อปทาน-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,425)
อปทาน-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย
ว่าด้วยกรรมเป็นเครื่องตัดโทษ
อ่านว่า อะ-ปะ-ทาน
“อปทาน” บาลีอ่านว่า อะ-ปะ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก อป (คำอุปสรรค = ปราศจาก, ออกไป, หลีกไป) + ทา (ธาตุ = ตัด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อป + ทา = อปทา + ยุ > อน = อปทาน แปลตามศัพท์ว่า “กรรมเป็นเครื่องตัดโทษทั้งหลาย”
“อปทาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การตัดออก, การตัดขาด (removing, breaking off)
(2) คำแนะนำ, คำสั่งสอน, คำตักเตือน, คติเตือนใจ (advice, admonition, instruction, morals)
(3) ตำนาน, ชีวประวัติ (legend, life history)
ตามคำอธิบายในคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาแห่งคัมภีร์อปทาน แสดงความหมายของศัพท์ว่า “อปทาน” ไว้ดังนี้ –
(1) ใช้ในความหมายว่า “การณะ = เหตุ” เช่นคำว่า “ขตฺติยานํ อปทานํ, พฺราหฺมณานํ อปทานํ” แปลว่า “เหตุแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย เหตุแห่งพราหมณ์ทั้งหลาย”
(2) ใช้ในความหมายว่า “คหณะ = การถือเอาด้วยดี” เช่นคำว่า “อุปาสกานํ อปทานํ” แปลว่า “อุบาสกทั้งหลายถือเอาด้วยดี”
(3) ใช้ในความหมายว่า “อปคมนะ = การจากไป” เช่นคำว่า “วาณิชานํ อปทานํ สุทฺทานํ อปทานํ” แปลว่า “พวกพ่อค้าและพวกศูทรเหล่านั้นพากันจากไปแต่ที่นั้น ๆ”
(4) ใช้ในความหมายว่า “ปฏิปาฏิ = ตามลำดับ” เช่นคำว่า “ปิณฺฑปาติโก ภิกฺขุ สปทานจารวเสน ปิณฺฑาย จรติ” แปลว่า “ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรย่อมเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าวโดยเที่ยวไปตามลำดับเรือน”
(5) ใช้ในความหมายว่า “อักโกสนะ = การด่า” เช่นคำว่า “อปคตา อิเม สามญฺญา อปคตา อิเม พฺรหฺมญฺญาติ อปทาเนติ” แปลว่า “ย่อมด่าว่า ชนเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะ ชนเหล่านั้นปราศจากความเป็นพราหมณ์”
ในที่นี้ “อปทาน” ใช้ในความหมายว่า “การณะ” คือแปลว่า “เหตุ” หมายถึง พฤติกรรมในอดีตชาติเป็นเหตุให้มามีชีวิตเช่นนั้นๆ ในชาติปัจจุบัน
ที่มา: วิสุทธชนวิลาสินี ภาค 1 หน้า 179
…………..
ขยายความ :
“อปทาน” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย
“ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม)
5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย
ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม
คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ไตรปิฎก” กล่าวถึง “อปทาน” ไว้ดังนี้ –
…………..
เล่ม ๓๒ อปทาน ภาค ๑ คาถาประพันธ์แสดงประวัติโดยเฉพาะในอดีตชาติ เริ่มด้วยพุทธอปทาน (ประวัติของพระพุทธเจ้า) ปัจเจกพุทธอปทาน (เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า) ต่อด้วยเถรอปทาน (อัตตประวัติแห่งพระอรหันตเถระ) เรียงลำดับเริ่มแต่พระสารีบุตร ตามด้วยพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ พระปุณณมันตานีบุตร พระอุบาลี พระอัญญาโกณฑัญญะ พระปิณโฑลภารทวาชะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระอานนท์ ต่อเรื่อยไปจนจบภาค ๑ รวมพระอรหันตเถระ
๔๑๐ รูป
เล่ม ๓๓ อปทาน ภาค ๒ คาถาประพันธ์แสดงอัตตประวัติพระอรหันตเถระต่ออีกจนถึงรูปที่ ๕๕๐* ต่อนั้นเป็นเถรีอปทาน แสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี ๔๐ เรื่อง เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม ๑๖ รูป ต่อด้วยพระเถรีที่สำคัญเรียงลำดับ คือพระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา พระกุณฑลเกสี พระกีสาโคตมี พระธรรมทินนา พระสกุลา พระนันทา พระโสณา พระภัททกาปิลานี พระยโสธรา และท่านอื่นๆ ต่อไปจนจบ
…………..
สรุปว่า “อปทาน” เป็นคัมภีร์ที่ 13 แห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก เป็นคัมภีร์แสดง (1) ประวัติของพระพุทธเจ้า (2) ประวัติพระปัจเจกพุทธเจ้า (3) *ประวัติพระอรหันตเถระ ตามพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐมี 550 รูป แต่พระไตรปิฎกฉบับอักษรอื่นมีต่อไปอีก 11 รูป จึงเป็นประวัติพระอรหันตเถระทั้งสิ้น 561 รูป (4) ประวัติพระอรหันตเถรี 40 รูป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตัดใจไม่ทำผิด
: ดีกว่าคิดหาวิธีตัดกรรม
#บาลีวันละคำ (3,425)
28-10-64