อุกเขปนียกรรม (บาลีวันละคำ 1,398)
อุกเขปนียกรรม
ศัพท์วิชาการทางพระธรรมวินัย
อ่านว่า อุก-เข-ปะ-นี-ยะ-กำ
ประกอบด้วย อุกเขปนีย + กรรม
(๑) “อุกเขปนีย”
บาลีเป็น “อุกฺเขปนิย” (อุก-เข-ปะ-นิ-ยะ) รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ขิปฺ (ธาตุ = ซัดไป, กระจายออก) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ขิ-(ปฺ) เป็น เอ (ขิปฺ > เขป) + อิย ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่าง อุ + ขิปฺ (อุ + กฺ + ขิปฺ)
: อุ + กฺ + ขิปฺ = อุกฺขิปฺ + ยุ > อน : อุกฺขิป + อน = อุกฺขิปน + อิย = อุกฺขิปนิย > อุกฺเขปนิย แปลตามศัพท์ว่า “อันควรซัดออกไปข้างนอก” หมายถึง ควรแก่การลงโทษโดยการยกออกเสียจากคณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุกฺเขปนิย” ว่า referring to the suspension of a bhikkhu (ควรแก่การลงโทษภิกษุด้วยการพักไว้ คือห้ามสมโภคกับสงฆ์)
โปรดสังเกตว่า บาลีเดิมเป็น อุกฺเขปนิย-, –นิย- สระอิ
แต่ภาษาไทยเป็น อุกเขปนีย-, –นีย- สระอี
แต่บางตำราบอกว่าศัพท์นี้บาลีเป็น อุกฺเขปนีย (-นีย- สระอี) ก็ได้
(๒) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย –
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)
กมฺม สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมใช้ทับศัพท์ว่า “กรรม”
อุกฺเขปนิย + กมฺม = อุกฺเขปนิยกมฺม > อุกเขปนียกรรม แปลตามศัพท์ว่า “กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุกฺเขปนิยกมฺม” ว่า act or resolution of suspension (การกระทำหรือมติให้ลงโทษด้วยการพักไว้)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “อุกเขปนียกรรม” (Ukkhepanīyakamma) ว่า the formal act of suspension; ostracism.
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
อุกเขปนียกรรม : กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย หมายถึงวิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติหรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้าย (ทิฏฐิบาป) ไม่ยอมสละ ซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา หรือทิฏฐิสามัญญตา โดยยกเธอเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ คือ ไม่ให้ฉันร่วม ไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย พูดง่ายๆ ว่า ถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว
: บางคนหลบเลี่ยงผลของอุกเขปนียกรรมได้
: แต่ไม่มีใครหลบเลี่ยงผลกรรมได้
—————-
(ตามประเด็นของ Charanya Deeboonmee Na Chumphae)
30-3-59