บาลีวันละคำ

สัมมาอาชีวะ (บาลีวันละคำ 3,561)

สัมมาอาชีวะ

องค์ที่ห้าของมรรคมีองค์แปด

อ่านว่า สำ-มา-อา-ชี-วะ

ประกอบด้วยคำว่า สัมมา + อาชีวะ

(๑) “สัมมา” บาลีเป็น “สมฺมา” (สำ-มา) 

สมฺมา” รากศัพท์มาจาก สมุ (ธาตุ = สงบ) + ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, ซ้อน มฺ, ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สมุ > สม + = สมฺม + = สมฺม + อา = สมฺมา แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องสงบ

หมายเหตุ :

สมฺมา” ตามรากศัพท์นี้ หมายถึง สลักของแอก (a pin of the yoke)

สมฺมา” ที่กำลังกล่าวถึงนี้น่าจะมีรากศัพท์เดียวกัน

——-

สมฺมา” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อัพยยศัพท์” คือคำที่คงรูป ไม่เปลี่ยนรูปไปตามวิธีแจกวิภัตติ แต่อาจเปลี่ยนตามวิธีสนธิได้บ้าง และทำหน้าที่เป็นคุณศัพท์ ขยายคำอื่น ไม่ใช้ตามลำพัง

สมฺมา > สัมมา” แปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ในทางดี, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)

คำที่ใช้ “สัมมา” นำหน้า ที่เราคุ้นกันดีก็เช่น สัมมาสัมพุทโธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัมมาทิฐิ

คำที่ตรงกันข้ามกับ “สัมมา” ก็คือ “มิจฉา” (มิด-ฉา) แปลว่า ผิด, อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong–, false)

(๒) “อาชีวะ

เขียนแบบบาลีเป็น “อาชีว” อ่านว่า อา-ชี-วะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + (อะ) ปัจจัย

: อา + ชีวฺ = อาชีว + = อาชีว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” คือ “การเลี้ยงชีวิต” 

อาชีว” ในภาษาไทย แผลง เป็น เป็น “อาชีพ” แต่ที่คงเป็น “อาชีว” ก็มี โดยเฉพาะเมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่น “อาชีวศึกษา

สังเกตการให้ความหมาย :

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาชีว” ว่า livelihood, mode of living, living, subsistence (การทำมาหากิน, วิถีดำรงชีวิต, ความเป็นอยู่, อาชีวะ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อาชีว : (คำนาม) เครื่องอาศรัยเลี้ยงชีพ, เครื่องอาศรัย; livelihood, subsistence, means of living.”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ว่า –

(1) อาชีพ, อาชีวะ : n. adj. a trade, an occupation, a vocation, a profession; professional (boxer)

(2) อาชีวศึกษา : n. vocational training, vocational education

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาชีพ, อาชีว-, อาชีวะ : (คำนาม) การเลี้ยงชีวิต, การทํามาหากิน; งานที่ทําเป็นประจําเพื่อเลี้ยงชีพ. (ป., ส.).”

จะเห็นได้ว่า “อาชีวอาชีพ” ความหมายตามบาลีสันสกฤตเน้นไปที่ “การมีชีวิตรอด” (ยังไม่ตาย) ซึ่งเป็นความหมายเดิมแท้ แต่ความหมายตามภาษาไทยและที่แปลออกจากภาษาไทยเน้นไปที่ “การประกอบอาชีพ” (การทำงาน)

สมฺมา + อาชีว = สมฺมาอาชีว (สำ-มา-อา-ชี-วะ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “สัมมาอาชีวะ” แปลตามสำนวนนิยมว่า “การเลี้ยงชีพชอบ” หมายถึง หาเลี้ยงชีพในทางที่ถูกต้อง

“ชอบ” ในภาษาไทยมักหมายถึง ถูกใจ หรือ like

“ชอบ” ในภาษาบาลีหมายถึง ถูกต้อง หรือ right

สัมมาอาชีวะ” เป็นองค์หนึ่งในหลักธรรมที่เรียกว่า “มรรคมีองค์แปด” อันประกอบด้วย (1) สัมมาทิฏฐิ (2) สัมมาสังกัปปะ (3) สัมมาวาจา (4) สัมมากัมมันตะ (5) สัมมาอาชีวะ (6) สัมมาวายามะ (7) สัมมาสติ (8 ) สัมมาสมาธิ

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎกท่านให้คำจำกัดความคำว่า “สัมมาอาชีวะ” ไว้ดังนี้ – 

…………..

กตโม  จ  ภิกฺขเว  สมฺมาอาชีโว  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาอาชีวะคืออย่างไร

อิธ  ภิกฺขเว  อริยสาวโก  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้

มิจฺฉาอาชีวํ  ปหาย

ละความเลี้ยงชีพผิดเสียแล้ว 

สมฺมาอาชีเวน  ชีวิกํ  กปฺเปติ

ย่อมสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพชอบ

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขเว  สมฺมาอาชีโว  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่าสัมมาอาชีวะ

ที่มา: มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค 

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 299

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [293] สรุปความหมายของ “สัมมาอาชีวะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ — Sammā-ājīva: Right Livelihood)

…………..

ขยายความว่า –

มิจฉาชีพ คือการหาเลี้ยงชีพในทางทุจริต (wrong livelihood)

สัมมาชีพ คือการหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต (right means of livelihood) 

ในพระไตรปิฎกท่านให้คำจำกัดความคำว่า “มิจฉาอาชีวะ” ไว้ดังนี้ – 

…………..

กตโม  จ  ภิกฺขเว  มิจฺฉาอาชีโว  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิจฉาอาชีวะคืออย่างไร

กุหนา = การโกง 

ลปนา = การล่อลวง 

เนมิตฺตกตา = การตลบตะแลง 

นิปฺเปสิกตา = การทำอุบายโกง 

ลาเภน  ลาภํ  นิชิคึสนตา = การเอาลาภต่อลาภ (เอาผลประโยชน์เข้าล่อ)

อยํ  ภิกฺขเว  มิจฺฉาอาชีโว  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่ามิจฉาอาชีวะ

ที่มา: มหาจัตตารีสกสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ 

พระไตรปิฎกเล่ม 14 ข้อ 275

…………..

สรุปว่า “สัมมาอาชีวะ” หมายถึง การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต ไม่ผิดกฎหมายและไม่ผิดศีลธรรม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หาได้เก่งหาได้มากแค่ไหน 

ก็กินใช้อิ่มได้แค่ชาติเดียว

: โทษที่เกิดจากการหาผิดทางผิดธรรม 

จะทำให้หิวโหยระห่ำไปทุกภพทุกชาติ

: บอกให้รู้

ไม่ได้ขู่ให้เชื่อ

: เชื่อหรือไม่เชื่อไม่ต้องกลัว

เพราะต้องเจอกับตัวอยู่แล้วทุกคน

#บาลีวันละคำ (3,561)

13-3-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *