บาลีวันละคำ

อวกาศ (บาลีวันละคำ 4,528)

อวกาศ

คำไม่ยาก แต่เข้าใจไม่ง่าย

อ่านว่า อะ-วะ-กาด

บาลีเป็น “อวกาส” (ส เสือ สะกด) อ่านว่า อะ-วะ-กา-สะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + กสฺ (ธาตุ = ไถ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (กสฺ > กาส )

: อว + กสฺ = อวกสฺ + = อวกสณ > อวกส > อวกาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ช่องเป็นที่ไถลง” 

อธิบายเป็นภาพว่า ถ้าเอาไถไปไถตรงไหน แล้วไถนั้นไม่ถูกอะไรเลย มีแต่ปักหัวลงท่าเดียว ตรงนั้นแหละเรียกว่า “อวกาส” 

อวกาส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การปรากฏขึ้น (appearance) 

(2) โอกาส (opportunity)

บาลี “อวกาส” สันสกฤตเป็น “อวกาศ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อวกาศ : (คำนาม) โอกาศ; ที่เก็บ; opportunity; a repository.”

ในภาษาไทย มีคำว่า “อวกาศ” ตามรูปสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อวกาศ : (คำนาม) บริเวณที่อยู่นอกบรรยากาศของโลก. (ส.).”

จะเห็นได้ว่า “อวกาส” ของบาลี “อวกาศ” ของสันสกฤต และ “อวกาศ” ของไทย ความหมายไม่ตรงกัน

อวกาศ” ของไทย เป็นคำที่บัญญัติจากคำอังกฤษว่า space

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล space เป็นไทยไว้ดังนี้ –

1. ที่ว่างเปล่าในท้องฟ้า, อวกาศ 

2. ระยะทาง, ระยะเวลา, ระยะห่าง, ระยะว่าง, ช่องว่าง 

3. เนื้อที่ 

4. หน้ากระดาษ 

5. เว้นวรรค, เว้นระยะ, เว้นช่อง 

6. ประเดี๋ยว

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล space เป็นบาลี ดังนี้:

(1) okāsa โอกาส (โอ-กา-สะ) = โอกาศ

(2) antara อนฺตร (อัน-ตะ-ระ) = ช่องว่าง

(3) ākāsa อากาส (อา-กา-สะ) = อากาศ

ขายความแทรก :

okāsa หรือ “โอกาส” ในบาลี ใช้ในความหมายหลายอย่าง ดังนี้ –

(1) ทัศนวิสัย, ระยะที่เห็นได้ (ศัพท์เรขาคณิต), ที่ว่าง, บรรยากาศ, อวกาศ (visibility, visible space [as geometrical term], open space, atmosphere, air as space) 

(2) การมองเห็นได้, รูปร่าง (visibility, appearance) 

(3) โอกาส, วาระ, จังหวะ, การตกลง, ความยินยอม, มติ (occasion, chance, opportunity, permission, consent, leave) 

(4) มองดูเหมือน, ดูปรากฏว่า (looking like, appearing) (ใช้เป็นคุณศัพท์)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โอกาส : (คำนาม) ช่อง, ทาง; เวลาที่เหมาะ, จังหวะ. (ป.; ส. อวกาศ).”

ākāsa หรือ “อากาส” ในบาลี หมายถึง อากาศ, ท้องฟ้า, บรรยากาศ, ช่องว่าง (air, sky, atmosphere; space)

ในภาษาไทยใช้เป็น “อากาศ” ( ศาลา สะกด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) แก๊สผสมที่ประกอบด้วยไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ ใช้หายใจหรือช่วยในการเผาไหม้เป็นต้น

(2) (ความหมายเชิงปรัชญา) ที่ที่ว่างเปล่าซึ่งมีอยู่เป็นเอกเทศจากสสาร, เป็นธาตุอย่าง 1 ใน 6 คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุนํ้า) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) วาโยธาตุ (ธาตุลม) อากาศธาตุ (ที่ว่างเปล่า) และวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้)

(3) ท้องฟ้า เช่น นกบินไปในอากาศ

(4) บางทีใช้หมายถึงสภาพดินฟ้าอากาศโดยทั่ว ๆ ไป เช่น เช้านี้อากาศดีจัง

ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป “อากาศ” คือ ที่ว่างเปล่า ไม่มีอะไร

เป็นอันว่า คำนี้มีหลายรูป คือ –

บาลีมี อวกาส โอกาส อากาส 

สันสกฤตมี อวกาศ อากาศ

ภาษาไทยมี อวกาศ โอกาส อากาศ

ขยายความ :

อวกาศ” ในภาษาไทย ตามพจนานุกรมฯ หมายถึง บริเวณที่อยู่นอกบรรยากาศของโลก

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เวลา 20:30 น.) อธิบายความหมายของคำว่า “อวกาศ” ดังนี้ –

(สะกดและวรรคตอนตามต้นฉบับ)

…………..

อวกาศ (อังกฤษ: outer space, หรือ space) คือ ความว่างเปล่าที่มีอยู่ระหว่างวัตถุท้องฟ้า รวมถึงโลก อวกาศมิได้ว่างเปล่าอย่างสิ้นเชิง แต่ประกอบด้วยสุญญากาศแข็งที่ประกอบด้วยอนุภาคความหนาแน่นต่ำ ซึ่งมีพลาสมาของไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นหลัก เช่นเดียวกับรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า สนามแม่เหล็กและนิวตริโน ปัจจุบัน การสังเกตได้พิสูจน์แล้วว่าอวกาศยังมีสสารมืดและพลังงานมืดอยู่ด้วย อุณหภูมิเส้นฐานกำหนดโดยรังสีพื้นหลังที่หลงเหลือจากบิกแบงมีค่าเพียง 2.7 เคลวิน ในทางตรงข้าม อุณหภูมิในโคโรนาของดาวฤกษ์อาจสูงถึงหนึ่งล้านเคลวิน พลาสมาที่มีความหนาแน่นต่ำมาก (น้อยกว่าหนึ่งอะตอมไฮโดรเจนต่อลูกบาศก์เมตร) และอุณหภูมิสูง (หลายล้านเคลวิน) ในอวกาศระหว่างดาราจักรเป็นที่มาของสสารแบริออน (baryonic matter) ในอวกาศ ความเข้มข้นเฉพาะถิ่นรวมกันเป็นดาวฤกษ์และดาราจักร อวกาศระหว่างดาราจักรกินปริมาตรส่วนใหญ่ของเอกภพ กระนั้น แม้แต่ดาราจักรและระบบดาวฤกษ์ก็แทบเป็นอวกาศที่ว่างเปล่าสิ้นเชิง

…………..

ญาติมิตรท่านใดมีความรู้ความสามารถ ถ้าจะกรุณาอธิบายเรื่อง “อวกาศ” ให้เข้าใจได้ง่ายกว่านี้ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ราหูจับจันทร์-เป็นปรากฏการณ์ในอวกาศห่างไกล

: กิเลสจับเกรอะอยู่ในหัวใจ-อะไรจะน่ากลัวกว่ากัน

#บาลีวันละคำ (4,528)

4-11-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *