บาลีวันละคำ

กระษัย (บาลีวันละคำ 4,206)

กระษัย

มาจากภาษาอะไร

อ่านว่า กฺระ-ไส

คำว่า “กระษัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กระษัย : (คำนาม) ชื่อโรคตามตำราแพทย์แผนโบราณว่า ทำให้ร่างกายทรุดโทรม มีอาการผอมแห้งตัวเหลืองเท้าเย็น, เขียนเป็น กษัย ก็มี. (ส. กฺษย ว่า โรคซูบผอม).”

ที่คำว่า “กษัย” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

กษัย, กษัย– : (คำนาม) การสิ้นไป, การหมดไป, การเสื่อมไป, การน้อยไป; ชื่อโรคตามตำราแพทย์แผนโบราณว่า ทำให้ร่างกายทรุดโทรม มีอาการผอมแห้งตัวเหลืองเท้าเย็น, เขียนเป็น กระษัย ก็มี. (ส. กฺษย; ป.ขย).”

โปรดสังเกตว่า ที่คำว่า “กระษัย” พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่ามาจากภาษาอะไร แต่มีวงเล็บบอกไว้ว่า “ส. กฺษย ว่า โรคซูบผอม” การบอกเช่นนี้ไม่ใช่บอกว่า “กระษัย” มาจากสันสกฤตว่า “กฺษย” เพียงแต่เทียบให้ดูว่าในภาษาสันสกฤตมีคำว่า “กฺษย” หมายถึง โรคซูบผอม แต่ “กระษัย” จะมาจาก “กฺษย” หรือเปล่า ไม่ยืนยัน

แต่ที่คำว่า “กษัย” พจนานุกรมฯ บอกไว้ในวงเล็บว่า “ส. กฺษย; ป.ขย” คือบอกว่า “กษัย” สันสกฤตเป็น “กฺษย” บาลีเป็น “ขย” 

แต่อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมฯ ก็บอกไว้ด้วยว่า “กระษัย” เขียนเป็น “กษัย” ก็มี และ “กษัย” เขียนเป็น “กระษัย” ก็มี เท่ากับยืนยันว่า “กระษัย” กับ “กษัย” เป็นคำเดียวกัน 

พจนานุกรมฯ บอกว่า “กษัย” สันสกฤตเป็น “กฺษย” บาลีเป็น “ขย” ดังนั้น “กระษัย” ก็ต้องมาจาก “กฺษย” ในสันสกฤต และ “ขย” ในบาลีนั่นเอง 

ที่ว่ามานี้ ประสงค์จะแสดงวิธีอ่านพจนานุกรมแบบคิดหาเหตุผลไปด้วย ไม่ใช่ดูแค่สะกดอย่างไร บอกความหมายไว้อย่างไรเท่านั้น

…………..

ขย” บาลีอ่านว่า ขะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ขี (ธาตุ = เสื่อม, สิ้น) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อี ที่ ขี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (ขี > เข > ขย)

: ขี + = ขีณ > ขี > เข > ขย (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สิ้นไป” หมายถึง ความสูญเสียหรือหมดสิ้นไป, ความเสื่อมหรือทรุดโทรมลง, ความหมดไป; การกินกร่อน, ความเสื่อมลง, ความสูญไป (waste, destruction, consumption; decay, ruin, loss) 

บาลี “ขย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ขย-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) อ่านว่า ขะ-ยะ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ขย– : (คำแบบ) (คำนาม) ความสิ้นไป, ความเสื่อมไป, โดยมากใช้ในสมาส เช่น ขยธรรม อาสวักขยญาณ, ถ้าใช้โดด ๆ หรือเป็นคำท้ายสมาส เป็น ขัย เช่น อายุขัย. (ป.).”

หมายเหตุ : “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

ส่วนที่ใช้เป็น “ขัย” (อ่านว่า ไข) พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

ขัย : (คำนาม) ความสิ้นไป, เขตอายุของคนที่นิยมกันว่าสูงสุด เรียกว่า อายุขัย. (ป. ขย; ส. กฺษย).”

บาลี “ขย” สันสกฤตเป็น “กฺษย” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กฺษย : (คำนาม) ‘กษัย,’ ความเสียหาย, ความพินาศ, ความซูบผอม, ความสิ้น, การโยกย้าย; ความพินาศแห่งโลก; โรคผอมแห้ง; ปอดพิการ; บ้าน, เรือน, ที่อาศรัย; พยาธิหรือความป่วยไข้ทั่วไป; ความเสื่อมสิ้น, ความประลัย; (คำใช้ในพิชคณิต) กษัยราศี, จำนวนลบ; loss, destruction, waste, end, removal; destruction of the universe; consumption; phthisis pulmonalis; a house, an abode or asylum; disease or sickness in general; wasting away, decay; (in algebra) negative quantity, minus.”

ขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังมีคำที่ออกมาจาก “กระษัย” และ “กษัย” อีก 2 คำ คือ “กระษัยกล่อน” และ “กษัยกล่อน” บอกไว้ดังนี้ – 

(1) กระษัยกล่อน : (คำนาม) ชื่อโรคตามตำราแพทย์แผนโบราณว่า ทำให้ร่างกายผอมแห้ง ซึ่งเกิดจากโรคกร่อน, เขียนเป็น กษัยกล่อน ก็มี.

(2) กษัยกล่อน : (คำนาม) ชื่อโรคทางตําราแพทย์แผนโบราณว่า ทําให้ผอมแห้ง ซึ่งเกิดจากโรคกล่อน, เขียนเป็น กระษัยกล่อน ก็มี.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความไม่มีโรคเป็นเรื่องที่ดี

: แต่ไม่ได้แปลว่าคนมีโรคจะทำความดีไม่ได้

#บาลีวันละคำ (4,206)

18-12-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *