บาลีวันละคำ

วิมานวัตถุ-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,418)

วิมานวัตถุ-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย

บุญของชาวสวรรค์

อ่านว่า วิ-มาน-นะ-วัด-ถุ

ประกอบด้วยคำว่า วิมาน + วัตถุ

(๑) “วิมาน

บาลีอ่านว่า วิ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) วิ (แทนศัพท์ว่า “วิห” = อากาศ) + มา (ธาตุ = ไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วิ + มา = วิมา + ยุ > อน = วิมาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นเครื่องเดินทางไปในอากาศของพวกเทวดา”

(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ; นับ, นับถือ; รัก, ปรารถนา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน

: วิ + มา = วิมา + ยุ > อน = วิมาน แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ที่อันกรรมกะกำหนดโดยพิเศษ” 

(2) “ที่อันกรรมที่ประพฤติดีแล้วเนรมิตให้โดยพิเศษ” 

(3) “ที่อันกรรมเนรมิตไว้โดยมีสัณฐานเหมือนนก” (คือล่องลอยอยู่บนฟ้า) 

(4) “ที่อันพึงปรารถนาโดยพิเศษ” 

(5) “ที่อันนับถือกันว่าวิเศษสุดเพราะประกอบด้วยความงดงามอย่างวิเศษ

วิมาน” ในบาลีมีความหมาย 2 อย่าง คือ – 

(1) “รถ” อย่างเก่าในฐานเป็นยานของเทพยดาซึ่งขับขี่ไปได้ตามใจ (the old ratha [ = conveyance, carriage, vehicle] as chariot of the gods, to be driven at will)

(2) ปราสาทบนสวรรค์, แดนสวรรค์, แดนสุขาวดี (heavenly magic palace, a kind of paradise, Elysium)

วิมาน” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิมาน : (คำนาม) ที่อยู่หรือที่ประทับของเทวดา; ยานทิพย์. (ป., ส.).”

(๒) “วัตถุ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “วตฺถุ” อ่านว่า วัด-ถุ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (วสฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รตฺถุ > ตฺถุ)

: วสฺ > + รตฺถุ > ตฺถุ : + ตฺถุ = วตฺถุ 

หรือ : วสฺ + รตฺถุ = วสฺรตฺถุ > วตฺถุ 

วตฺถุ” (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งอยู่” มีความหมายหลายอย่าง คือ :

(1) วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์, สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ (object, real thing, property, thing, substance)

(2) แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่, ที่ดิน (site, ground, field, plot)

(3) มูลฐาน, รากฐาน, ฐานรองรับ, แก่นสาร, ธาตุ (basis, foundation, seat, (objective) substratum, substance, element)

(4) โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน (occasion for, reason, ground)

(5) เนื้อหา, รูปเรื่อง, เรื่องราว, รายงาน (subject matter, subject, story, account)

(6) ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ) (object, item)

บาลี “วตฺถุ” สันสกฤตเป็น “วสฺตุ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายในสันสกฤตไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

วสฺตุ : (คำนาม) พัสดุ, วัตถุ, สิ่ง; ภาวะหรือประกฤติ, สาระหรือมูลพัสดุ, มูล; มุขยบทแห่งกาพย์หรือนาฏก; matter, substance, thing; nature or essential property, essence or pith; the main subject of a poem or play.”

วตฺถุ” และ “วสฺตุ” ในบาลีสันสกฤต ไทยเราเอามาใช้เป็น 3 รูป คือ “วัตถุ” (วัด-ถุ) “วัสดุ” (วัด-สะ-ดุ) และ “พัสดุ” (พัด-สะ-ดุ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำทั้ง 3 ในภาษาไทยไว้ดังนี้ – 

(1) วัตถุ : (คำนาม) สิ่งของ. (ป.; ส. วสฺตุ).

(2) วัสดุ : (คำนาม) วัตถุที่นํามาใช้ เช่น วัสดุก่อสร้าง; ของใช้ที่มีอายุการใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น กระดาษ ดินสอ (ใช้แก่การงบประมาณ). (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).

(3) พัสดุ : (คำนาม) สิ่งของต่าง ๆ, เครื่องใช้ไม้สอย, ที่ดิน, บ้านเรือน. (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).

ในที่นี้ใช้ทับศัพท์เป็น “วัตถุ” มีความหมายตามความหมายของ “วตฺถุ” ข้อ (5) และข้อ (6) ข้างต้น

วิมาน + วตฺถุ = วิมานวตฺถุ (วิ-มา-นะ-วัด-ถุ) แปลว่า “เรื่องราวของผู้เกิดในวิมาน” 

วิมานวตฺถุ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิมานวัตถุ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “วิมานวัตถุ” ไว้ดังนี้ –

…………..

วิมานวัตถุ : เรื่องผู้เกิดในสวรรค์อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น เป็นคาถาล้วน รวม ๘๕ เรื่อง จัดเป็นคัมภีร์ที่ ๖ แห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก.

…………..

ขยายความ :

วิมานวัตถุ” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย 

ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) 

5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย

ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม 

คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

…………..

คัมภีร์ “วิมานวัตถุ” ประกอบด้วยเรื่องเล่าการทำความดีของผู้ที่ไปเกิดในวิมาน รวม 85 เรื่อง ดังต่อไปนี้ 

(แสดงความหมายชื่อของวิมานพอเป็นตัวอย่างไว้เล็กน้อย เมื่อมีโอกาสจะได้แสดงความหมายให้ครบทุกชื่อ หากนักเรียนบาลีท่านใดมีอุตสาหะและมีแก่ใจช่วยกันตรวจสอบแสดงความหมายชื่อของวิมานให้ครบทุกชื่อ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง)

1 – 5 ปีฐวิมาน วิมานตั่งทอง 5 เรื่อง

6 – 8 นาวาวิมาน วิมานเรือทอง 3 เรื่อง

9 ปทีปวิมาน วิมานดวงประทีป

10 ติลทักขิณวิมาน ถวายเมล็ดงา

11 – 12 ปติพพตาวิมาน ปฏิบัติซื่อตรงต่อสามี 2 เรื่อง

13 – 14 สุณิสาวิมาน สะใภ้ถวายขนม 2 เรื่อง

15 อุตตราวิมาน 

16 สิริมาวิมาน

17 เปสการิยวิมาน

18 ทาสีวิมาน

19 ลขุมาวิมาน

20 อาจามทายิกาวิมาน

21 จัณฑาลิวิมาน

22 ภัททิตถิกาวิมาน

23 โสณทินนาวิมาน

24 อุโปสถวิมาน

25 สุนิททาวิมาน

26 สุทินนาวิมาน

27 – 28 ภิกขาทายิกวิมาน 2 เรื่อง

29 อุฬารวิมาน

30 อุจฉุวิมาน

31 ปัลลังกวิมาน

32 ลตาวิมาน

33 คุตติลวิมาน

34 ทัททัลลวิมาน

35 เสสวตีวิมาน

36 มัลลิกาวิมาน

37 วิสาลักขิวิมาน

38 ปาริฉัตตกวิมาน

39 มัญชิฏฐกวิมาน

40 ประภัสสรวิมาน

41 นาควิมาน

42 อโลมวิมาน

43 กัญชิกทายิกาวิมาน

44 วิหารวิมาน

45 จตุริตถิวิมาน

46 อัมพวิมาน

47 ปีตวิมาน

48 อุจฉุวิมาน

49 วันทนวิมาน

50 รัชชุมาลาวิมาน

51 มัณฑุกเทวปุตตวิมาน

52 เรวติวิมาน

53 ฉัตตมาณวกวิมาน

54 กักกฎรสทายกวิมาน

55 ทวารปาลกวิมาน

56 – 57 กรณียวิมาน 2 เรื่อง

58 – 59 สูจิวิมาน 2 เรื่อง

60 – 62 นาควิมาน 3 เรื่อง

63 จูฬรถวิมาน 

64 มหารถวิมาน

65 – 66 อคาริยวิมาน 2 เรื่อง

67 ผลทายกวิมาน

68 – 69 อุปัสสยทายกวิมาน 2 เรื่อง

70 ภิกขาทายกวิมาน

71 ยวปาลกวิมาน

72 – 73 กุณฑลีวิมาน 2 เรื่อง

74 อุตตรวิมาน

75 จิตตลตาวิมาน

76 นันทนวิมาน

77 มณีถูณวิมาน

78 สุวัณณวิมาน

79 อัมพวิมาน

80 โคปาลวิมาน

81 กัณฐกวิมาน

82 อเนกวัณณวิมาน

83 มัฏฐกุณฑลิวิมาน

84 เสริสสกวิมาน

85 สุนิกขิตตวิมาน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ครองเรือนด้วยธรรมตลอดกาล

: บ้านก็เป็นวิมานตลอดไป

—————–

ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก: BuddhaSattha

#บาลีวันละคำ (3,418)

21-10-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *