สึก (บาลีวันละคำ 271)
สึก
(คำไทยที่มีรากมาจากบาลี)
“สึก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บไว้ 3 คำ คือ
สึก ๑ : กร่อนไป, ร่อยหรอไป เช่น รองเท้าสึก บันไดสึก
สึก ๒ : (ปาก) ลาสิกขา, ลาสึก ก็ว่า
สึก ๓ : การรู้ตัว, การระลึกได้, การจําได้, มักใช้ควบกับคํา รู้ เป็น รู้สึก และแผลงว่า สํานึก ก็มี
เฉพาะ “สึก” ๒ ไขความว่า “ลาสิกขา” หมายถึงลาจากเพศสมณะ คือที่พูดว่า “ลาสึก”
“สิกฺขา” มีความหมายว่า การเล่าเรียนให้รู้เข้าใจ และฝึกหัดปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติที่เกิดมีขึ้นในตนหรือให้ทำได้ทำเป็น
“สิกฺขา” จึงเป็น “ระบบชีวิต” หรือ วิถีชีวิต” อย่างหนึ่ง
ชาวบ้านเข้าไปบวชเป็นพระ คือเข้าไปอยู่ใน “สิกฺขา” อยู่ในระบบชีวิตหรือวิถีชีวิตแบบพระ
เมื่อออกมาจากระบบชีวิตแบบพระ จึงเรียกว่า “ลาสิกขา”
“สิกฺขา” เป็นคำบาลี. สันสกฤตเป็น “ศิกฺษา” เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “ศึกษา” คือ อิ เป็น อึ ทำนองเดียวกับ อนีก = อนึก, จาริก = จารึก, ผลิก = ผลึก
“ลาสิกขา” จึงเป็น “ลาศึกษา” แล้วกร่อนเป็น “ลาศึก” แล้วเขียนกลับเป็นบาลีว่า “ลาสิก” แต่ยังติดเสียงไทย จึงเป็น “ลาสึก” แล้วเหลือแต่ “สึก” คำเดียว
ฟัง : “เพศพระค่อยๆ กร่อนไป ร่อยหรอไป เหลือแต่เพศฆราวาส จึงเรียกว่า สึก”
คำอธิบายบางเรื่องน่าเชื่อ แต่ไม่จริง
บาลีวันละคำ (271)
4-2-56
ลาศึกษา
ลาสิกขา
อนีก = อนึก
จาริก = จารึก
ผลิก = ผลึก
ลาสิกขา
ก. ลาสึก, ลาจากเพศสมณะ.
สิกขา
น. ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อที่จะต้องปฏิบัติ ได้แก่ ศีล เรียกว่า ศีลสิกขา สมาธิ เรียกว่า จิตสิกขา และปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา; การศึกษา, การเล่าเรียน, เช่น ปริยัติสิกขา ปฏิบัติสิกขา. (ป.; ส. ศิกฺษา).
ศึกษา
น. การเล่าเรียน ฝึกฝน และอบรม. (ส. ศิกฺษา; ป. สิกฺขา).
สิกขาบท
น. ข้อศีล, ข้อวินัย, บทบัญญัติในพระวินัยที่พึงศึกษาปฏิบัติ. (ป.).
สึก ๑
ก. กร่อนไป, ร่อยหรอไป, เช่น รองเท้าสึก บันไดสึก.
สึก ๒
(ปาก) ก. ลาสิกขา, ลาสึก ก็ว่า.
สึก ๓
น. การรู้ตัว, การระลึกได้, การจําได้, มักใช้ควบกับคํา รู้ เป็น รู้สึก และแผลงว่า สํานึก ก็มี.
สึกหรอ
ก. กร่อนไป เช่น เครื่องจักรสึกหรอ, โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น การด่าว่าไม่ทำให้สึกหรออะไร.
สิกขา (ประมวลศัพท์)
การศึกษา, การสำเหนียก, การเรียน, การฝึกฝนปฏิบัติ, การเล่าเรียนให้รู้เข้าใจ และฝึกหัดปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติที่เกิดมีขึ้นในตนหรือให้ทำได้ทำเป็น ตลอดจนแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปจนถึงความสมบูรณ์; ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมพัฒนาบุคคล;
สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา สิกขาคือศีลอันยิ่ง, อธิศีลอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาศีลอย่างสูง (ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เป็นศีล, ปาฏิโมกขสังวรศีล เป็นอธิศีล; แต่ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ที่รักษาด้วยความเข้าใจ ให้เป็นเครื่องหนุนนำออกจากวัฏฏะ ก็เป็นอธิศีล)
๒. อธิจิตตสิกขา สิกขาคือจิตอันยิ่ง, อธิจิตอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาจิตใจให้มีสมาธิเป็นต้นอย่างสูง (กุศลจิตทั้งหลายจนถึงสมาบัติ ๘ เป็นจิต, ฌานสมาบัติที่เป็นบาทแห่งวิปัสสนา เป็นอธิจิต; แต่สมาบัติ ๘ นั้นแหละ ถ้าปฏิบัติด้วยความเข้าใจ มุ่งให้เป็นเครื่องหนุนนำออกจากวัฏฏะ ก็เป็นอธิจิต)
๓. อธิปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง, อธิปัญญาอันเป็นข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาปัญญาอย่างสูง (ความรู้เข้าใจหลักเหตุผลถูกต้องอย่างสามัญ อันเป็นกัมมัสสกตาญาณคือความรู้จักว่าทุกคนเป็นเจ้าของแห่งกรรมของตน เป็นปัญญา, วิปัสสนาปัญญาที่กำหนดรู้ความจริงแห่งไตรลักษณ์ เป็นอธิปัญญา;
แต่โดยนัยอย่างเพลา กัมมัสสกตาปัญญาที่โยงไปให้มองเห็นทุกข์ที่เนื่องด้วยวัฏฏะ หรือแม้กระทั่งความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ก้าวไปในมรรค ก็เป็นอธิปัญญา); สิกขา ๓ นี้ นิยมเรียกว่า ไตรสิกขา และเรียกข้อย่อยทั้งสามง่ายๆ สั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
สิกขาบท (ประมวลศัพท์)
ข้อที่ต้องศึกษา, ข้อศีล, ข้อวินัย, บทบัญญัติข้อหนึ่งๆ ในพระวินัยที่ภิกษุพึงศึกษาปฏิบัติ, ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีล ๓๑๑ แต่ละข้อๆ เรียกว่าสิกขาบท เพราะเป็นข้อที่จะต้องศึกษา หรือเป็นบทฝึกฝนอบรมตนของสาธุชน อุบาสก อุบาสิกา สามเณร สามเณรี ภิกษุ และภิกษุณี ตามลำดับ
คำถาม
เคยได้ยินคำว่า “ลาสิกขาบท” เรียนถามว่า เขาใช้ถูกหรือผิด อย่างไร
คำตอบ
ควรเป็น “ลาสิกขา” เพราะ “สิกขาบท” หมายถึงศีลแต่ละข้อเท่านั้น ไม่ใช่ระบบชีวิต เช่นไม่รับประทานอาหารในเวลาวิกาล (หลังเที่ยงวัน) เป็นสิกขาบทข้อหนึ่ง ถ้า “ลาสิกขาบท” ข้อนี้ ก็จะหมายความว่าพระรูปนั้นฉันข้าวค่ำได้ เพราะลาสิกขาบทข้อนี้ไปแล้ว แต่ถือว่ายังเป็นพระอยู่ถ้ายังไม่ได้ลาสิกขาบทข้ออื่นๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ยุ่งแย่เลย
อนึ่ง ในคำลาสึก ก็บ่งชัดเพราะกล่าวว่า “สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ …(สิกขัง ปัจจักขามิ) แปลว่า “ข้าพเจ้าขอลา สิกขา” ไม่ได้กล่าวว่า สิกฺขาปทํ ปจฺจกฺขามิ … (ประเด็น-กล่าวอย่างไรจึงสำเร็จเป็นการลาสิกขา-มีรายละเอียดอีกมาก)