บาลีวันละคำ

ปฏิสัมภิทามรรค-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,424)

ปฏิสัมภิทามรรค-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย

ทางสู่ความแตกฉาน

อ่านว่า ปะ-ติ-สำ-พิ-ทา-มัก

ประกอบด้วยคำว่า ปฏิสัมภิทา + มรรค 

(๑) “ปฏิสัมภิทา” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ปฏิสมฺภิทา” อ่านว่า ปะ-ติ-สำ-พิ-ทา รากศัพท์มาจาก ปฏิ + สํ + ภิทฺ 

(ก) ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ปฏิ-” :

ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” 

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)

(ข) “สัม-”

คำเดิมในบาลีคือ “สํ” (สัง) เป็นคำอุปสรรค ใช้นําหน้าศัพท์อื่น ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)

(ค) ปฏิ + สํ + ภิทฺ (ธาตุ = แตก, ทำลาย; ต่างกัน) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปฏิ + สํ + ภิทฺ = ปฏิสํภิทฺ + = ปฏิสํภิท > ปฏิสมฺภิท + อา = ปฏิสมฺภิทา แปลตามศัพท์ว่า “ปัญญาเครื่องแตกฉานเฉพาะทางนั้นๆ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิสมฺภิทา” ว่า “resolving continuous breaking up,” i. e. analysis, analytic insight, discriminating knowledge (“ปัญญาเป็นเครื่องแตกฉานด้วยดีโดยต่าง”, คือ การวิเคราะห์, การเล็งเห็นโดยใคร่ครวญอย่างละเอียด, ความรู้อันแตกฉาน)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิสัมภิทา : (คำแบบ) (คำนาม) ความแตกฉาน, ปัญญาอันแตกฉาน, มี ๔ อย่าง คือ อรรถปฏิสัมภิทา ธรรมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [155] อธิบายคำว่า “ปฏิสัมภิทา” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปฏิสัมภิทา 4 (ปัญญาแตกฉาน — Paṭisambhidā: analytic insight; penetrating insight; discrimination)

1. อัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาแจ้งในความหมาย, เห็นข้อธรรมหรือความย่อ ก็สามารถแยกแยะอธิบายขยายออกไปได้โดยพิสดาร เห็นเหตุอย่างหนึ่ง ก็สามารถคิดแยกแยะกระจายเชื่อมโยงต่อออกไปได้จนล่วงรู้ถึงผล — Attha-paṭisambhidā: discrimination

of meanings; analytic insight of consequence)

2. ธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ้งในหลัก, เห็นอรรถาธิบายพิสดาร ก็สามารถจับใจความมาตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อได้ เห็นผลอย่างหนึ่ง ก็สามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้ — Dhamma-paṭisambhidā: discrimination of ideas; analytic insight of origin)

3. นิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ, ปรีชาแจ้งในภาษา, รู้ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติและภาษาต่างๆ เข้าใจใช้คำพูดชี้แจงให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้ — Nirutti-paṭisambhidā: discrimination of language; analytic insight of philology)

4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ, ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ, มีไหวพริบซึมซาบในความรู้ที่มีอยู่ เอามาเชื่อมโยงเข้าสร้างความคิดและเหตุผลขึ้นใหม่ ใช้ประโยชน์ได้สบเหมาะ เข้ากับกรณีเข้ากับเหตุการณ์ — Paṭibhāṇa-paṭisambhidā: discrimination of sagacity; analytic insight of ready wit; initiative, creative and applicative insight)

…………..

(๒) “มรรค

เขียนแบบบาลีเป็น “มคฺค” (มัก-คะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มคฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; แสวงหา) + (อะ) ปัจจัย

: มคฺค + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางเป็นเครื่องไปสู่ที่ต้องการได้โดยตรง” (2) “ที่อันพวกคนเดินทางแสวงหา” (3) “ธรรมที่ยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน” (4) “ทางอันผู้ต้องการพระนิพพานดำเนินไป” 

(2) มชฺชฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด) + ปัจจัย, ลบ , แปลง ชฺชฺ ที่ (ม)-ชฺชฺ เป็น คฺค

: มชฺช + = มชฺชณ > มชฺช > มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่สะอาดโดยพวกคนเดินทาง

(3) (นิพพาน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่าง + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > )

: + คฺ + คมฺ = มคฺคม > มคฺค + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน

(4) (กิเลเส มาเรติ = ฆ่ากิเลส) + (จฺฉติ = ไป), ซ้อน คฺ

: + คฺ + = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “วิธีที่ไปฆ่ากิเลส

มคฺค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ถนน, ถนนใหญ่, ทาง, ทางเท้า (a road, high road, way, foot-path)

(2) ทางแห่งศีลธรรมและสัมมาชีพ, สัมมามรรคหรือทางที่ชอบธรรม (the road of moral & good living, the path of righteousness) คือมรรคในอริยสัจสี่ 

(3) ขั้นตอนของการบรรลุธรรม (Stage of righteousness) คือมรรคที่คู่กับผล

ในที่นี้ “มคฺค” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (2)

ในภาษาไทย ใช้อิงรูปสันสกฤตเป็น “มรรค” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มรรค, มรรค-, มรรคา : (คำนาม) ทาง (ส. มารฺค; ป. มคฺค); เหตุ, ใช้คู่กับ ผล ว่า เป็นมรรคเป็นผล (ส. มารฺค; ป. มคฺค); ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม คู่กับ ผล มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค, ทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ เป็น ๑ ในอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เรียกเต็มว่า มรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย สัมมาทิฐิ-ความเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา-การเจรจาชอบ ๑ สัมมากัมมันตะ-การงานชอบ ๑ สัมมาอาชีวะ-การเลี้ยงชีวิตชอบ ๑ สัมมาวายามะ-ความพยายามชอบ ๑ สัมมาสติ-ความระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ-ความตั้งใจชอบ ๑ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง. (ส. มารฺค; ป. มคฺค).”

ปฏิสมฺภิทา + มคฺค = ปฏิสมฺภิทามคฺค (ปะ-ติ-สำ-พิ-ทา-มัก-คะ) แปลว่า “ทางดำเนินไปสู่ความแตกฉาน” 

ปฏิสมฺภิทามคฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปฏิสัมภิทามรรค” (ปะ-ติ-สำ-พิ-ทา-มัก) 

ขยายความ :

ปฏิสัมภิทามรรค” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย 

ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) 

5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย

ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม 

คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ปฏิสัมภิทามรรค” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปฏิสัมภิทามรรค, ปฏิสัมภิทามัคค์ : ทางแห่งปฏิสัมภิทา, ข้อปฏิบัติที่ทำให้มีความแตกฉาน; ภาษิตของพระสารีบุตร อธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่นเรื่องญาณ ทิฏฐิ อานาปาน อินทรีย์ วิโมกข์เป็นต้น อย่างพิสดาร เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน จัดเป็นคัมภีร์ที่ ๑๒ แห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก.

…………..

สรุปความตามคำของอรรถกถาว่า คัมภีร์ “ปฏิสัมภิทามรรค” แบ่งเนื้อความเป็นหมวดใหญ่ 3 วรรค ให้ชื่อว่า มหาวรรค มัชฌิมวรรค และจุลวรรค

ปฏิสัมภิทามรรค” ประกอบด้วยกถาต่างๆ ดังนี้ –

1 ญาณกถา 

2 ทิฏฐิกถา

3 อานาปานกถา

4 อินทริยกถา

5 วิโมกขกถา

6 คติกถา

7 กรรมกถา

8 วิปัลลาสกถา

9 มรรคกถา

10 มัณฑกถา  

11 ยุคนัทธกถา

12 สัจจกถา

13 โพชฌังคกถา

14 เมตตากถา

15 วิราคกถา

16 ปฏิสัมภิทากถา

17 ธรรมจักกกถา

18 โลกุตตรกถา

19 พลกถา

20 สุญญตากถา

21 ปัญญากถา

22 อิทธิกถา

23 อภิสมยกถา

24 วิเวกกถา

25 จริยากถา

26 ปาฏิหาริยกถา

27 สมสีสกถา

28 สติปัฏฐานกถา

29 วิปัสสนากถา

30 มาติกากถา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หาทางไม่เจอ หนึ่ง

: เจอทางแล้วไม่เดิน หนึ่ง

: เดินไปผิดทาง หนึ่ง

: สามพวกนี้ยากที่จะไปถึงจุดหมายที่ถูกต้อง 

#บาลีวันละคำ (3,424)

27-10-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *