บาลีวันละคำ

พิพิธภัณฑสถาน (บาลีวันละคำ 2,374)

พิพิธภัณฑสถาน

พิพิธภัณฑ– ไม่ต้องมีการันต์กลางคำ

อ่านว่า พิ-พิด-ทะ-พัน-ทะ-สะ-ถาน

ประกอบด้วยคำว่า พิพิธ + ภัณฑ + สถาน

(๑) “พิพิธ

พิพิธ” บาลีเป็น “วิวิธ” (วิ-วิ-ทะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + วิธ (ส่วน, แผนก, ชนิด, อย่าง) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีอย่างอันหลากหลาย” หมายถึง หลายอย่าง, ต่างประการ, ปนกัน (divers, manifold, mixed)

บาลี “วิวิธ” ภาษาไทยแผลง เป็น ใช้เป็น “พิพิธ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

พิพิธ, พิพิธ– : (คำวิเศษณ์) ต่าง ๆ กัน. (ป., ส. วิวิธ).”

(๒) “ภัณฑ

บาลีเป็น “ภณฺฑ” (พัน-ดะ) รากศัพท์มาจาก ภฑิ (ธาตุ = ห่อ, เก็บ) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุ แล้วแปลงเป็น ,(ภฑิ > ภํฑิ > ภณฺฑิ), ลบสระที่สุดธาตุ และ

: ภฑิ > ภํฑิ > ภณฺฑิ + = ภณฺฑิก > ภณฺฑิ > ภณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลพึงห่อเก็บ” เดิมหมายถึงสิ่งซึ่งสามารถห่อแล้วเก็บไว้ได้ ต่อมาความหมายขยายไปถึงสิ่งของทั่วไป

ภณฺฑ (นปุงสกลิงค์) ในบาลี ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ของค้าขาย; สินค้า, สิ่งของ, ทรัพย์สมบัติ (stock in trade; collectively goods, wares, property, possessions)

(2) เครื่องใช้, วัตถุ, เครื่องมือ (implement, article, instrument)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภัณฑ-, ภัณฑ์ : (คำนาม) สิ่งของ, เครื่องใช้. (ป.; ส. ภาณฺฑ).”

(๓) “สถาน

บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สถาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สถาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก, ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน; ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน. (ส.; ป. ฐาน).”

การประสมคำ :

(1) พิพิธ + ภัณฑ = พิพิธภัณฑ แปลว่า “สิ่งของหลายอย่าง

(2) พิพิธภัณฑ + สถาน = พิพิธภัณฑสถาน แปลว่า “สถานที่เก็บสิ่งของหลายอย่าง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พิพิธภัณฑ์, พิพิธภัณฑสถาน : (คำนาม) สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ.

อภิปราย :

พิพิธภัณฑ” ถ้าไม่มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย ใส่การันต์ที่ เป็น “พิพิธภัณฑ์” อ่านว่า พิ-พิด-ทะ-พัน

แต่ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่นในที่นี้มีคำว่า “สถาน” มาสมาส ไม่ต้องใส่การันต์ที่ คือเขียนเป็น “พิพิธภัณฑสถาน” อ่านว่า พิ-พิด-ทะ-พัน-ทะ-สะ-ถาน

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “พิพิธภัณฑ์” กับ “พิพิธภัณฑสถาน” ไว้คู่กัน ใช้คำนิยามเดียวกัน

คำนิยามว่า “สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่าง ๆ” ใช้กับคำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ย่อมถูกต้อง เพราะมีคำว่า “สถาน” ซึ่งแปลว่า “สถานที่

แต่ใช้กับคำว่า “พิพิธภัณฑ์” (ไม่มีคำว่า “สถาน” ต่อท้าย) ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะคำว่า “พิพิธภัณฑ์” หมายถึง “สิ่งของหลายอย่าง” ไม่ได้หมายถึง “สถานที่เก็บสิ่ง…ต่างๆ

เข้าใจว่า คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ที่เก็บไว้คู่กับคำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ในที่นี้คงมีเจตนาจะให้หมายถึง “พิพิธภัณฑสถาน” นั่นเอง แต่พูดตัดคำลงมาอย่างภาษาปาก เหลือเพียง “พิพิธภัณฑ์

นี่ก็เข้าลักษณะ “ผิดจนถูก” ไปอีกคำหนึ่ง

หมายเหตุ :

ภาพประกอบบาลีวันละคำวันนี้ ผู้เขียนตั้งใจจะให้ดูภาพป้ายคำว่า “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี

พิพิธภัณฑ์-” มีการันต์กลางคำ ซึ่งเป็นคำที่เขียนผิด

ถ้าไปจากนครปฐม เข้าเมืองราชบุรี ข้ามสะพานสิริลักขณ์ (คนละแห่งกับสะพานธนะรัชต์) ก่อนถึงสี่แยกไฟแดงมีถนนเลี้ยวซ้ายเข้าเมืองราชบุรี ป้ายนี้ติดตั้งไว้ตรงทางแยกเลี้ยวซ้ายที่กล่าวนี้

คำว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” นั้น ไม่ต้องมีการันต์ที่คำว่า “-ภัณฑ-” ซึ่งอยู่กลางคำ เพราะเป็นคำสมาส คือมีคำว่า “สถาน” ต่อท้าย

โปรดดูภาพประกอบที่แสดงชื่อ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี” ที่ถูกต้อง เขียนถูกต้องตรงกันหมดทุกแห่ง

หน่วยงานที่ทำป้ายติดตั้งข้างทางนี้ ถือว่าขาดความรอบคอบอย่างยิ่ง

ผู้เขียนบาลีวันละคำ-ในฐานะคนราชบุรี-ขอทักท้วงไว้ ณ ที่นี้ และขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดการแก้ไขโดยไม่ชักช้า

ช่องโหว่ขนาดมหึมาในระบบราชการของเราก็คือ ระบบการกวดขัน เอาผิด ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดหรือความบกพร่องนั้นหย่อนยานหละหลวมอย่างยิ่ง ผู้มีอำนาจหน้าที่มักละเลย เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานพลอยเฉื่อยชาทอดธุระ เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ ทำผิดพลาดบกพร่องก็ไม่เป็นไร แม้ผิดพลาดแล้วปล่อยปละละเลยไว้ไม่แก้ไขก็ไม่มีใครเอาผิดลงโทษ ความสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่จึงเสื่อมทรามลงไปอย่างน่าสลดใจ

แต่ที่น่าสลดใจเป็นที่สุดก็คือ คนทั้งหลายแม้เห็นข้อผิดพลาดบกพร่องปรากฏอยู่ตรงหน้าแท้ๆ ก็มักพากันละเลยวางเฉย เห็นว่าไม่ใช่ธุระหน้าที่ของตัวเองที่จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรด้วย และมีเป็นจำนวนมากที่เห็นว่าข้อผิดพลาดบกพร่องแค่นี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

บ้านเมืองของเราดำเนินไปสู่ความพินาศ ก็เพราะคนในชาติพากันคิดเช่นนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ฟ้าผ่า ไม่ทำให้คนหูหนวกสะดุ้งสะเทือน

: คำเตือน ไม่ทำให้คนประมาทรู้สึกตัว

#บาลีวันละคำ (2,374)

12-12-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *