บาลีวันละคำ

ทิสาปาโมกฺข (บาลีวันละคำ 272)

ทิสาปาโมกฺข

อ่านว่า ทิ-สา-ปา-โมก-ขะ

ภาษาไทยใช้ว่า “ทิศาปาโมกข์” อ่านว่า ทิ-สา-ปา-โมก

“ทิสาปาโมกฺข” ประกอบด้วย ทิสา + ปาโมกฺข

“ทิสา” คำเดียวกับ “ทิศ” ที่ใช้ในภาษาไทย แปลตามศัพท์แบบไขความว่า “ส่วนที่ปรากฏโดยการโคจรของดวงจันทร์เป็นต้น ว่าทางนี้อยู่ข้างหน้า ทางนี้อยู่ข้างหลัง” (พจน.42 จำกัดความสั้นๆ ว่า ด้าน, ข้าง, ทาง, เบื้อง)

ในภาษาบาลีคำนี้เป็นอิตถีลิงค์ จึงเป็น “ทิสา” ไม่ใช่ “ทิส” (ทิศ) เหมือนในภาษาไทย

“ปาโมกฺข” (จาก ป + มุข) แปลตามศัพท์ว่า “ดำรงอยู่ในความเป็นประมุข” หมายถึงผู้เป็นหัวหน้า, ผู้เป็นประธาน และมีความหมายว่า สำคัญ, ที่หนึ่ง, ดีเลิศ, วิเศษ, เด่น, สูงสุด, ประเสริฐ

ทิสา + ปาโมกฺข = ทิสาปาโมกฺข = ทิศาปาโมกข์ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นประธานในทิศ” แต่ใช้ในฐานะเป็นสำนวน (idiom) มีความหมายว่า “ผู้มีชื่อเสียงปรากฏไปทุกทิศ” ฝรั่งแปล “ทิสาปาโมกฺข” ว่า world-famed

“ทิศาปาโมกข์” เป็นคุณศัพท์ของผู้สอนศิลปวิทยาที่มีความรู้และชื่อเสียงโด่งดัง สำนักทิศาปาโมกข์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในอดีตของชมพูทวีป คือ ตักกศิลา

(หมอชีวกโกมารภัจก็สำเร็จแพทย์จากสำนักทิศาปาโมกข์แห่งตักกศิลา)

: ผลสำเร็จของศิษย์ วัดผลสัมฤทธิ์ของอาจารย์ (และของสำนักทิศาปาโมกข์ทั้งหลาย)

บาลีวันละคำ (272)

5-2-56

: ถ้าเอาวิชาความรู้ไปทำความดี ก็อย่าสนใจดีกรีว่าจบจากไหน

ทิสา จาก ทิสติ “อธิบายหรือชี้บอก” pointing out (บาลี-อังกฤษ)

ทิสา (ศัพท์วิเคราะห์)

– ทิสฺสติ จนฺทวตฺตนาทิวเสน อยํ ปุริมา อยํ ปจฺฉิมาติ อาทินา นานปฺปการโต ปญฺญายตีติ ทิสา ส่วนที่ปรากฏโดยการโคจรของดวงจันทร์เป็นต้น ว่า ทางนี้อยู่ข้างหน้า ทางนี้อยู่ข้างหลัง

ทิส ธาตุ ในความหมายว่าเห็น อ ปัจจัย อา.อิต.

– อิเม อมฺหากํ ครุฏฺฐานิยาติ อาทินา ปสฺสิตพฺพาติ ทิสา ผู้ที่พึงเห็นว่าดำรงอยู่ในฐานะที่ควรเคารพ

ทิส ธาตุ ในความหมายว่าเห็น อ ปัจจัย อา.อิต.

ปาโมกฺข = ประธาน, ประมุข, ประเสริฐ, สุงสุด (ศัพท์วิเคราะห์)

ปมุขภาเว ติฏฺฐตีติ ปาโมกฺโข ผู้ดำรงอยู่ในความเป็นประมุข

ปมุข บทหน้า + ณ ปัจจัย

สพฺพา ทิสา (อิต.) = ทั้งหมด ทุกทิศทุกทาง กว้างขวาง

ทิสาปาโมกฺข = มีชื่อเสียงทั่วโลก world-famed (บาลี-อังกฤษ)

ปาโมกฺข (ศัพท์ที่เป็นชุด คือ อคฺค เสฏฺฐ ปาโมกฺข อุตฺตม) (บาลี-อังกฤษ)

1. สำคัญ, ที่หนึ่ง, ดีเลิศ, วิเศษ, เด่น

2. หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

ปาโมกฺข ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

เลิศ, ประเสริฐ, อันก่อน, ประมุข.

ทิศ, ทิศา

น. ด้าน, ข้าง, ทาง, เบื้อง, (หมายเอา เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก เป็นต้น). (ส.; ป. ทิส).

ปาโมกข์

น. ผู้เป็นหัวหน้า, ผู้เป็นประธาน. (ป.).

ทิศาปาโมกข์

น. อาจารย์ผู้มีความรู้และชื่อเสียงโด่งดัง.

ทิสาปาโมกฺโขติ สพฺพทิสาสุ วิทิโต ปากโฏ ปธาโน วาติ อตฺโถ.

(คำอธิบายนี้แทรกอยู่ในอรรถกถาจีวรขันธกะ สมันต. ภาค ๓ หน้า ๒๔๕)

ปธาน ป.คุณ.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

เป็นใหญ่, เป็นหัวหน้า, สำคัญ, เป็นหลัก,ประธาน, หัวหน้า, มหาอำมาตย์

ปธาน นป.ความเพียร

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย