ภาษาของสื่อ สื่อถึงอะไร
ภาษาของสื่อ สื่อถึงอะไร
————————–
ภาพประกอบเรื่องนี้ ๒ ภาพแรกมีข้อความดังจะคัดมาไว้ในที่นี้ว่า
……………………..
รัฐแก้MVเพลงชาติไทย
เพิ่มพระพุทธรูป-พระบิณฑบาต
รัฐบาลแก้เอ็มวีเพลง “ชาติไทย” เวอร์ชั่นใหม่
ใส่พระพุทธรูป-พระรับบิณฑบาตเพิ่ม
หลังถูกเข้าใจผิดเน้นบางศาสนา
คาดออนแอร์ใหม่ในสัปดาห์นี้
……………………..
ประโยคที่ผมสะดุดใจคือ –
“หลังถูกเข้าใจผิดเน้นบางศาสนา”
ขอให้ลำดับเหตุการณ์และข้อเท็จจริงกันดูนะครับ
๑ รัฐบาลทำเพลงชาติออกมาใหม่ เนื้อร้อง-ทำนอง คงเดิม แต่ภาพประกอบเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
๒ ภาพประกอบที่เปลี่ยนใหม่นี้ไม่มีภาพที่แสดงให้เห็นว่าเมืองไทยเป็นเมืองพระพุทธศาสนา เช่นภาพวัดวาอาราม ภาพพระพุทธรูป ภาพพระสงฆ์ ภาพกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา
๓ แต่กลับมีภาพบุคคลที่นับถือศาสนาอื่นๆ ให้เห็นชัดเจน
๔ จึงมีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยออกมาจากประชาชน
นี่คือเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
การที่รัฐบาลทำเช่นนี้ แล้วประชาชนไม่เห็นด้วย สื่อเอามาพูดว่า รัฐบาล “ถูกเข้าใจผิด”
ประเด็นที่ถูกเข้าใจผิดก็คือ-รัฐบาลกำลังจะเอาศาสนาอื่นมาแทนที่พระพุทธศาสนา
พูดชัดๆ – การที่ประชาชนเข้าใจว่า-รัฐบาลกำลังจะเอาศาสนาอื่นมาแทนที่พระพุทธศาสนา-นั้น เป็นความเข้าใจผิดของประชาชน
เป็นอันว่า เรื่องนี้ประชาชนผิด รัฐบาลถูก
นี่คือสิ่งที่สื่อกำลัง “สื่อ” ออกมา-ด้วยประโยคที่ว่า – “หลังถูกเข้าใจผิดเน้นบางศาสนา”
ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่จะต้องอธิบายกันต่อไปอีกว่า ถ้าจะให้เข้าใจถูกจะต้องเข้าใจว่าอย่างไร
คือประชาชนจะต้องเข้าใจว่าอย่างไรจึงจะเป็นการเข้าใจถูก?
แล้วก็-การที่ภาพประกอบเพลงชาติที่ทำออกมานั้นไม่มีภาพที่แสดงให้เห็นว่าเมืองไทยเป็นเมืองพระพุทธศาสนา แต่กลับมีภาพบุคคลที่นับถือศาสนาอื่นๆ แล้วประชาชนพากันบอกว่า เป็นเพลงชาติที่เน้นบางศาสนา แต่จงใจลบพระพุทธศาสนาออกไป-นั้น เป็นความเจ้าใจผิดตรงไหน
ภาพที่ปรากฏเห็นได้ชัด บอกเจตนาได้ชัดว่า จงใจเน้นบางศาสนา และจงใจลบพระพุทธศาสนาออกไป ใครดูก็รู้ ดูออก บอกถูก – แล้วผู้คนก็แสดงความเข้าใจออกมาเช่นนั้น —
ถามว่า “เข้าใจผิด” ตรงไหน?
ถามแบบปัญหาสอบนักธรรมสนามหลวงก็ต้องถามว่า – เป็นความเข้าใจผิดอย่างไร จงอธิบายมาพอเข้าใจ ?
อย่าตอบเพียงแค่ – รัฐบาลไม่ได้จงใจเน้นบางศาสนา รัฐบาลไม่ได้จงใจลบพระพุทธศาสนาออกไป นั่นนะเข้าใจผิดดดด
“กรรมส่อเจตนา” – สำนวนทางกฎหมายพูดกันอย่างนั้น
ประชาชนเห็น “กรรม” คือการกระทำของรัฐบาล เขาก็บอกว่ามัน “ส่อเจตนา” อะไร
เรื่องนี้จึงไม่ใช่ “รัฐบาลถูกเข้าใจผิด”
แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าใจถูก-คือประชาชนรู้ทัน-ว่ารัฐบาลทำไม่ถูก
ภาษาที่สื่อใช้ ยังทำให้ประชาชนรู้ทันด้วยว่าสื่อยืนอยู่ข้างใคร
——————
ภาษาของสื่ออีกจุดหนึ่งที่ผมไม่อยากมองข้าม คือข้อความที่ว่า
– รัฐบาลแก้เอ็มวีเพลง “ชาติไทย” เวอร์ชั่นใหม่ –
โปรดพินิจตรงคำที่เขียนว่า – เพลง “ชาติไทย” – (โปรดดูภาพประกอบด้วย)
คำว่า “ชาติไทย” ในเครื่องหมายคำพูด แสดงว่าสื่อเข้าใจว่าเพลงที่กำลังพูดถึงนี้ชื่อ-เพลง “ชาติไทย” ใช่หรือไม่?
สื่อไม่รู้ดอกหรือว่า เพลงที่กำลังพูดถึงนี้เราเรียกกันว่า “เพลงชาติ”
“เพลงชาติ” ไม่ใช่-เพลง “ชาติไทย”
เอกสารใหม่ของทางราชการ เขียนว่า “เพลงชาติไทย” (ดูภาพประกอบที่ถ่ายจากราชกิจจานุเบกษา) ถ้าจะเขียนตามนั้นก็ต้องเขียนว่า “เพลงชาติไทย” คือคำว่า -เพลงชาติไทย- อยู่ในเครื่องหมายคำพูด
ไม่ใช่ – เพลง “ชาติไทย” – อย่างที่สื่อเขียน
หลายคนอาจคิดว่า นี่เป็นเรื่องเล็กน้อย จะต้องเอามาพูดทำไม
แต่นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอย่างที่มักจะคิดกัน
เรื่องเพลงชาติเป็นเรื่องใหญ่เสมอ
และในฐานะที่สื่อจะต้องใช้ภาษาในการประกอบอาชีพ การใช้ภาษาให้ถูกต้องย่อมเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการบอกถึงความน่าเชื่อถือ-หรือไม่น่าเชื่อถือ-ของสื่ออีกด้วย
การใช้ภาษาผิดจึงเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย
ยิ่งถ้าผิดเพราะความมักง่าย ยิ่งเสียหายมาก
เพราะถ้ามักง่ายได้เรื่องหนึ่ง
ในที่สุดก็จะมักง่ายได้ทุกเรื่อง
…………………..
เวลานี้สังคมเราทำท่าว่าจะมีค่านิยมใหม่อย่างหนึ่ง นั่นคือเห็นใครทำอะไรผิดก็ไม่ว่าอะไรกัน ปล่อยกันไปตามสบาย
ใครว่า จะถูกตำหนิว่าเป็นคนชอบจับผิด ไม่มีมารยาท
คนทำผิดก็เลยไม่รู้ตัวว่าตนทำอะไรผิด
อะไรที่ทำผิดไว้ ก็คงปรากฏอยู่อย่างนั้น ไม่มีการแก้ไข
ใครมาเห็นเข้าก็ทำตามกันต่อไปอีก
หนักเข้า นานเข้า ผิดเลยกลายเป็นถูก ถูกกลายเป็นผิด
ในพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวไว้ว่า เห็นใครทำอะไรผิด แล้วปล่อยปละละเลย ไม่กล้าว่า ไม่กล้าพูด นั่นคือการทิ้งขยะไว้ในพระศาสนา
เราจะช่วยกันทิ้งขยะ
หรือว่าจะช่วยกันเก็บขยะ?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒
๑๐:๑๖
…………………………….
…………………………….