บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๑)

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๑)

—————————

ท่านอาจารย์ Naga King ได้เขียนบทความเรื่อง “การเรียนพระไตรปิฎก..ไม่จำเป็นต้องจบ ป.ธ.๙” เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กของท่านเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒ (ประมาณ ๓ เดือนที่ผ่านมา)

ขออนุโมทนากับท่านอาจารย์ Naga King ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเขียน เป็นการชวนให้คนรู้จักคิดถึงพระไตรปิฎก

ผมตั้งท่าแสดงความคิดลงในช่องแสดงความคิดเห็น แต่เขียนไปได้หน่อยหนึ่งก็รู้สึกว่าประเด็นชักจะยาว เลยเปลี่ยนใจ แยกมาโพสต์ใหม่ดีกว่า 

ก็พอดีมีงานอื่นแทรก ล่วงเลยไป ๓ เดือนกว่าจึงมีโอกาสยกประเด็นของท่านอาจารย์ Naga King ขึ้นมาพิจารณา

ผมขออนุญาตยกบทความของท่านอาจารย์ Naga King มาให้อ่านกันตรงนี้เลย แทนที่จะเอาลิงก์มาวาง ท่านจะได้ไม่ต้องเสียเวลาคลิกไปอ่านที่อื่น 

อ่านบทความของท่านอาจารย์ Naga King ก่อนนะครับ ท่านเขียนไว้ยาวมาก และที่ผมจะเขียนต่อจากท่านก็คงจะยาวปานกัน อาจจะต้องแบ่งโพสต์เป็นตอนๆ 

ขออภัยญาติมิตรที่ไม่สะดวกอ่านโพสต์ยาวๆ แต่ถ้ารักการศึกษาและรักพระศาสนา ขอแรงอ่านกันนะครับ

บทความของท่านอาจารย์ Naga King สะกดการันต์วรรคตอนตรงตามต้นฉบับที่ท่านโพสต์ไว้

……………..

Naga King

การเรียนพระไตรปิฎก..ไม่จำเป็นต้องจบป.ธ.๙
ก็สามารเรียนได้..และทำความเข้าใจได้ ?

@ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเรียน “พระไตรปิฎก” ?

สำหรับการเปิดเรื่องมาสนทนาวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความเข้าใจผิดของคนที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับพระไตรปิฎก” เมื่อไม่เข้าใจแล้วย่อมไม่มีฉันทะที่จะเรียน หรือมีการปฏิเสธการเรียนตามมา ซึ่งข้อนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะความเข้าใจผิดที่เอา “ป.ธ.๙ ไปผูกติดกับ “พระไตรปิฎก” จนเกิดความเข้าใจผิดว่าผู้ที่เรียนจบ ป.ธ.๙เท่านั้นจึงจะมีความรู้ เข้าใจ และแปลพระไตรปิฎกได้ คนที่เรียนไม่จบประโยค ๙ ไม่ควรเรียนพระไตรปิฎกหรือไม่ควรมาพูดเรื่องที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก ผมว่าเรื่องนี้เป็นความผิดข้อแรกของการเรียนพระไตรปิฎก เพราะคนที่แปลพระไตรปิฎกหลายท่านไม่จบ ป.ธ.๙ เลยก็มี และคนที่รู้พระไตรปิฎกก็ไม่ใช่ป.ธ.๙ เสมอไปก็มี ดังนั้น จึงไม่ควรเอา ป.ธ.๙ไปดักทางของการเรียนรู้พระไตรปิฎก

ข้อที่สอง เป็นความเข้าใจผิดของคนไทยพุทธเราที่มองว่า “พระไตรปิฎกเป็นของคร่ำครึ โบราณอ่านไม่รู้เรื่อง” ข้อนี้มองในมุมหนึ่งพอเข้าใจได้ เพราะภาษาพระไตรปิฎกเป็นภาษาโบราณจริงข้อนี้ผมไม่เถียง แต่ความเป็นภาษาโบราณของพระไตรปิฎกผมว่าไม่ใช่ข้อด้อยของพระไตรปิฏก แต่มันคือ “จุดเด่นมากกว่า” ที่ว่าเป็นจุดเด่นก็คือ

(๑) ผู้อ่านหรือผู้เรียนพระไตรปิฎกโชคดีมากที่ได้อ่านภาษาโบราณเมื่อหลายร้อยปีก่อน เพราะหากไม่ใช่ภาษาโบราณแล้วเราจะมองไม่เห็นหรอกครับว่า “พระไตรปิฎกมีความเก่าแก่จริงและมีการสืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัยจริง ” จริงไหมครับ ลองพระไตรปิฎกมีภาษาหรือถ้อยคำประเภท “จ๊าบๆ”สิอินเทรนด์ตามภาษาสมัยใหม่สิใครจะไปเชื่อว่าถ้อยคำแบบนี้เป็นภาษาเก่าของคัมภีร์เก่าแก่ล่ะครับ ผู้เรียนหรือผู้ศึกษาควร “หามุมมอง”ให้มันได้ตามที่มันจะก่อให้เกิดฉันทะที่อยากจะเรียนมากกว่าที่จะมองแบบให้เป็นอุปสรรคและเอาความด้อยเหล่านั้นมาปิดกั้นหรือทับถมตนเอง

(๒) ผู้อ่านหรือผู้เรียนพระไตรปิฎกเมื่อเวลาที่ไปเจอภาษาโบราณต้องทำใจใหม่และคิดใหม่ว่า “เราจะแปลความหมายของคำโบราณที่เราพบเจอนี้ให้คนร่วมสมัยอ่านแล้วเข้าใจได้อย่างไร ? เพราะนี่มันคือความท้าทายของผู้ศึกษาหรือผู้อ่านที่จะทำความเข้าใจให้ได้ หรือหากอ่านแล้วไม่เข้าใจจะต้องหาทางปรึกษาผู้รู้ในด้านภาษาเป็นการฝึกฝนความรู้ของตนเองให้เพิ่มพูนมากขึ้น การไม่รู้แล้วถามเป็นสิ่งที่ดีครับ ดีกว่าไม่รู้แล้วไม่ถามไปทึกทักเอาเอง

(๓) ผู้เรียนหรือผู้อ่านพระไตรปิฎกควรพัมนาตนเองอยู่เสมอๆในฐานะที่เป็นผู้ค้นคว้าคัมภีร์โบราณ คือต้องหาทางที่จะเรียนรูภาษาบาลีหรือสำนวนโบร่ำโราณที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกนั้นๆอยู่เสมอ การอ่านบ่อยๆทำให้เกิดความพยายามที่จะทำความเข้าใจบ่อยๆไม่รู้ให้ถาม ผมว่าเรื่องแค่นี้ที่ผู้เรียนหรือผู้อ่านพระไตรปิฎกสามารถที่จะทำได้

@ จำนวนเล่ม..คืออุปสรรคของการเรียนพระไตรปิฎกจริงหรือ ?

หลายคนถามผมมาว่า ผมเรียนไม่ไหวหรอกครับอาจารย์พระไตรปิฏกมีมากเกินไป ผมทำความเข้าใจไม่ไหว ผมเลยถามกลับว่า ถ้าให้เงินคุณจำ นวนมากๆเท่ากับหน้าของพระไตรปิฏกที่มีคุณจะเอาไหม ? คำตอบก็คือเอาครับ อ้าว..แล้วความรู้ที่มีมากๆที่ถูกบรรจุไว้ในพระไตรปิฎกทำไมคุณไม่เอา คำตอบคือ ความรู้กับเงินมันไม่เหมือนกันครับอาจารย์ ผมเลยตอบไปว่า เงินมาจากความรู้ไหม ? คำตอบคือ ใช่ แล้วทำไมคุณไม่เอาความรู้ไปสร้างเงินจากการที่คุณจะได้รับความรู้จากขุมทรัพย์ที่มีอยู่ในพระไตรปิฏกนี้เล่า ..ไม่มีคำตอบครับ

ผมอยากอธิบายให้คนที่เกิดความท้อแท้กับการเรียนพระไตรปิฏกเกี่ยวกับความยากลำบากในการอ่านพระไตรปิฎกที่มีจำนวนเรื่อง หน้า ที่มีมากแบบนี้ ผมว่าอยากเปรียบพระไตรปิฎกเหมือนกับการเดินทางสู่เส้นชัยที่มีเป้าหมายก็คือ “ความรอบรู้” หรือ “สติปัญญาที่หาค่ามิได้”ถ้าสมติเราไม่ออกเดินทางเสียแต่วันนี้เราก็จะไม่ถึงเส้นชัยสักที แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มเดินทาง”ระยะทางมันจะสั้นลงทุกขณะๆ”ยิ่งเร่งเดินทางเส้นชัยก็จะเริ่มขยับมาหาเราทุกขณะๆเช่นเดียวกัน ดังนั้น การเรียนพระไตรปิฎกก็เหมือนกับการเดินทางเพื่อสะสมไมล์ทะเลหรือไฟ้ท์บิน คือยิ่งออกเดินทางเร็วเส้นชัยก็จะถึงเร็วเท่านั้น การเดินทางหากเราไม่ไปสนใจเรื่องระยะทางแต่เดินทางไปอย่างมีความสุขทางแม้จะไกลก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเดินทาง แต่เมื่อไหร่เราเดินทางไปพร้อมๆกับการคอยนับหลักกิโลเมตรไปเมื่อนั้นแหละความท้อแท้มันจะเกิดขึ้นมาทันทีว่า “เมื่อไหร่จะถึง” แต่ถ้าเราไม่สนใจหลักกิโลสนใจแค่หนทางที่กำลังอยู่ตรงหน้าคอยหักเลี้ยวตามมุมที่เป็นเส้นทางโค้งหรือตรงไปอย่างมีความสุขอีกไม่นานเราก็จะถึงเป้าหมายหรือจุดหมายทันที

การเรียนพระไตรปิฎกก็เป็นแบบนั้นหากเรามามัวสนใจว่าเราอ่านมาได้กี่ข้อกี่หน้าแล้วเราจะรู้สึกเหนื่อยและท้อแท้ได้ง่าย แต่หากเราไม่สนใจเรื่องเล่ม ข้อ หน้าที่่าน เราศึกษาไปเพราะเราอยากรู้ อันนี้ก็น่าสนใจ อันนั้นก็น่าสนใจ เรามีแต่เรื่องน่าสนใจ เมื่อนั้นเราจะไม่รู้สึกเหนื่อยและท้อแท้ ดังนั้น การเรียน อ่านพระไตรปิฏกจึงไม่ใช่อยู่ที่ เล่ม ข้อ หน้า แต่อยู่ที่ “ความสุขในใจที่ได้เรียนรู้มากกว่า” นะครับ

@ เรียนพระไตรปิฎก ..อย่าไปผูกติดกับ ป.ธ.๙ ?

แรกๆผมก็คิดเหมือนกับที่หลายแสนคนในประเทศนี้ที่คิดว่า เราเรียนไม่จบป.ธ.๙ เราจะเรียนรู้พระไตรปิฎกเหมือนผู้ที่มีความรู้พระไตรปิฎกหลายๆท่านได้อย่างไร คิดๆไปคิดมาก็เกิดความท้อถอยยิ่งมาถูกพวกเพื่อนๆป.ธ.๙ มาโอ้อวดทับอีกว่า ไม่รู้บาลีมีรึจะเข้าใจพระไตรปิฏก ควาารู้บาลีแค่หางอึ่งจะไปเข้าใจพระไตรปิฎกได้อย่างไร ? ฯลฯ สารพัดจะได้ฟังจากบรรดานักนิรุตติกศาสตร์ด้านภาษาบาลีระดับศาสตราจารย์ คือ ป.ธ.๙ ทั้งหลายได้พูดมา แรกๆก็อย่างว่ารู้สึกท้อแท้เหมือนกัน แรกเริ่มที่อ่านพระไตรปิฏกก็อ่านเฉพาะที่อยากรู้ ที่ไม่อยากรู้ก็ไไม่อ่าน ทำให้ผมไม่ค่อยรู้อะไรมาก ผมจึงไปถามอาจารย์บรรจบ บรรณรุจิเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อาจารย์ครับจริงไหมครับที่คนเรียนจบป.ธ.๙เท่านั้นที่จะรู้และเข้าใจพระไตรปิฎก

ท่านอาจารย์บรรจบ ท่านหัวเราะแล้วก็พูดกับผมว่า “คุณไปถูกใครหลอกมาล่ะอธิเทพ ถ้าบอกว่าป.ธ.๙ เท่านั้นที่รู้พระไตรปิฏกแล้ว เราก็มีผู้รู้พระไตรปิฎกเป็นจำนวนมากสิเต็มบ้านเต็มเมืองเป็นแน่เพราะในแต่ละปีมีผู้จบป.ธ.๙ เป็นจำนวนมาก แต่คุณรู้ไหมว่า คนที่จบ.ป.ธ.๙ ไม่ใช่ผู้รู้พระไตรปิฎก เพราะป.ธ.๙เรียนเรื่องภาษาศาสตร์หากไม่สนใจศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแท้จริงแล้วเชื่อได้เลยว่าคนเหล่านี้ก็ไม่รู้พระไตรปิฎก เหมือนกับผมตอนที่จบใหม่ๆก็คิดว่า “กูแน่”เป็นสัพพัญญูเลยรู้ทุกอย่าง แต่พอถูก อ.พร รัตนสุวรรณถามเรื่องพระสูตรเท่านั้นแหละหลายพระสูตรผมไม่รู้เลยจริงๆรู้เฉพาะที่แปลมาเป็นพระสูตรหลักๆส่วนพระสูตรย่อยๆผมก็ไม่รู้ เมื่อถูกความเก้อเขินเกิดขึ้นต่อหน้านักปราชญ์ผมจึงได้สติว่า เออ ..ที่คิดว่าจบป.ธ.๙แล้วรู้ทุกอย่างนี่ไม่ใช่ล่ะ จากจุดนั้นทำให้ผมต้องตัดสินใจไปเรียนพระไตรปิฎกกับอาจารย์พรที่แค้มป์สนเป็นเวลาสามเดือน ผมจึงรู้เรื่องพระไตรปิฎกจากนั้นมา ลำพังความรู้ป.ธ.๙ผมบอกได้เลยว่ายังไม่ถึงขั้นของความเป็นผู้รู้พระไตรปิฎกแต่อย่างใด”

@ หลังจากที่ได้ฟังเทศนาจากท่านอาจารย์บรรจบมาวันนั้น ผมก็เริ่มมีกำลังใจที่จะเรียนรู้และศึกษาพระไตรปิฎกเรื่อยมมากด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งผมคงจะได้เป็นผู้รู้พระไตรปิฏกกับเขาบ้าง โดยที่ผมได้ทำลายความเห็นเดิมที่ขวางทางการศึกษาผมว่า “ป.ธ.๙ กับพระไตรปิฎกมันผูกติดกัน” ผมว่าคนที่เรียนบาลีพอรู้ก็สามารถที่จะทำความเข้าใจพระไตรปิฎกได้ยิ่งทุกวันนี้แหล่งข้อมูลมีอยู่จำนวนมากเราสามารถที่จะทำความเข้าใจและหาแหล่งข้อมูลมาสนับสนุนการเรียนการศึกษาพระไตรปิฏกของเราได้โดยไม่ยาก

@ ความใฝ่รู้..ทำลายกำแพงกั้นได้ ?

ผมว่าการที่เราจะทำความเข้าใจในพระไตรปิฏกหรือการพยายามที่จะค้นหาความรู้จากพระไตรปิฏกนั้นไม่เป็นการยากเท่าไหร่ ตราบใดที่เราสามารถทำลายกำแพงกั้นเรากับพระไตรปิฎกออกไปได้เราก็จะสามาระเรียนรู้พระไตรปิฎกได้ เอาตัวอย่าง “หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ”สิครับ ท่านก็ไม่ได้เรียนรู้บาลีจนจบป.ธ.๙ ท่านก็ยังเป็นอาจารย์สอนให้ป.ธ.๙ทั่วบ้านทั่วเมืองได้ ไม่เห็นต้องจบป.ธ.๙แต่อย่างใด แต่ผมก็เชื่อว่าผู้ที่เรียนจบป.ธ.๙ นั้นย่อมเป็นบาทฐานของการศึกษาพระไตรปิฎกได้ง่ายกว่าคนที่เรียนยังไม่จบนะครับ ดังนั้น ที่เขียนมาทั้งหมดจึงไม่ได้มุ่งที่จะตำหนิป.ธ.๙ นะครับเพียงแต่ยกให้เห็นเป็นตัวอย่างของผู้ที่ยังเข้าใจผิดอยู่ ทางที่ดีในการเรียนพระไตรปิฎก ผมว่าต้องเรียนแบบอยากรู้หากไม่รู้ก็ถามผู้รู้แล้วบ่มเพาะความรู้ที่มีไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่ง ท่านก็จะเป็นผู้รู้ได้โดยไม่ยากครับ

ขอบคุณครับ

Naga King

……………..

ตอนหน้าจะเป็นความเห็นของผม 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

๑๒:๔๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก ( )

()https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/2609338149159906……………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *