กัมมัสสกตาสัทธา (บาลีวันละคำ 1,678)
กัมมัสสกตาสัทธา
เชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ แต่กรรมใครก็กรรมมัน
อ่านว่า กำ-มัด-สะ-กะ-ตา-สัด-ทา
ประกอบด้วย กัมม + สก + ตา + สัทธา
(๑) “กัมม”
บาลีเขียน “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
ในที่นี้เขียน “กัมม” ตามรูปบาลี
“กัมม” ในแง่ภาษา –
1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)
2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม
3- กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ”
“กัมม” ในแง่ความหมาย –
1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม
“กัมม” ในแง่ความเข้าใจ –
1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น”
2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)
3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น
(๒) “สก”
บาลีอ่านว่า สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ส (สรรพนาม = ตนเอง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ + ก (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ก-สกรรถ” (กะ-สะ-กัด) คือลง ก ข้างท้าย แต่มีความหมายเท่าเดิม)
ส + ณ = สณ + ก = สณก > สก แปลตามศัพท์ว่า “นี้ของตน” หมายถึง ของตน, เกี่ยวเนื่องด้วยตน (own)
กมฺม + สก, ซ้อน สฺ
: กมฺม + สฺ + สก = กมฺมสฺสก (กำ-มัด-สะ-กะ) แปลว่า “มีกรรมเป็นของตนเอง” (possessing one’s own kamma)
(๓) “ตา”
เป็นปัจจัยในภาวตัทธิต (ตัทธิต เป็นแขนงหนึ่งของบาลีไวยากรณ์ ว่าด้วยศัพท์ที่ใช้ปัจจัยต่อท้ายแล้วมีความหมายต่างๆ กันไป)
“ภาวตัทธิต” (พา-วะ-ตัด-ทิด) คือศัพท์ที่ลงปัจจัยจำพวกหนึ่ง (นอกจาก “ตา” แล้วยังมีปัจจัยอื่นอีก) แล้วแปลว่า “ความเป็น–” เช่น “ธมฺมตา” (ทำ-มะ-ตา) = “ความเป็นแห่งธรรม” ที่เราเอามาใช้ว่า “ธรรมดา”
กมฺมสฺสก + ตา = กมฺมสฺสกตา (กำ-มัด-สะ-กะ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนเอง”
(๔) “สัทธา”
ภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศรัทธา” ในที่นี้เขียนตามรูปบาลี
“สทฺธา” รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, ดี, ด้วยดี) + ธา (ธาตุ = เชื่อถือ, นับถือ, มอบไว้, ฝากไว้) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิต (ที่ สํ) เป็น ทฺ (สํ > สทฺ)
: สํ > สทฺ + ธา = สทฺธา + อ = สทฺธา แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เชื่อถือ” “สิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อถือ” “สิ่งที่เป็นเหตุให้มอบจิตไว้ด้วยดี” หมายถึง ความเชื่อ (faith)
(ดูเพิ่มเติมที่ “ตถาคตโพธิสัทธา” บาลีวันละคำ (1,677) 6-1-60)
กมฺมสฺสกตา + สทฺธา = กมฺมสฺสกตาสทฺธา (กำ-มัด-สะ-กะ-ตา-สัด-ทา) แปลตามศัพท์ว่า “เชื่อในความเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนเอง”
“กมฺมสฺสกตาสทฺธา” เขียนแบบไทยเป็น “กัมมัสสกตาสัทธา”
“กัมมัสสกตาสัทธา” เป็นหนึ่งในสัทธา 4 อย่างของชาวพุทธ คือ (1) กัมมสัทธา (2) วิปากสัทธา (3) กัมมัสสกตาสัทธา (4) ตถาคตโพธิสัทธา
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [181] บอกความหมายของ “กัมมัสสกตาสัทธา” ไว้ดังนี้ –
กัมมัสสกตาสัทธา : เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน, เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน (Kammassakatā-saddhā: belief in the individual ownership of action)
…………..
อภิปราย:
(1) เวลานี้มีผู้เชื่อ “เจ้ากรรมนายเวร” กันมาก “เจ้ากรรมนายเวร” ตามความรู้สึกหรือความเข้าใจของคนทั่วไปมักหมายถึงสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่มีอำนาจบันดาลให้เกิดโทษ เกิดทุกข์ เกิดปัญหาต่างๆ
(2) หลักสัจธรรมคือ “ผลเกิดแต่เหตุ” ปัญหาต่างๆ ที่มีผู้เชื่อว่าเกิดจากเจ้ากรรมนายเวรบันดาลให้เป็นไป จึงไม่ตรงกับหลักสัจธรรม
(3) ทุกข์ โทษ ความเดือดร้อนต่างๆ เป็นผลมาจากการกระทำเหตุ การขอร้องต้องการไม่ให้เกิดผล (เช่นขอให้เจ้ากรรมนายเวรบันดาลอย่าให้เกิดผลร้าย หรือขอเลิกแล้วต่อกัน) จึงผิดหลักเหตุผล
(4) “กัมมัสสกตาสัทธา” โดยความหมายก็คือการยอมรับผลของการกระทำ เป็นการแสดงความรับผิดชอบที่ถูกต้อง ปัจจุบันเราไม่ได้อบรมกันให้รู้จักผิดชอบ จึงมักปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปว่า ผู้กระทำผิดไม่ยอมรับผิดและไม่ยอมรับโทษอันเกิดจากกระทำผิดของตนเองแท้ๆ
…………..
: คนกล้า วิ่งไปรับผลของการกระทำอย่างองอาจ
: คนขลาด วิ่งไปอ้อนวอนเจ้ากรรมนายเวร
7-1-60