บาลีวันละคำ

พุทธธรรมดา (บาลีวันละคำ 2,147)

พุทธธรรมดา

เรื่องของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นเช่นนั้นเอง

อ่านว่า พุด-ทะ-ทำ-มะ-ดา

ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + ธรรมดา

(๑) “พุทธ

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

(๒) “ธรรมดา

คำนี้มาจากบาลีว่า “ธมฺมตา” อ่านว่า ทำ-มะ-ตา รากศัพท์มาจาก ธมฺม + ตา

ธมฺมธรรม” แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้” มีความหมายหลายหลาก ความหมายกลางๆ ในที่นี้ คือ ธรรมชาติ ธรรมดา ปกติ

ตา” เป็นคำทางไวยากรณ์ ใช้ต่อท้ายศัพท์ ทำให้เป็นคำนาม แปลว่า “ความเป็น–”

เทียบกับภาษาอังกฤษอาจเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น

happy แปลว่า สุข สบาย

happiness แปลว่า ความสุข

“-ตา” ก็เหมือน -ness นั่นแหละ

: ธมฺม + ตา = ธมฺมตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งธรรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมตา” ว่า

(1) conformity to the Dhamma-niyāma, fitness, propriety; a general rule, higher law, cosmic law, general practice, regular phenomenon, usual habit (การทำตามธรรมนิยาม, ความเหมาะสม, ความสมควร, หลักทั่วไป กฎเกณฑ์ชั้นสูง, กฎของจักรวาล, ข้อปฏิบัติทั่ว ๆ ไป, ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ, ปกตินิสัย)

(2) it is a rule, it is proper, one should expect (สิ่งที่เป็นกฎ, สิ่งที่เป็นความถูกต้องหรือเหมาะ, คนเราควรคาดหมาย)

ธมฺมตา ใช้ในภาษาไทยว่า “ธรรมดา

พจนานุกรมไทย-อังกฤษ ของ สอ เสถบุตร แปล “ธรรมดา” ว่า n. adj. natural, universal (laws), ordinary (man, matter), routine (work), usual (habit)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธรรมดา : (คำนาม) อาการหรือความเป็นไปแห่งธรรมชาติ เช่น การกิน การถ่ายเท การสืบพันธุ์ และการเสื่อมสลาย. (คำวิเศษณ์) สามัญ, พื้น ๆ, ปรกติ, เช่น เป็นเรื่องธรรมดา. (ส. ธรฺมตา; ป. ธมฺมตา).”

พุทฺธ + ธมฺมตา = พุทฺธธมฺมตา > พุทธธรรมดา แปลว่า “ธรรมดาของพระพุทธเจ้า” คือ พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะต้องเป็นเช่นนั้นเป็นธรรมดา

และไม่ควรสงสัยว่าทำไมจะต้องเป็นเช่นนั้น เนื่องจากคำตอบก็จะย้อนกลับมาที่เดิม คือ-เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะต้องเป็นเช่นนั้นเป็นธรรมดา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธธมฺมตา” ว่า the law of the Buddhas i. e. as one is wont to expect of the Buddhas (กฏของพระพุทธเจ้า, คือ กฎธรรมดาของพระพุทธเจ้า)

ขยายความ:

ในคัมภีร์อรรถกถาประมวล “พุทธธรรมดา” ไว้ 30 ประการ มีรายละเอียดดังนี้ –

๑. สมฺปชานสฺส  มาตุกุจฺฉิโอกฺกมนํ 

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงมีสัมปชัญญะรู้ตัวลงสู่พระครรภ์ของพระพุทธมารดา

๒. มาตุกุจฺฉิยํ  ปลฺลงฺเกน  นิสีทิตฺวา  พหิมุโขโลกนํ 

ทรงนั่งขัดสมาธิในพระครรภ์ของพระพุทธมารดา ผันพระพักตร์ออกด้านหน้า

๓. ฐิตาย  โพธิสตฺตมาตุยา  วิชายนํ  

พระพุทธมารดายืนประสูติ

๔. อรญฺเญเยว  มาตุกุจฺฉิโต  นิกฺขมนํ 

ประสูติจากพระครรภ์พระพุทธมารดาในป่าเท่านั้น (ไม่ประสูติในเมืองหรือในอาคารบ้านเรือน)

๕. กญฺจนปฏฺเฏสุ  ปติฏฺฐิตปาทานํ  อุตฺตราภิมุขานํ  สตฺถปทวีติหารานํ คนฺตฺวา  จตุทฺทิสํ โอโลเกตฺวา  สีหนาทนทนํ 

เมื่อประสูติแล้ว วางพระบาทลงบนแผ่นทอง ผันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ย่างพระบาท 7 ก้าว เหลือบแลดูทั้ง 4 ทิศ แล้วเปล่งสีหนาท

๖. จตฺตาริ  นิมิตฺตานิ  ทิสฺวา  ชาตมตฺตปุตฺตานํ  มหาสตฺตานํ  มหาภินิกฺขมนํ 

เมื่อพระโอรสประสูติก็จะทรงเห็นนิมิต 4 แล้วเสด็จออกผนวช

๗. อรหทฺธชมาทาย  ปพฺพชิตฺวา  สพฺพเหฏฺฐิเมน  ปริจฺเฉเทน  สตฺตาหํ  ปธานจริยา 

ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ผนวช (ไม่ใช่มีเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างอื่น) แล้วทรงบำเพ็ญเพียรอย่างต่ำที่สุด 7 วันจึงจะได้ตรัสรู้ (ไม่ตรัสรู้ก่อน 7 วันนับจากทรงผนวช)

๘. สมฺโพธึ  ปาปุณนทิวเส  ปายาสโภชนํ 

เสวยข้าวมธุปายาสในวันที่ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณ

๙. ติณสนฺถเร  นิสีทิตฺวา  สพฺพญฺญุตญฺญาณาธิคโม 

เมื่อได้ประทับนั่งเหนือเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้าแล้ว จึงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ

๑๐. อานาปานสฺสติกมฺมฏฺฐานปริกมฺมํ 

ทรงบริกรรมอานาปานสติกัมมัฏฐานเป็นเบื้องต้นในการที่จะได้ตรัสรู้

๑๑. มารพลวิทฺธํสนํ 

ทรงกำจัดกองกำลังของมารได้หมดสิ้น

๑๒. โพธิปลฺลงฺเกเยว  ติสฺโส  วิชฺชา  อาทึ  กตฺวา  อสาธารณญาณาทิคุณปฏิลาโภ 

ทรงได้บรรลุคุณธรรมที่ไม่มีผู้ใดสามารถมีได้ทำได้เสมอเหมือน (มีได้เฉพาะพระพุทธเจ้า) ตั้งแต่วิชชา 3 เป็นต้นไป ณ โพธิบัลลังก์คือสถานที่ตรัสรู้นั้นเท่านั้น (คือบรรลุเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งหมด ณ ที่นั้น ไม่มีไปบรรลุเพิ่มเติมภายหลังในสถานที่อื่นๆ อีก)

๑๓. สตฺตสตฺตาหํ  โพธิสมีเปเยว  วีตินามนํ 

หลังจากตรัสรู้แล้วจะประทับเสวยวิมุตติสุข ณ บริเวณสถานที่ตรัสรู้เป็นเวลา 7 สัปดาห์

๑๔. มหาพฺรหฺมุโน  ธมฺมเทสนตฺถาย  อายาจนํ 

เมื่อจะทรงเริ่มแสดงธรรมประกาศพระศาสนา มหาพรหมจะเป็นผู้กราบทูลอาราธนา

๑๕. อิสิปตเน  มิคทาเย  ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนํ 

ทรงประกาศพระธรรมจักร (พระธรรมเทศนาครั้งแรก) ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน

๑๖. มาฆปุณฺณมาย  จตุรงฺคิกสนฺนิปาเต  ปาติโมกฺขุทฺเทโส 

ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในท่ามกลางจาตุรงคสันนิบาตในวันมาฆบูรณมี

๑๗. เชตวนฏฺฐาเน นิพทฺธวาโส

หากจะประทับอยู่ประจำที่ติดต่อกันนาน จะประทับ ณ พระวิหารเชตวัน

๑๘. สาวตฺถินครทฺวาเร  ยมกปาฏิหาริยกรณํ 

ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ณ ที่ใกล้ประตูกรุงสาวัตถี

๑๙. ตาวตึสภวเน  อภิธมฺมเทสนา 

ทรงแสดงพระอภิธรรม ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

๒๐. สงฺกสฺสนครทฺวาเร  เทวโลกโต  โอตรณํ 

เมื่อเสด็จลงจากเทวโลก (ในเหตุการณ์ต่อจากข้อก่อน) จะเสด็จลงที่ใกล้ประตูสังกัสสนคร

๒๑. สตตํ  ผลสมาปตฺติสมาปชฺชนํ 

ทรงเข้าผลสมาบัติติดต่อกันไปตลอดเวลา

๒๒. ทฺวีสุ  วาเรสุ  เวเนยฺยชนาวโลกนํ*  

ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่จะพึงเสด็จไปโปรดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง*

(*ควรตรวจสอบความหมายที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง)

๒๓. อุปฺปนฺเน  วตฺถุมฺหิ  สิกฺขาปทปญฺญาปนํ 

เมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้าม (ไม่ใช่ตรัสห้ามไว้ล่วงหน้า)

๒๔. อุปฺปนฺนาย  อฏฺฐปฺปตฺติยา  ชาตกกถนํ 

เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น จึงตรัสชาดก (ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ตรัสเล่าขึ้นมาเอง)

๒๕. ญาติสมาคเม  พุทฺธวํสกถนํ 

จะตรัสแสดงเรื่องพุทธวงศ์ในสมาคมพระประยูรญาติ

๒๖. อาคนฺตุเกหิ  ภิกฺขูหิ  ปฏิสนฺถารกรณํ 

เมื่อมีภิกษุอาคันตุกะมาเข้าเฝ้า จะทรงทำปฏิสันถารต้อนรับด้วยพระองค์เอง (ให้ความสำคัญแก่แขก)

๒๗. นิมนฺติตานํ วุฏฺฐวสฺสานํ  อนาปุจฺฉา  อคมนํ 

พวกภิกษุจำพรรษาที่เดียวกับพระองค์ เมื่อมีผู้นิมนต์ไปในที่อื่น ถ้าไม่ทูลลาเพื่อให้ทรงทราบก่อน จะไม่สามารถเดินทางไปได้

๒๘. ทิวเส  ทิวเส  ปุเรภตฺตปจฺฉาภตฺตปฐมมชฺฌิมปจฺฉิมยามกิจฺจกรณํ 

ทรงทำกิจ (คือหน้าที่ของพระพุทธเจ้า) 5 เวลา คือก่อนและหลังเสวย ยามต้น ยามกลาง และยามสุดท้าย ทุกๆ วัน

๒๙. ปรินิพฺพานทิวเส  มํสรสโภชนํ 

เสวยรสมังสะในวันปรินิพพาน

๓๐. จตุวีสติ  โกฏิสตสหสฺสสมาปตฺติโย  สมาปชฺชิตฺวา  ปรินิพฺพานํ

ทรงเข้าสมาบัติยี่สิบสี่แสนโกฏิสมาบัติแล้วจึงปรินิพพาน

ที่มา: มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์ หน้า 543-544

ถ้าศึกษาพุทธประวัติจะเห็นว่า เรื่องทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องที่ปรากฏในประวัติพระพุทธเจ้าของเราพระองค์ปัจจุบัน (คือพระโคตมะ) นั่นเอง

แต่ท่านว่า ปรากฏการณ์ทั้ง 30 เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดเฉพาะพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง หากแต่พระพุทธเจ้าจะทรงเป็นเช่นนี้หรือทรงปฏิบัติเช่นนี้เหมือนกันหมดทุกพระองค์

จึงเรียกว่า “พุทธธรรมดา” คือธรรมดาของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นเช่นนี้เอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อวดกล้า เป็นธรรมดาของคนขลาด

: อวดฉลาด เป็นธรรมดาของคนเขลา

#บาลีวันละคำ (2,147)

29-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *