ครูกับศิษย์
ครูกับศิษย์
—————————-
ตามแนวคิดของคนโบราณ
…………..
เมื่อวันก่อน ได้อ่านข้อความที่นักเรียนบาลีท่านหนึ่งเรียกอาจารย์ผู้สอนบาลีท่านหนึ่งว่า “อาจารย์พ่อ”
อ่านแล้วรู้สึกชุ่มชื่นในหัวใจ
คนโบราณท่านว่าหัวใจของคนเรามีน้ำเลี้ยงอยู่
ถ้าน้ำเลี้ยงแห้ง หัวใจจะหดหู่ห่อเหี่ยว
ถ้าน้ำเลี้ยงเต็ม หัวใจจะชุ่มชื่น
เรื่องบางเรื่องเหมือนมาช่วยเติมน้ำเลี้ยงหัวใจ
ขออนุญาตนำเรื่องนี้มาเป็นข้อปรารภเพื่อขยายความสู่กันฟัง
——————
คำเก่าของไทย เรียกศิษย์ว่า “ลูกศิษย์”
ผมจินตนาการความหมายเอาเองว่า-หมายถึงศิษย์ที่รักเหมือนลูก
คือบรรดาความรักของสัตวโลกนั้น พ่อแม่รักลูกเป็นสุดยอดของความรัก เป็นความรักที่ยอมสละให้ได้ทั้งหมดอย่างไม่คิดชีวิต
ผมเคยเห็นเหยี่ยวโฉบลูกไก่ แล้วแม่ไก่โผบินตามเหยี่ยวขึ้นฟ้าแบบไม่คิดชีวิต
ธรรมชาติของไก่บินไม่ได้เหมือนนก ไหนเลยจะตามเหยี่ยวทัน
จะเป็นเพราะตกใจหรืออะไรก็ไม่รู้ เหยี่ยวปล่อยลูกไก่หล่นลงมา แม่ไก่ก็โผตามลูกลงมา
ผมเห็นเหตุการณ์นี้ตั้งแต่เป็นเด็ก แต่ยังจำภาพได้ติดตาติดใจ
……………
ถ้าเอาความรักเหมือนลูกเป็นเพดาน หรือเป็นมาตรฐาน แล้วปรับความสัมพันธ์ระหว่างคนที่มีฐานะเหนือกว่ากับคนคนที่มีฐานะต่ำกว่าไปสู่ความสัมพันธ์-เหมือนพ่อแม่กับลูก
สังคมจะอยู่กันอย่างปลอดภัยและอบอุ่น
ผมเห็นว่าคนโบราณใช้หลักนี้ คือรักคนคราวลูกเหมือนกับรักลูก
นอกจากลูกของตนเอง คนโบราณแผ่ความรักอย่างลูกไปถึงคนอื่นๆ ด้วย
จะเห็นได้จากคำบางคำในภาษาไทย เรียกคนที่ไม่ใช่ลูก แต่รักเหมือนลูก เช่น –
“ลูกจ้าง” = คนที่จ้างมาทำงาน-ที่รักเหมือนลูก
“ลูกน้อง” = คนมีอายุคราวน้อง-ที่รักเหมือนลูก
“ลูกมือ” = คนช่วยงานใกล้ตัว-ที่รักเหมือนลูก
“ลูกเลี้ยง” = ไม่ใช่ลูก แต่เลี้ยงมาเหมือนลูก
แม้กระทั่ง “ลูกค้า” = ผู้ซื้อของหรือผู้ใช้บริการ ที่ผู้ประกอบการมีความรู้สึกรักเหมือนพ่อแม่รักลูก คืออยากให้ได้ของดีๆ ได้บริการที่ดี
และ-ลูกศิษย์ = ศิษย์-ที่รักเหมือนลูก
ครูบาอาจารย์ย่อมรักศิษย์เหมือนกับรักลูกของตัวเอง เราจึงมีคำว่า “ลูกศิษย์”
ผมเกิดในสมัยที่สังคมยังมีค่านิยมแบบโบราณอยู่อย่างมากและอย่างหนักแน่น
นักเรียนสมัยผม เมื่อแรกเข้าโรงเรียน พ่อแม่จะเป็นผู้พาไปฝากครู
คำพูดที่พ่อแม่ทุกคนจะบอกครูเหมือนกันหมดก็คือ “ยกให้เป็นลูกครู อนุญาตให้ดุด่าว่ากล่าวเฆี่ยนตีได้ทุกอย่าง”
ที่ถือขลังขึ้นมาหน่อย ก็จะเลือกวันพฤหัสบดีซึ่งถือกันว่าเป็น “วันครู” จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พานพาลูกไปมอบตัวให้ครู
เวลาลูกสอบเข้าเรียนที่ไหนได้ คนเก่าๆ ยังพูดกันติดปากว่า “มอบตัวเมื่อไร”
เดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดว่า “มอบตัว” กันอีกแล้วกระมัง
นักเรียนสมัยผม ครูคือพ่อแม่คนที่สอง มีอะไรเกิดขึ้นกับนักเรียน ครูจะตามไปถึงบ้าน
เด็กคนไหนถูกครูตี ไปฟ้องพ่อแม่ จะถูกพ่อแม่ตีซ้ำ – นี่เป็นเรื่องธรรมดาที่รู้กันดี
ผมเป็นเด็กวัด ตอนผมสอบไล่ประถม ๔ ไม่มีเงินซื้อกระดาษฟุลสแก๊ปเพื่อเขียนข้อสอบ
ผมแก้ปัญหาแบบเด็ก คือไม่ไปโรงเรียน
วันนั้นครูเที่ยง-ครูประจำชั้น-ควบคุมดูแลเด็กชั้น ป.๔ ให้เข้าสอบ เหมือนแม่ไก่ดูแลลูกไก่นั่นแหละ
นับลูก ขาดไปตัวหนึ่ง
จะไปตามเอง ก็ห่วงลูกทั้งเล้า
วานเด็กวัดรุ่นพี่ให้ไปตามในวัด
รุ่นพี่ลากคอผมออกมาจากส้วมสำนักชี พาไปส่งครูเที่ยง เสื้อไม่ใส่ รองเท้าไม่ (มี) สวม นุ่งกางเกงหูรูดตัวเดียว
ลากไปส่งหน้าห้อง
ผมยังไม่ทันนั่งเต็มตูด
ฝ่ามือครูเที่ยงฟาดเต็มขมับ
ผมถลาไปฟุบกลางห้องท่ามกลายสายตาเพื่อนนักเรียนร่วมชั้น
“ไปใส่เสื้อ แล้วมาสอบเดี๋ยวนี้” ครูเที่ยงประกาศิต ทำท่าจะตามมาซ้ำอีกฉาด
นึกถึงเรื่องนี้ เห็นภาพตัวเองถูกครูเที่ยงตบเต็มขมับ
กระเด็นจากโรงเรียนวัดหนองกระทุ่ม
มาเป็นพระมหาทองย้อย วรกวินฺโท เปรียญธรรม ๙ ประโยค สำนักวัดมหาธาตุ ราชบุรี
กระดอนไปเป็นนาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย อนุศาสนาจารย์แห่งราชนาวีไทย
ผมถือว่าเป็น “ฝ่ามืออรหันต์” ที่แท้จริง
เรื่องนี้ผมเคยเขียนเล่าแล้ว ไม่ลืมหรอกครับ แต่อยากเล่าอีก เพื่อเติมน้ำเลี้ยงหัวใจ
——————
ครูสมัยก่อนรักศิษย์เหมือนลูกแท้ๆ
ครั้งหนึ่งเมื่อเป็นครูเป็นศิษย์กันแล้ว
ก็จะเป็นเช่นนั้นตลอดกาล
ทุกเวลา ทุกสถานที่
เดี๋ยวนี้ ครูตีนักเรียนไม่ได้
“ลูกข้า ครูอย่าแตะ”
มีเหตุผล มีงานวิจัยสารพัดที่จะยืนยันว่าครูไม่จำเป็นต้องตีเด็ก
แม้แต่คำว่า “ลูกศิษย์” ก็ไม่มีใครพูดแล้ว
ตัดเหลือแค่ “ศิษย์” คำเดียว
ฉันไม่ใช่ลูกคุณ
คุณไม่ใช่พ่อแม่ฉัน
คุณเป็นแค่ “คนรับจ้างสอน”
ฉันจ่ายเงินเดือนให้คุณแล้ว
คุณรับค่าจ้างไปแล้ว
จบ
จากสมัยก่อน ครูตามลูกศิษย์ไปจนถึงบ้าน
มาถึงสมัยนี้ ครูตามนักเรียนได้แค่ภายในรั้วโรงเรียน
นอกโรงเรียน ไม่ใช่หน้าที่
เดี๋ยวนี้ แม้ภายในโรงเรียนนั่นเองก็ทำได้แค่ภายในห้องเรียนเท่านั้น
และทำเฉพาะหน้าที่ “บอกวิชา” เท่านั้น
เรื่องอื่น-ขอโทษ-อย่าเสือก
ยิ่งในระดับอุดมศึกษาด้วยแล้ว ชัดเจนที่สุด
จากความรักความผูกพันเหมือนพ่อแม่กับลูก
เหลือเพียงแค่-คนขายวิชากับคนซื้อวิชา-เท่านั้น
อาจมียกเว้นเฉพาะบางท่าน บางคน ในระดับจุลภาค
แต่ในระดับมหภาคแล้ว มันคือภาพแห่งความจริง
ไม่ว่ามันจะมีสาเหตุมาจากใครหรือจากอะไรก็ตาม แต่พูดได้โดยไม่ผิดว่า ทุกฝ่ายต่างช่วยกันทำให้มันเกิดขึ้น
และกำลังเดินหน้าต่อไปอย่างรวดเร็ว
ไม่มีใครบอกได้ว่า —
จากสถานะเหมือนพ่อแม่กับลูกเมื่อวันวาน
มาเป็นคนขายวิชากับคนซื้อวิชาในวันนี้
แล้วจะเป็นอะไรต่อกันในวันพรุ่ง
แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร สถานะนั้นจะห่างจากความรักความผูกพันเหมือนพ่อแม่กับลูกออกไปมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ
และนั่นหมายถึงห่างจากความเป็นมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ
——————
ในวงการพระสงฆ์ พระภิกษุสามเณรยังดำรงความเคารพพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ (พระคู่สวด) อยู่อย่างแน่นแฟ้น
คนรุ่นเก่าท่านถือว่า –
พระอุปัชฌาย์คู่สวดเหมือนพ่อแม่
พระภิกษุสามเณร-รวมไปถึงคฤหัสถ์-ที่ทำหน้าที่สอนพระปริยัติธรรมให้เรา คือครูบาอาจารย์ที่ต้องเคารพอย่างยิ่ง
ท่านจึงดำรงความเคารพนับถือไว้อย่างสูงสม่ำเสมอ ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยังอยู่ในสมณเพศหรือลาสิกขาไปแล้วก็ตาม
นับเป็นวัฒนธรรมที่มีคุณค่าสูงยิ่งในพระพุทธศาสนา
ชาววัด-อันหมายถึงผู้ที่ยังอยู่ในวัด ผู้เคยอยู่วัด ผู้ได้ดีและรอดตายไปจากวัด-จะดำรงรักษาสมบัติล้ำค่า-อันเป็นเครื่องแยกคนให้ต่างจากสัตว์-นี้ไว้ได้นานแค่ไหนเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับว่ามีอุดมคติ มีอุดมการณ์ และมีสำนึกมากน้อยแค่ไหน
เราเป็นเรา เราพิลาส
เราตามเขา เราพินาศ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๐ มีนาคม ๒๕๖๑
๑๖:๒๙
————
คำอธิบายภาพประกอบ
Phramaha Kriangsak Warakitti
ข้อความนี้คือที่มาของภาพถ่ายนะโยมอาจารย์อาตมาก็รู้สึกคุ้นๆมากเหมือนกับกับภาพนี้ว่าเป็นเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ พระธรรมเจดีย์ รูปปัจจุบัน เมื่อเกือบ 32 ปีมาแล้วครั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระกิตติสารเมธี อาจารย์ได้ภาพถ่ายนี้มายังไง
“ถ่ายเมื่อปี2529 ที่กุฏิพระปริยัตยานุรักษ์ ชั้นบน คณะ10 สามเณรซ้ายมือสามเณรสุรหงษ์ โคกเลาะ กำแพงเพชร ขวาสามเณรสุพจน์ พิมพ์รัตน์ ร้อยเอ็ด คนถ่ายแฟนพี่อ๋าลูกคุณมณฑล ครับผม”
จากเพจ ศรีมงคล