บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คนที่เราเห็น

คนที่เราเห็น

————-

อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด

………..

ขอเรียนถามญาติมิตรทั้งปวงด้วยความเคารพว่า ทองย้อย แสงสินชัย ในห้วงคิดคำนึงของท่านคือใคร? 

เหตุที่ต้องตั้งคำถามนี้เนื่องมาจากมีเหตุ-เหตุทำนองเดียวกัน-เกิดขึ้นแก่ผมเป็นครั้งที่ ๓ ในชีวิต

ตามวัฒนธรรมพุทธ ท่านว่าอะไรก็ตามถ้าถึงขั้น ตติยมฺปิ (ตะติยัมปิ = แม้ครั้งที่สาม) ก็หมายความว่าถึงที่สุด นั่นคือตัดสินได้เลยว่า-ใช่แล้ว

——————

ครั้งที่ ๑ – เมื่อหลายปีมาแล้ว เย็นวันหนึ่งผมขึ้นไปสวดมนต์บนวิหารหลวงวัดมหาธาตุ ราชบุรี

ขอเล่าภูมิหลังนิดหนึ่ง กล่าวคือพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุท่านปรารภกับทายกทายิกาว่า ตอนท่านเป็นเด็กเคยเห็นชาวบ้าน-พอเลิกการเลิกงานตอนเย็น กินข้าวกินปลาเสร็จแล้ว ใครว่างก็จะเดินไปวัด ไปไหว้พระ แล้วก็สวดมนต์กันทุกเย็น ท่านก็อยากให้วัดมหาธาตุมีบรรยากาศแบบนั้นบ้าง อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาเข้าพรรษา 

แล้วท่านก็บอกให้ผมลองไปพิจารณาดู

ผมก็จัดแจงจัดหาจัดทำบทสวดมนต์เย็นสำหรับชาวบ้าน แล้วอาศัยคำปรารภของหลวงพ่อชักชวนญาติโยม-โดยเฉพาะคนข้างวัด-ไปสวดมนต์เย็นกัน เริ่มตั้งแต่หลังวันเข้าพรรษาเป็นต้นไป ตกลงกันว่าจะสวดกันเรื่อยไปจนออกพรรษา แม้ออกพรรษาแล้วก็จะสวดต่อไปเรื่อยๆ 

แรกๆ ก็มีสมาชิกคับคั่งดี 

แล้วก็ค่อยๆ เบาบางลง 

พอออกพรรษาก็ชักโหรงเหรง 

ไปๆ มาๆ ก็เหลือผมคนเดียว 

คนเดียวผมก็สวด-สวดออกเครื่องขยายเสียงเหมือนกับที่เคยสวดกันหลายๆ คนนั่นเลย

จนกระทั่งถึงเย็นวันหนึ่ง-ดังที่ผมเริ่ม

บนวิหารหลวงวัดมหาธาตุราชบุรีนั้นมีคนขึ้นไปไหว้พระอยู่เสมอ ทั้งคนใกล้และคนไกล 

วันหนึ่งที่ว่านั้น ขณะที่ผมกำลังสวดมนต์ออกเครื่องขยายเสียงอยู่คนเดียวนั้น ก็มีสุภาพสตรีคนขึ้นไปไหว้พระ พอผมสวดจบ กราบลาพระรัตนตรัยเรียบร้อย สุภาพสตรีผู้นั้นก็ยื่นธนบัตรราคา ๑๐๐ บาทให้ผม ๑ ใบ พร้อมกับบอกว่า “ทำบุญให้คุณลุงค่ะ” 

ผมเข้าใจว่าบุคลิกผมคงเหมือนคนใฝ่บุญที่รอให้คนมาทำทาน-น่าสงสารนะ อุตส่าห์มาสวดมนต์ ทำบุญให้แกไปหน่อยเถอะ-ประมาณว่าชวนให้คนทั้งหลายคิดอย่างนี้ 

ผมรับเงินมาด้วยความขอบคุณอย่างยิ่ง อนุโมทนาสาธุกับท่านผู้บริจาค ซึ่งน่าจะยิ่งทำให้แน่ใจหนักขึ้นว่าผมเป็นคนประเภท-มาสวดมนต์แลกเงิน-ประมาณนั้น 

รอจนใครๆ ลงไปจากวิหารหลวงหมดแล้ว ผมก็เอาธนบัตรฉบับนั้นใส่ตู้รับบริจาค แล้วก็อุทิศบุญให้แก่เจ้าของธนบัตรด้วยความเปรมปรีดี 

——————

ครั้งที่ ๒ – เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๐ ผมขึ้นไปไหว้พระสี่มุมเมืองบนยอดเขาแก่นจันทน์ 

ไหว้พระแล้วก็ตั้งใจจะถ่ายรูปพระสี่มุมเมืองแบบชัดๆ แต่ ณ เวลานั้นยังมีท่านอื่นๆ จากคณะอื่นกำลังปิดทององค์พระกันอยู่ขวักไขว่ ผมก็ยืนสงบรอจังหวะอยู่ข้างประตูวิหาร

ท่านสุภาพบุรุษหนุ่มใหญ่วัยอ่อนกว่าผมสักเล็กน้อยท่านหนึ่งเมื่อปิดทองเสร็จก็เดินมาหาผม ควักธนบัตรราคา ๑๐๐ บาทยัดใส่มือผม เป็นกิริยาแทนคำพูดว่า “เก็บไว้ใช้นะ” เหมือนกับที่คนใจบุญทั้งหลายมาไหว้พระแล้วให้รางวัลคนเฝ้าวิหารหรือเฝ้าศาลานิยมทำกัน

ท่านสุภาพบุรุษผู้นั้นจากผมไปด้วยกิริยาร่าเริง แต่ท่านกับคณะก็ยังเดินชมนั่นนี่อยู่อีกพักใหญ่ ทำให้ผมจำต้องยืนสงบรับบทคนเฝ้าวิหารอยู่ตรงนั้น ไม่กล้าลงมาด้านล่าง

ผมรอจนท่านผู้นั้นกับคณะออกจากลานจอดรถบนเขาแก่นจันทน์เรียบร้อยแล้ว จึงหย่อนธนบัตรฉบับเมตตาจิตนั้นลงในตู้รับบริจาค ตั้งกุศลจิตแผ่ส่วนบุญทั้งหมดให้เจ้าของธนบัตรนั้น 

เรื่องนี้ผมเขียนเล่าไว้แล้วในเรื่อง “เมื่อผมเป็นคนเฝ้าวิหารพระสี่มุมเมือง” ท่านที่ประสงค์จะทราบรายละเอียด โปรดตามไปอ่านที่ลิงก์ข้างล่างนี้

—————————————————————

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1349626405131093

—————————————————————

ครั้งที่ ๓ – เหตุเกิดเมื่อเช้านี้เอง (๒๘ เมษายน ๒๕๖๑) 

ผมเดินออกกำลังตามปกติ แวะเข้าไปไหว้พระในวัดมหาธาตุตามปกติ แล้วก็เลยไปสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสตามปกติอีกเช่นกัน 

ระหว่างนั้นก็มีท่านผู้สูงอายุ-เป็นสามีกับภรรยา-นำภัตตาหารมาถวายหลวงพ่อ ผมจำได้ว่าท่านเป็นคนที่คุ้นเคยกับหลวงพ่อ เคยเห็นมาที่วัดนี้หลายครั้งแล้ว 

จากการกระซิบถาม ได้ความว่าคุณพี่ผู้ชายอายุ ๘๔ คุณพี่ผู้หญิงก็น่าจะอ่อนกว่าเล็กน้อย ขับรถมากันเอง คุณพี่ผู้หญิงออกจะขลุกขลักหน่อย ต้องถือไม้เท้าเดินลากเท้าไปทีละก้าวสั้นๆ 

ตอนที่ทั้งคู่มาถึงนั้น หลวงพ่อกำลังทำกิจอยู่อีกทางหนึ่ง แต่พอดีผมอยู่ใกล้กว่า พอเห็นสตรีสูงอายุถือไม้เท้า ผมก็เข้าไปปฏิสันถาร ช่วยรับของ บอกคนวัดที่เป็นผู้หญิงให้ช่วยพาไปนั่งตรงมุมศาลาที่หลวงพ่อใช้เป็นที่นั่งคุยกับญาติโยม

หลวงพ่อมารับประเคนภัตตาหารแล้วสนทนากับสองสามีภรรยาอยู่พักหนึ่ง ผมก็นั่งอยู่ด้วย เมื่อถึงเวลากลับ ผมก็หิ้วตะกร้าตามมาส่งจนถึงรถ ช่วยเปิดประตูรถให้คุณพี่ผู้หญิง พอนั่งเรียบร้อย ยังไม่ทันปิดประตูรถ ท่านก็เอาธนบัตรราคา ๒๐ บาท พับสอง ใส่มือผม พลางพูดว่า “อย่าคิดว่าเป็นยังงั้นยังงี้นะ” 

ผมรับธนบัตรไว้แล้วกล่าวขอบคุณอนุโมทนา ปิดประตูรถอย่างนอบน้อม-ภาพเด็กบริการตามลานจอดรถแจ่มชัดขึ้นในใจ 

ขากลับ ผมก็แวะไปที่วิหารหลวง เอาธนบัตรราคา ๒๐ บาทฉบับนั้นใส่ตู้บริจาค ตั้งอารมณ์ว่าตัวเองเป็นผู้รับใช้ในกิจของทานบดี ส่วนบุญนี้จงเป็นของท่านผู้บริจาคทรัพย์นั้นเทอญ

——————

จึงขอเรียนถามญาติมิตรทั้งปวงด้วยความเคารพว่า ทองย้อย แสงสินชัย ในห้วงคิดคำนึงของท่านควรจะเป็นคนเช่นไร? 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ เมษายน ๒๕๖๑

๑๓:๒๗

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *