดก” ไว้ดังนี้ –

…………..

ชาดก, ชาตกะ : “เครื่องเล่าเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเกิดมาแล้ว”, ชื่อคัมภีร์ในพระไตรปิฎก อันเล่าเรื่องพระชาติในอดีตของพระพุทธเจ้า เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งกำลังทรงบำเพ็ญบารมี มีจำนวนทั้งหมดตามตัวเลขถ้วนที่กล่าวในอรรถกถาทั้งหลายว่า ๕๕๐ ชาดก (นับตรงเลขว่า ๕๔๗ ชาดก แต่คนไทยมักพูดตัดเลขแค่หลักร้อยว่า พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ), จัดเป็นคัมภีร์ที่ ๑๐ แห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก.

เนื่องจากชาดกทั้งหมดในพระไตรปิฎก เป็นคาถาล้วนๆ (เว้นชาดกหนึ่งที่เป็นความร้อยแก้ว คือกุณาลชาดก) และโดยมากเป็นเพียงคำกล่าวโต้ตอบกันของบุคคลในเรื่อง พร้อมทั้งพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสรุปหรือแสดงคติธรรม อันเรียกว่าอภิสัมพุทธคาถาเท่านั้น ไม่ได้เล่าเรื่องโดยละเอียด ผู้อ่านเข้าใจได้ยาก จึงมีอรรถกถาขึ้นมาช่วยอธิบาย เรียกว่า “ชาตกัฏฐกถา” (เรียกให้ง่ายว่าอรรถกถาชาดก) ซึ่งขยายความออกไปมาก จัดเป็นเล่มหนังสือฉบับบาลีอักษรไทยรวม ๑๐ เล่ม เรื่องชาดกที่เรียนและเล่ากันทั่วไป ก็คือเล่าตามชาตกัฏฐกถานี้ แต่นักศึกษาพึงรู้จักแยกระหว่างส่วนที่มีในพระไตรปิฎก กับส่วนที่เป็นอรรถกถา.

…………..

เพิ่มเติม :

ชาดกทั้งหมดในพระไตรปิฎกเป็นคาถาล้วนๆ (“คาถา” คือกาพย์กลอนในภาษาบาลี) ชาดกที่มีคาถา 1 บท จัดเป็นกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “เอกนิบาต” (เอ-กะ-นิ-บาด) เรื่องที่มีคาถา 2 บท จัดเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “ทุกนิบาต” (ทุ-กะ–) จำนวนคาถาในแต่ละชาดกจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงเรื่องที่มีคาถาเกิน 80 บท จนถึง 1,000 บท เรียกว่า “มหานิบาต” 

ชาดกที่อยู่ในกลุ่ม “มหานิบาต” มีทั้งหมด 10 เรื่อง ที่เรียกกันว่า “พระเจ้าสิบชาติ” ชาดกที่คนไทยรู้จักกันดีที่สุดคือ “มหาเวสสันดรชาดก” มีคาถา 1,000 บท เวลาพระนำเอาเฉพาะคาถาในมหาเวสสันดรชาดกมาเทศน์ จึงมีคำเรียกว่า “เทศน์คาถาพัน

ระวังอย่าสับสน :

เรื่องราวบางเรื่องในพุทธประวัติ เช่น เรื่องพระองคุลีมาล เรื่องนางวิสาขา เป็นต้น ไม่ใช่ “ชาดก” แต่เป็นเรื่องในประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 2600 ปีที่ล่วงมา 

ชาดก” เป็นเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องในประวัติศาสตร์ชาติปัจจุบัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

คนเราเกิดมาแล้วหลายชาติ 

บางคนเชื่อ บางคนไม่เชื่อ

แต่ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ

ความจริงก็คงเป็นอย่างที่มันเป็น

หน้าที่ของเราคือศึกษาจนเข้าใจและเข้าถึงความจริง

: แล้วแก้ความเชื่อให้ตรงกับความจริง

: ไม่ใช่แก้ความจริงให้ตรงกับความเชื่อ

#บาลีวันละคำ (3,422)

25-10-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *