บาลีวันละคำ

ออเจ้า (บาลีวันละคำ 2,097)

ออเจ้า

บาลีว่าอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ออเจ้า : (คำโบราณ) (คำสรรพนาม) คําใช้แทนชื่อผู้ที่เราพูดด้วย เช่น ทชีก็ปรับทุกข์ร้อนทางจะอวดมีว่า ออเจ้าเอ๋ยออเจ้าเราค่อยมั่งมีขึ้นถึงเพียงนี้มีเสียกว่าออเจ้า. (ม. คําหลวง ชูชก), เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒.”

ที่คำว่า “บุรุษ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุรุษ, บุรุษ– : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ; (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คำสรรพนามบอกผู้พูด เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๑, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดด้วย เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๒, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดถึง เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๓. (ส. ปุรุษ; ป. ปุริส).”

“คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดด้วย” หรือ “คําใช้แทนชื่อผู้ที่เราพูดด้วย” ซึ่งไวยากรณ์ไทยเรียกว่า “สรรพนามบุรุษที่ ๒” นี้ บาลีใช้คำว่า “มัชฌิมปุริสะ” (มัด-ชิ-มะ-ปุ-ริ-สะ) หรืออิงรูปคำสันสกฤตว่า “มัธยมบุรุษ” (มัด-ทะ-ยม-บุ-หฺรุด)

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ทรงรจนาตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนไทยใช้เรียน แปลคำนี้ว่า “ชายมีในท่ามกลาง

คำสรรพนามมัธยมบุรุษในภาษาบาลีคือ “ตุมฺห” (ตุม-หะ หรือ ตุม-หฺมะ) สำนวนไวยากรณ์นิยมพูดว่า “ตุมฺห ศัพท์” (ตุม-หะ สับ) คำแปลตามสำนวนในบาลีไวยากรณ์คือ “เจ้า, ท่าน, สู, เอ็ง, มึง” ตามฐานะของผู้ที่เราพูดด้วย

ตุมฺห” เมื่อนำไปใช้ในรูปประโยคต้องแจกด้วยวิภัตตินามตามสูตร นั่นคือเปลี่ยนรูปเป็นต่างๆ ตามหน้าที่ของคำในประโยค (หมายถึง-ตามแต่ข้อความที่ประสงค์จะพูด)

เช่น ถ้า “ตุมฺห” ทำหน้าที่เป็นประธานในประโยค

– ประธานเอกพจน์ “ตุมฺห” เปลี่ยนรูปเป็น “ตฺวํ” (ตวง) หรือ “ตุวํ” (ตุ-วัง)

– ประธานพหูพจน์ “ตุมฺห” เปลี่ยนรูปเป็น “ตุมฺเห” (บางทีสะกดเป็น “ตุเมฺห” (ตุม-เห หรือ ตุม-เหฺม) หรือ “โว

ข้อสังเกตจริงๆ :

ข้อความในคำนิยามคำว่า “ออเจ้า” ในพจนานุกรมฯ ตรงที่ว่า –

“ทชีก็ปรับทุกข์ร้อนทางจะอวดมีว่า ออเจ้าเอ๋ยออเจ้าเราค่อยมั่งมีขึ้นถึงเพียงนี้มีเสียกว่าออเจ้า. (ม. คําหลวง ชูชก)”

ตรวจดูในมหาชาติคำหลวง กัณฑ์ชูชกแล้ว ไม่พบข้อความนี้

แต่ข้อความนี้พบว่ามีอยู่ใน “ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์ชูชก (ดูภาพประกอบ)

ข้อสังเกตเล่นๆ :

ในภาษาไทย “ออเจ้า” หรือ “เจ้า” ใช้กับคนที่เราพูดด้วย เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 ( = You)

แต่มีคำภาษาถิ่น-พายัพ ว่า “ข้าเจ้า” เป็นคําใช้แทนตัวผู้พูด, เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 ( = I)

ในภาษาไทย คำว่า “ข้า” กับ “เจ้า” มีความหมายเป็น 2 นัยทั้ง 2 คำ

ข้า” นัยหนึ่งหมายถึง ข้าพเจ้า, ฉัน คือ I

ข้า” อีกนัยหนึ่งหมายถึง บ่าว, คนรับใช้ (a slave, a servant)

เจ้า” นัยหนึ่งหมายถึง ท่าน, เธอ (คนที่เราพูดด้วย) คือ You

เจ้า” อีกนัยหนึ่งหมายถึง เจ้านาย (a prince, a king)

จะเห็นว่า “ข้า” กับ “เจ้า” มีความหมายตรงกันข้ามคู่กันทั้ง 2 คำ 2 คู่

ข้า” กับ “เจ้า” = ฉันกับเธอ

ข้า” กับ “เจ้า” = บ่าวกับนาย

ข้าเจ้า” หรือ “ข้า” กับ “เจ้า” จึงมีทั้งความต่ำต้อยและความยิ่งใหญ่อยู่ในคำเดียวกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บุคคลที่รู้จักยอม

: คือผู้ที่พร้อมจะใหญ่

————————

(หมายเหตุ: ขอฉวยโอกาส โหนกระแสเป็นสื่อสู่ ส่งความรู้แก่ญาติมิตร)

#บาลีวันละคำ (2,097)

10-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย