บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความน่ารักของสามเณรภาคฤดูร้อน

ความน่ารักของสามเณรภาคฤดูร้อน

——————————–

ตอนนี้วัดต่างๆ มีบวชสามเณรภาคฤดูร้อนกันคึกคัก เพราะเป็นช่วงปิดเทอม

วัดมหาธาตุ ราชบุรี บ้านผมก็มีบวช ๒๐ กว่ารูป สามเณรอายุน้อยที่สุดคือ ๔ ขวบ น่ารักเป็นนักหนา ไม่ได้ถ่ายรูปมาให้ดู แต่ไม่เป็นไร ช่วงนี้รูปสามเณรน่ารักเป็นนักหนาหาดูได้ง่าย มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป 

บวชสามเณรภาคฤดูร้อนนี่ทำกันมานาน นานจนผมเข้าใจว่าคนรุ่นนี้น่าจะลืมไปแล้วว่าจุดประสงค์คืออะไร

จุดประสงค์ของการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนคืออะไร ต้องไปถามคนจัด ซึ่งแน่นอนว่าจะได้รับคำตอบที่หลากหลาย ถ้าเขียนเป็นโครงการก็แล้วแต่ว่าคนเขียนจะบรรยายลงไป แน่ละ ล้วนแต่ดีๆ น่าสนับสนุน น่าศรัทธาทั้งนั้น 

เห็นญาติโยมชื่นชมกับสามเณรตัวเล็กๆ น่ารักน่าเอ็นดูแล้ว ผมอยากจะชวนให้ย้อนรอยเข้าไปหารากเหง้าของการบวช ไม่ว่าจะบวชสามเณรหรือบวชพระก็ตาม 

ผมว่าเรากำลังเดินห่างจากรากเหง้านะครับ 

การบวชสามเณร ไม่ใช่มีจุดประสงค์เพื่อจะให้มีสามเณรตัวเล็กๆ เอาไว้ชื่นชมว่าน่ารักน่าเอ็นดูดีแท้ๆ ไปเห็นที่ไหนก็ชี้ชวนกันดู ดูแล้วก็ชื่นใจ

นั่นเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของแต่ละคน แต่ไม่ใช่จุดประสงค์หรือเป้าหมายของการบวช 

บวชเพื่อให้ญาติโยมชื่นใจ นี่ก็ผิดแล้วครับ 

ญาติโยมที่เอาแต่ชื่นใจในความน่ารักน่าเอ็นดู ก็พลาดด้วย

จุดประสงค์ของการบวชในพระพุทธศาสนาคือการศึกษาตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา 

คำว่า “ศึกษา” ในพระพุทธศาสนาหมายถึงเรียนให้รู้แล้วทำให้ได้ 

ทำได้แค่ไหนก็ทำไป ฝึกหัดขัดเกลาเรื่อยไป 

แต่ต้องทำ และต้องตั้งใจทำด้วย

การอ่าน หรือท่อง หรือรู้เข้าใจ แต่ไม่เอาไปทำ นั่นไม่ใช่การศึกษาในพระพุทธศาสนา 

เฉพาะ “ศีล” อันเป็นข้อแรกของไตรสิกขา เป็นพื้นฐานของการเป็นพระภิกษุสามเณร 

พูดกันชัดๆ เป็นพระภิกษุสามเณรได้ก็เพราะมีศีล 

ไม่มีศีล ก็เป็นแค่คนห่มจีวร 

ห่มจีวรแล้วไม่ปฏิบัติตามศีล ก็ไม่เป็นพระเป็นเณร

จับหลักนี้ไว้ให้ดี ไม่งั้นพลาด

บวชเณร ก็ศึกษาและปฏิบัติตามศีล ๑๐ 

บวชพระ ก็ศึกษาและปฏิบัติตามศีล ๒๒๗ 

ศีล ๑๐ ของสามเณร ศีล ๒๒๗ ของพระภิกษุ เป็น “อาทิพรหมจริยกาสิกขา” คือพื้นฐานเบื้องต้นที่ดำรงความเป็นพระภิกษุสามเณรไว้ได้ 

ยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีศีลอีกส่วนหนึ่ง มากกว่า ๑๐ มากกว่า ๒๒๗ อีกหลายเท่า เรียกว่า “อภิสมาจาริกาสิกขา” เป็นส่วนที่ทำให้ดำรงความเป็นพระภิกษุสามเณรไว้ได้อย่างงดงาม 

ดำรงความเป็นพระภิกษุสามเณรไว้ได้อย่างเดียวยังไม่พอ 

ต้องดำรงไว้ได้อย่างงดงามอีกด้วย 

หลักดังกล่าวมานี้คนส่วนมากในสมัยนี้ไม่รู้ 

ที่ไม่รู้ก็เพราะไม่ใฝ่ใจที่จะเรียนรู้ – ทั้งๆ ที่ยุคสมัยใหม่นี้ช่องทางการเรียนรู้เรื่องพวกนี้ทำได้ไม่ยากเลย 

แต่ก็มีท่านจำพวกหนึ่งกล่าวโทษว่า เขาไม่รู้ก็เพราะไม่มีคนบอก เป็นความผิดของคนรู้ที่ไม่บอกเขา 

ที่เขียนมานี้ ผมก็พยายามทำหน้าที่เพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาซ้ำซาก แต่เชื่อเถอะ – ถึงเอ็งไม่ได้ด่าข้า พ่อเอ็งก็เคยด่าข้า 

หวังว่าญาติมิตรจะเข้าใจสำนวนนี้

————-

โปรดช่วยกันเข้าใจให้ถูกนะครับว่าจุดประสงค์ของการบวชสามเณรอยู่ตรงไหน – ก็อยู่ตรงที่เพื่อฝึกหัดขัดเกลาตามหลักไตรสิกขา โดยเฉพาะพื้นฐานเบื้องต้นก็คือ ศีล ๑๐ เรียนให้รู้เข้าใจ แล้วปฏิบัติตามให้ได้ 

ผมเคยถามเด็กที่บวชสามเณรภาคฤดูร้อนว่า ศีลของสามเณร ๑๐ ข้อ มีอะไรบ้าง 

เชื่อหรือไม่ว่า ส่วนมากตอบไม่ได้ 

ไม่ใช่เพราะพูดคำบาลีไม่เป็น ให้พูดเป็นคำไทยนี่แหละ พูดตามที่รู้ แต่ตอบไม่ได้เพราะไม่รู้เรื่องเลยว่าศีล ๑๐ ข้อคืออะไรบ้าง 

ในพิธีบวชสามเณร ต้องว่าคำสมาทานศีล ๑๐ ก็ว่าตามที่พระบอก 

บวชอยู่จนเปิดเทอม ก็ไม่มีใครสอนเรื่องศีล ๑๐ 

บวชสามเณรภาคฤดูร้อนให้ญาติโยมชื่นใจว่าสามเณรตัวน้อยๆ ห่มจีวรเรียบร้อย น่ารักน่าเอ็นดู 

แต่ไม่รู้ว่าศีล ๑๐ มีอะไรบ้าง 

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับการบวชสามเณรภาคฤดูร้อน 

แน่นอนว่าจะต้องมีท่านจำพวกหนึ่งแก้แทนให้ว่า – ก็เด็กนี่นา จะเอาอะไรกันนักหนา

“จะเอาอะไรกันนักหนา” นี่เวลานี้ใช้กับพระด้วย 

คือพอมีพระประพฤติไม่อยู่กับร่องกับรอย ก็จะมีคนออกมาปกป้องว่า จะเอาอะไรกันนักหนา พระก็ปุถุชนคนมีกิเลส มีพระเอาไว้เฝ้าวัด เอาไว้ให้ญาติโยมทำบุญก็พอแล้ว 

…………………..

“พระก็ปุถุชน” นี่ก็อีกคำหนึ่ง เวลานี้พระเองก็นิยมอ้าง “อาตมาเป็นปุถุชน อาตมาไม่ใช่พระอริยะ” 

ถ้อยคำจำพวกนี้ เหมือนกับว่า พออ้างแล้วก็ได้สิทธิ์ที่จะไม่อยู่กับร่องกับรอยได้ต่อไป 

อันที่จริงแล้ว ศีลเป็นเครื่องกำหนดความประพฤติของปุถุชนโดยตรงโดยเฉพาะทีเดียว พระอริยะท่านไม่มีปัญหากับศีลเลย

ยิ่งอ้างว่าเป็นปุถุชน ยิ่งจำเป็นต้องประพฤติให้หนัก จึงจะชอบด้วยเหตุผล

สามเณรภาคฤดูร้อน พออ้างว่า “ก็เด็กนี่นา จะเอาอะไรกันนักหนา” ก็เลยได้สิทธิ์ที่จะปล่อยปละละเลยกันตามสบายตลอดภาคฤดูร้อน 

ศีล ๑๐ อันเป็นรากฐานความเป็นสามเณรที่กำลังครองเพศอยู่นั่นแท้ๆ ก็ไม่ต้องสอน ไม่ต้องฝึกปฏิบัติ

นี่คือที่ผมว่า-เรากำลังเดินห่างจากรากเหง้า 

คำแก้แทนอีกคำหนึ่งที่ผมได้ยินก็คือ ตักน้ำใส่ตุ่มมันก็ต้องหกบ้างเป็นธรรมดา – ในความหมายที่ว่า ในระหว่างบวชก็อาจจะมีความประพฤตินอกกรอบบ้าง ขาดตกบกพร่องบ้างเป็นธรรมดา ประโยชน์จากการบวชก็ต้องได้บ้าง แต่จะเอาให้เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์คงไม่ได้ 

นี่ก็สอดรับกับ “ก็เด็กนี่นา จะเอาอะไรกันนักหนา” รวมไปถึง .. “ก็อาตมาเป็นปุถุชน” 

เวลานี้ได้ยินเหตุผลใหม่อีกอย่างหนึ่งของการบวชสามเณรภาคฤดูร้อน นั่นคือ ปิดเทอม พ่อแม่ไปทำงาน เด็กอยู่บ้านตามลำพัง มีโอกาสที่จะคบเพื่อนพากันไปติดยาเสพติดได้ง่าย เอามาบวชเสียก็ปลอดภัย

เพราะฉะนั้น ระหว่างบวช ความประพฤติปฏิบัติจะหายหกตกหล่นไปบ้างก็ช่างมันเถิด เราไม่ได้ต้องการจะบวชไปนิพพานที่ไหนนี่

นี่คือการทำให้เป้าหมายของการบวชเบี่ยงเบน และเป็นการทำลายคุณค่าของการบวชโดยไม่รู้ตัว 

เคยคิดกันไหมครับว่า เด็กที่บวชสามเณรภาคฤดูร้อนแล้วถูกปล่อยปละละเลยให้ประพฤตินอกกรอบกันตามสบายเหล่านี้ เมื่อเขากลับเข้าไปในสังคม เขาพูดถึงการบวชอย่างภาคภูมิชื่นชมหรือดูถูกดูแคลน? 

หรือเมื่อเขาโตขึ้น แล้วหวนคิดถึงช่วงเวลาที่บวช เขาประทับใจทางบวกหรือทางลบ? 

ขอให้คิดเทียบกับสมัยที่เราเรียน ครูที่เข้มงวดเฆี่ยนตี กับครูที่ใจดีปล่อยตามสบาย เราคิดถึงพระคุณของครูคนไหนมากกว่ากัน (สำหรับผู้ที่เติบโตมาในบริบทที่แตกต่าง ความประทับใจอาจแตกต่างกันออกไป)

…………………..

ในที่สุดนี้ ขอเรียนให้ทราบด้วยความเคารพว่า ผมเข้าใจดีถึงความเป็นเด็ก ความเป็นปุถุชน และเข้าใจดีอย่างยิ่งว่า ณ เวลานี้เราไม่ได้บวชเพื่อจะไปนิพพาน 

เพราะฉะนั้น ผมจึงไม่เคยเกณฑ์ให้สามเณรต้องเป็นอริยะ พระต้องเป็นอรหันต์ 

แต่ผมกำลังบอกว่า เมื่อเข้าไปแต่งเครื่องแบบของพระพุทธเจ้าแล้ว จะเป็นสามเณรประจำการหรือสามเณรภาคฤดูร้อนก็ตาม ต้องตั้งจุดประสงค์ให้ถูก คือต้องฝึกหัดขัดเกลาตามหลักไตรสิกขา 

ถ้าไม่สอนให้รู้จักศีล ๑๐ ไม่ฝึกให้ปฏิบัติตามให้ได้ จะเอากิจกรรมอะไรมาให้ทำ ดีวิเศษอย่างไร ท่านก็พลาดแล้ว 

ญาติโยมที่ขอแค่ชื่นใจสามเณรตัวน้อยๆ ห่มจีวรเรียบร้อยน่ารัก แต่ไม่รู้ไม่สนใจว่าสามเณรทำกิจวัตรกันได้ดีแค่ไหน ศึกษาปฏิบัติกันได้แค่ไหน ท่านก็พลาดแล้วเช่นกัน 

ทำแล้ว พยายามแล้ว ขาดตกบกพร่องไปบ้าง หายหกตกหล่นไปบ้าง นั่นเป็นธรรมดาของเด็กของปุถุชน ไม่มีใครว่าอะไรเลย มีแต่จะอนุโมทนาในความบากบั่นพยายาม และเห็นใจในความเหน็ดเหนื่อย

แต่การอ้างว่า “ก็เด็กนี่นา จะเอาอะไรกันนักหนา” แล้วเปิดประตูคอกให้วิ่งเข้าวิ่งออกกันได้ตามสบายตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย นั่นคือการตั้งจิตไว้ผิดไปตั้งแต่ต้น เป็นการทำลายคุณค่าของการบวชโดยไม่รู้ตัว 

สำหรับโครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนที่เข้มงวดกวดขัน มุ่งฝึกหัดขัดเกลาเข้าถึงสาระของการบวชอย่างเต็มกำลัง ขอได้โปรดทราบเถิดว่า นั่นแหละคือความน่ารักที่แท้จริงของสามเณรภาคฤดูร้อน 

ควรแก่การกราบอนุโมทนาสาธุการด้วยหัวใจศรัทธาไว้ ณ ที่นี้ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๙ เมษายน ๒๕๖๒

๑๗:๒๒

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *