บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความมักง่ายทำลายภาษา

ความมักง่ายทำลายภาษา

—————————

และทำลายภาษาคือทำลายชาติ

(๑) “อุปาทาน” 

อ่านว่า อุ-ปา-ทาน 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปาทาน” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า 

(1) fuel, supply, provision (เชื้อ, เสบียง, อาหาร) 

(2) drawing upon, grasping, holding on, grip, attachment (อาศัย, ยึด, ยึดมั่น, ถือมั่น, เครื่องเกาะ, ยึดติด)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปาทาน : (คำนาม) การยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ. (ป.).”

(๒) “อุปทาน” 

อ่านว่า อุ-ปะ-ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าไปให้” (ผู้ที่จะรับอยู่ที่ไหน ก็เข้าไปที่นั่น แล้วให้ คือการนำไปให้จนถึงที่) หรือ “การมอบให้” หมายถึง ให้, มอบให้ (giving, bestowing)

คำว่า “อุปทาน” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า supply คู่กับ “อุปสงค์” ซึ่งบัญญัติจากคำอังกฤษว่า demand 

ทั้ง “อุปทาน” และ “อุปสงค์” แม้จะบัญญัติใช้กันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

——————

เป็นที่น่าประหลาดอย่างยิ่งที่คนทั้งหลายเมื่อจะพูดคำที่หมายถึง “ยึดมั่นถือมั่น, การนึกเอาเองแล้วยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ๆ” แทนที่จะพูดว่า “อุปาทาน” (attachment) ก็กลับพูดว่า “อุปทาน” (supply)

พูดก็ยังพอว่า เพราะเสียงคล้ายกัน แต่แม้จะเขียนเป็นอักษรก็ยังอุตส่าห์สะกดเป็น “อุปทาน” อยู่นั่นเอง 

โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลายมักจะเขียนผิดมาก คนทั้งหลายก็เขียนตามสื่อ แล้วก็พากันเขียนผิดกันอยู่ทั่วไปโดยไม่เฉลียวใจ

สื่อทั้งหลายมักอ้างว่า สื่อไม่ใช่ตำราเรียน และสื่อไม่มีหน้าที่สอนภาษาไทย เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่หรือความรับผิดชอบของสื่อ (อยากโง่มาเชื่อสื่อเองทำไมละ!)

ครั้นทักท้วงเข้า ก็มีผู้ออกรับแทนว่า ก็คนทั่วไปเขาไม่รู้ เพราะเขาไม่ได้เรียน จะไปโทษเขาไม่ได้ ต้องโทษคนที่เรียนมา คนที่เรียนมานั่นแหละจะต้องบอกเขา

ผมพยายามบอก พยายามอธิบายมานานแล้ว ถ้าใครติดตามอ่าน “บาลีวันละคำ” ก็จะเห็น (เช่น “อุปาทาน” บาลีวันละคำ (111) 27-8-55, “อุปสงค์อุปทาน” บาลีวันละคำ (1,742)12-3-60 และในที่อื่นๆ ทั่วไป ที่ไม่ได้บันทึกไว้) 

พูดแล้ว เตือนแล้วมาตั้งมากมาย แต่ก็คงเหมือนเดิม 

ที่ว่านี่ไม่ได้แปลว่าผมเป็นคนสำคัญ พูดอะไรออกไปคนทั้งเมืองจะต้องได้ยินและจะต้องเชื่อ 

ผมเป็นแค่ฝุ่นเมือง

แต่ในฐานะเพื่อนไทยด้วยกัน ทักท้วงกันด้วยความปรารถนาดี ควรจะมีคนฟังกันบ้าง 

แต่ปรากฏว่า ใครที่เคยใช้ผิดมาอย่างไร ก็ยังคงผิดอยู่อย่างนั้น

นี่แสดงว่า ปัญหาเรื่องใช้ภาษาไม่ถูกต้องนี้ ข้อเท็จจริงไม่ได้เกิดจาก “ความไม่รู้” อย่างที่อ้าง 

หากแต่เกิดจาก “ความไม่ใฝ่รู้” ประกอบกับไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไรนั่นเอง

หลายคนบอกว่า ชาติบ้านเมืองมีปัญหาที่สำคัญกว่านี้อีกตั้งมากมาย จะมาเอาอะไรกันนักหนากับเรื่องภาษา หยุมหยิมไม่เข้าเรื่อง เสียเวลา

——————

หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล นักการศึกษานามอุโฆษของไทยกล่าวว่า –

“ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้

ของไทยแน่นั้นหรือคือภาษา”

คนที่มีประสบการณ์ในการเดินทางไปต่างประเทศแนะนำว่า เมื่ออยู่ต่างประเทศ บนถนนที่ผู้คนเดินกันขวักไขว่ ถ้าอยากรู้ว่าใครเป็นคนไทย วิธีที่ง่ายที่สุด แต่ได้ผลแน่นอนที่สุดก็คือ ให้พูดภาษาไทยออกมาดังๆ 

เช่นตะโกนออกมาเป็นภาษาไทยว่า “คิดถึงบ้านจังโว้ย”

รับรองว่า ถ้าแถวนั้นมีคนไทย เขาจะแสดงตัวออกมาทันที

นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ภาษาเป็นเครื่องแสดงออกถึงความเป็นชาติ

——————

ปัจจุบันนี้ ในแผนที่โลกไม่มีแผ่นดินที่เป็น “ประเทศมอญ” อีกแล้ว 

แต่ทั้งๆ ที่ไม่มีแผ่นดินของตัวเอง แต่โลกก็รับรู้ว่ายังมีชาติมอญอยู่ในโลกนี้ 

เพราะคนมอญในเมืองไทยเขายังพูดภาษามอญกันอยู่

แม้เราจะรักษาแผ่นดินที่เรียกว่าประเทศไทยไว้ได้ 

แต่เมื่อใดที่ภาษาไทยวิบัติวินาศ 

เมื่อนั้นก็จะไม่มีชาติไทยเหลือไว้ให้ใครรู้จักอีกต่อไป

ความวิบัติวินาศของภาษาก็เริ่มมาจากความคิดความเห็นที่ว่า การพิถีพิถันเข้มงวดทางภาษาเป็นเรื่อง “หยุมหยิมไม่เข้าเรื่อง” นี่แหละ

…………..

ดูก่อนภราดา!

โปรดระลึกไว้เถิดว่า 

แม้เพียงการใช้คำอย่างมักง่าย 

ในที่สุดก็จะทำลายชาติของตัวเอง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๑

๑๑:๒๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *