ความอ่อนแอทางวัฒนธรรม
ความอ่อนแอทางวัฒนธรรม
—————————-
สังคมไทยมีความอ่อนแอทางวัฒนธรรมหลายเรื่อง ขออนุญาตยกมาพูดสัก ๓ เรื่อง เฉพาะที่ใกล้ตัว
เรื่องที่ ๑
——–
การไม่หยุดยืนทำความเคารพเพลงชาติ
เรื่องนี้ผมเจอทุกเช้าที่ไปเดินออกกำลัง
เมื่อเช้านี้ (๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙) ก็เจอ
ญาติมิตรเชื่อไหมว่า ทั้งถนนมีผมยืนตรงเคารพเพลงชาติอยู่คนเดียว
นอกนั้นทำอะไรได้ตามใจคือไทยแท้
ผมได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เข้าโรงเรียนว่า เมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติตามกำหนดเวลา ให้ยืนตรง
ขอให้เป็นที่เข้าใจกันนะครับว่า เราผ่านจุดที่จะมาตั้งคำถามกันแล้วว่า ทำไมจะต้องยืนตรง การยืนตรงแสดงความเคารพเป็นวัฒนธรรมของไทยหรือ ฯลฯ
เรากำลังอยู่ในห้วงเวลาที่ต้องปฏิบัติตามกติกา
จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกติกาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่คนที่เจริญแล้วควรเคารพกติกา
ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจชัดขึ้น
คำว่า “ปัจจุสมัย” (ปัด-จุด-สะ-ไหฺม แปลว่า เวลาเช้ามืด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้เขียนมี ส เสือตัวเดียว
ผมไม่เห็นด้วยกับราชบัณฑิตยสภา
เพราะคำนี้ประกอบขึ้นจากคำว่า ปจฺจูส (ปัด-จู-สะ) แปลว่า เวลาใกล้รุ่ง + สมย (สะ-มะ-ยะ) คือ สมัย
ปจฺจูส + สมย ต้องเป็น ปจฺจูสสมย = ปัจจุสสมัย (ส เสือ สองตัว) อ่านว่า ปัด-จุด-สะ-ไหฺม
ถ้าเขียน ปัจจุสมัย (ส เสือ ตัวเดียว) จะแยกคำว่าอย่างไร
ปัจจุส + มย ก็ผิด เพราะคำหลังคือ -สมย ไม่ใช่ -มย
ปัจจุ + สมย ก็ผิด เพราะคำหน้าคือ ปัจจุส- ( = ปัจจูส) ไม่ใช่ ปัจจุ-
เพราะฉะนั้น คำนี้ต้องเขียน “ปัจจุสสมัย” (ส เสือ สองตัว) จึงจะถูกต้อง
ที่ว่ามานี้คือเหตุผลที่ผมไม่เห็นด้วย
แต่เมื่อจะเขียนคำนี้ ผมก็เขียน “ปัจจุสมัย” (ส เสือ ตัวเดียว) ตามพจนานุกรม เพราะพจนานุกรมเป็นกติกาทางภาษาของเราที่ต้องร่วมกันยึดถือ
ใครไม่เห็นด้วยกับการสะกดแบบนี้ และต้องการเขียนตามเหตุผลของตน วิธีที่ถูกต้องก็คือ เสนอความเห็นไปยังราชบัณฑิตยสภา ขอให้แก้ไขการเขียนคำนี้เสียใหม่ จาก “ปัจจุสมัย” (ส เสือ ตัวเดียว) เป็น “ปัจจุสสมัย” (ส เสือ สองตัว) เมื่อราชบัณฑิตยสภาเห็นชอบและประกาศแก้ไขตามข้อเสนอของเราแล้ว นั่นแหละ เราจึงจะเขียนคำนี้เป็น “ปัจจุสสมัย” ได้อย่างถูกต้องชอบธรรม
ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วย ก็แหกกติกาเอาตามใจชอบ
เรื่องหยุดยืนเพื่อเคารพเพลงชาติก็เช่นเดียวกัน
ใครไม่เห็นด้วย ก็ควรเสนอให้รัฐบาลประกาศออกมาอย่างเป็นทางการให้ชัดเจนว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติตามกำหนดเวลา ประชาชนที่อยู่ในประเทศนี้ไม่ต้องยืนตรง ไม่ต้องสนใจ กำลังทำอะไรอยู่ก็ทำต่อไปตามปกติ
หรือจะเสนอให้เลิกร้องและบรรเลงเพลงชาติเสียเลยก็ยิ่งดี
แต่ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วย ก็แหกกติกาเอาตามใจชอบ
การเคารพเพลงชาติเป็นวัฒนธรรมของชาติที่เจริญแล้ว
เมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติตามกำหนดเวลาแล้วไม่แสดงความเคารพ ย่อมแสดงถึงความอ่อนแอทางวัฒนธรรม และแสดงถึงความเสื่อมโทรมในจิตใจของผู้ที่ประพฤติเช่นนั้นด้วย
…………
เรื่องที่ ๒
———
การไม่ถอดรองเท้าเมื่อเข้าไปในเขตปูชนียสถาน
ปู่ย่าตายายของเราท่านเคารพเขตปูชนียสถานอย่างยิ่ง
คนรุ่นเก่าๆ ที่ผมเคยเห็นเมื่อตอนเป็นเด็ก พอเข้าเขตวัดท่านจะถอดรองเท้าทันที
ถอดตั้งแต่เข้าเขตวัด ไม่ใช่ถอดเมื่อจะเข้าโบสถ์วิหารลานพระเจดีย์
เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมถอดรองเท้าเข้าวัดอ่อนแอลงจนถึงที่สุดแล้ว
ไม่ใช่ไม่ถอดเมื่อเข้าเขตวัดอย่างเดียว แม้เข้าไปจนถึงเขตโบสถ์วิหารลานประทักษิณก็ไม่ถอด
ที่วัดอรุณราชวราราม ไม่ใช่ใส่รองเท้าเข้าไปในลานพระปรางค์แค่นั้น แต่ทั้งไทยทั้งเทศใส่เกือกย่ำขึ้นไปบนองค์พระปรางค์เลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่อ่อนแอ แต่ถึงขั้นเสื่อมโทรมและเสื่อมทรามถึงที่สุด
คนไทยสมัยนี้มีเหตุผลร้อยแปดที่จะอ้างว่า ถอดรองเท้านอกจากไม่สะดวกแล้วยังมีปัญหานั่นนี่โน่นร้อยแปด เพราะฉะนั้น ไม่ถอดดีกว่า
ถ้าทำประชาพิจารณ์ เชื่อได้เลยว่า เสียงของข้างไม่ต้องถอดรองเท้าชนะขาดลอย
เพราะคนไทยสมัยนี้ ร้อยละเก้าสิบเก้าจุดเก้าสิบเก้า ไม่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมถอดรองเท้าเข้าวัด
พูดตรงๆ-ไม่มีใครรู้สึกอีกต่อไปแล้วว่า สวมรองเท้าเข้าไปจนถึงไหนๆ นั้นมันผิดตรงไหน
ดีไม่ดีจะมีนักอภิปรายย้อนให้ว่า-พระศาสนานี่ต้องถอดรองเท้าเข้าวัดเท่านั้นหรือจึงจะชื่อว่าเคารพรัก ทำอย่างอื่นไม่เคารพอย่างนั้นหรือ คนที่ถอดรองเท้านั้นรู้ธรรมประพฤติธรรมวิเศษดีแล้วกระนั้นหรือ คนที่สวมรองเท้าเป็นคนเลวประพฤติธรรมไม่ได้กระนั้นหรือ ฯลฯ
แต่คนไทยร้อยละร้อยเมื่อไปเที่ยวเจดีย์ชเวดากอง ยอมปฏิบัติตามวัฒนธรรมถอดรองเท้าของพม่าโดยพร้อมเพรียงกัน
ซ้ำยังชื่นชมสรรเสริญพม่าอีกต่างหาก
แต่ที่บ้านตัวเอง ไม่ใช่ไม่รู้ว่าดี
เพียงแต่ไร้สำนึกที่เข้มแข็ง
………..
ที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี หลังพระวิหารหลวงเป็นองค์พระปรางค์ที่ประดิษฐานพระมหาธาตุ มีวิหารคดล้อม (ซึ่งผมชอบที่จะเรียกว่า “พระระเบียง”) มีประตูเข้าออกสองประตู ซ้าย-ขวา
ผู้ที่มาเที่ยววัดมหาธาตุ เมื่อจะเข้าประตูไปภายในพระระเบียงซึ่งก็คือเข้าไปในลานประทักษิณ ร้อยละเก้าสิบเก้าจุดเก้าสิบเก้าไม่ถอดรองเท้า
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผมเดินออกกำลังตอนเช้าแล้วแวะเข้าไปไหว้พระในวัด พอไปถึงประตูเข้าพระระเบียงก็ตกใจ เพราะมีรองเท้าถอดไว้นอกประตูเต็มไปหมด (ดูภาพประกอบ)
ได้ความจากแม่ชีที่ดูแลพระมหาธาตุว่า เป็นคณะนักท่องเที่ยวมาจากจังหวัดตาก
พวกเขาถอดรองเท้าไว้นอกประตูโดยที่แม่ชีไม่ได้บอก
เขาทำด้วยสำนึกของเขาเอง
กลายเป็นว่า คนที่มีวัฒนธรรมถอดรองเท้าเข้าวัดเข้มแข็ง คือคนที่มาจากจังหวัดบ้านนอก
ผมน้อมจิตคารวะรองเท้าผ่านไปถึงเจ้าของรองเท้าทุกคู่
อดรู้สึกไม่ได้ว่า-บางทีการไหว้รองเท้าก็อาจจะได้คุณค่าทางจิตใจมากกว่าไหว้ใครบางคนเสียอีก
…………
เรื่องที่ ๓
———
การนิยมกางหนังสือสวดมนต์แทนที่จะท่องให้จำได้
เรื่องที่ ๓ นี้จะช่วยให้มองเห็นประเด็นความอ่อนแอทางวัฒนธรรมของ ๒ เรื่องที่ว่ามาแล้วได้ชัดขึ้น-เมื่อคิดเทียบกัน
เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วมา พระตามวัดต่างๆ ไหว้พระสวดมนต์โดยไม่ต้องกางหนังสือ แม้แต่พระบวชใหม่ ส่วนใหญ่จะท่องเจ็ดตำนานจบตั้งแต่เป็นนาคอยู่วัด
ประชุมทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็นที่หอสวดมนต์หรือในโบสถ์ ทุกรูปไปมือเปล่า
สวดได้จากความจำ ไม่ใช่กางหนังสือสวด
รูปไหนยังท่องไม่ได้ ต้องเอาเจ็ดตำนานซุกจีวรเข้าไปด้วย ต้องนั่งแถวหลังสุด และแอบเปิดหนังสือไม่ให้ประเจิดประเจ้อ แฝงความรู้สึกอายอยู่ลึกๆ
ในหมู่ญาติโยมชาวบ้านที่มาถือศีลสวดมนต์ที่วัดก็เช่นเดียวกัน น้อยคนนักที่จะเปิดหนังสือสวด
สมัยนี้วัฒนธรรมสวดมนต์กลับตาลปัตร
สวดมนต์สมัยนี้น้อยคนนักที่จะสวดได้จากความจำ ส่วนมากกางหนังสือสวด
แม้แต่พระสงฆ์สามเณรก็พลอยเป็นไปด้วยทั่วไปหมด
เวลานี้กลายเป็นความนิยมแบบตรงกันข้าม ลงทำวัตรเช้า-เย็น รูปไหนไม่ถือหนังสือมนต์พิธีติดมือไปด้วย ชักจะรู้สึกกันว่าเหมือนไม่เต็มใจสวดมนต์
ต้องถือหนังสือไปกางสวดจึงจะแสดงว่าเอาใจใส่ในกิจของสงฆ์
ในหมู่ชาวบ้านญาติโยมก็เช่นกัน ถ้าไม่กางหนังสือสวดก็แทบจะไม่มีใครเชื่อว่ากำลังสวดมนต์
การกางหนังสือสวด ซึ่งในสมัยก่อนเป็นสัญลักษณ์ของความเกียจคร้าน สมัยนี้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำความดี
เวลานี้คนส่วนมากจะโต้กลับว่า-ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป คนมาทำบุญสวดมนต์ไหว้พระ กางหนังสือสวดก็ยังดีกว่าไม่มาเสียเลย จะเอาอะไรกันนักหนา
ผมอยากจะพูดว่า เป็นเหตุผลที่คิดตื้นๆ ก็เหมือนจะถูกต้องตามสัจธรรม คือทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยงแปลงไป
แต่ถ้าคิดให้ลึกจะเห็นว่าเป็นเหตุผลของคนยอมจำนน
เจ้าชายสิทธัตถะท่านก็เข้าใจสัจธรรมว่ามนุษย์เรามีเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา แต่ท่านไม่ยอมจำนนต่อความเกิดแก่เจ็บตาย ท่านคิดค้นหาทางหลุดพ้นจากเกิดแก่เจ็บตายจนได้
ค่านิยมที่ไม่ท่องจำบทสวดมนต์ แต่นิยมกางหนังสือสวดนั้น ไม่ใช่เกิดเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการไม่ฝึกฝนอบรมพัฒนา เพราะความประมาทไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของการท่องบ่นสาธยายจากความทรงจำ
อุปมาเหมือนสตรีไทยสมัยนี้ที่ส่วนมากไม่มีความคิดที่จะฝึกหัดศึกษาการครัวการเรือน
ทำกับข้าวไม่เป็นก็ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน ร้านอาหารร้านเซเว่นมีทั่วไป ซื้อกินสะดวกสบายกว่ากันเยอะ
ดูแลบ้านช่องไม่เป็นก็ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน จ้างบริษัทรับเหมาทำความสะอาด สะดวกสบายกว่ากันเยอะ
ซักรีดเสื้อผ้าไม่เป็นก็ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน ร้านรับซักรีดมีทั่วไป สะดวกสบายกว่ากันเยอะ
และ…
สวดมนต์ จะต้องท่องจำให้หนักสมองไปทำไม หนังสือมนต์พิธีหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป กางหนังสือสวดสะดวกสบายกว่ากันเยอะ
เพราะฉะนั้น ค่านิยมที่เสื่อมโทรมและเสื่อมทรามจึงเกิดเพราะขาดการฝึกฝนพัฒนา ไม่ใช่เกิดตามธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง-ตามเหตุผลของคนที่คิดแบบยอมจำนน
เราทำตนให้ตกต่ำเอง ทั้งๆ ที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ และมนุษย์ที่พัฒนาได้สำเร็จแล้วจะเป็นยอดมนุษย์ ดังพุทธภาษิตที่อ้างกันมาตั้งแต่เรียนนักธรรมชั้นตรีว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ
ยอดมนุษย์พัฒนาไปจากมนุษย์ธรรมดาอย่างพวกเรานี่เอง ตัวอย่างอันจะเป็นแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ก็มีให้เห็นเป็นอเนกอนันตัง แต่เราไม่มองกันเอง
—————-
ยืนตรงเคารพเพลงชาติ
ถอดรองเท้าเข้าวัด
และ ท่องจำบทสวดมนต์ให้ได้
เป็นเพียงแบบทดสอบพื้นๆ ตื้นๆ เราก็สอบไม่ผ่านกันแล้ว
เราพร้อมใจกันปล่อยให้วัฒนธรรมที่เคยเข้มแข็งกลับอ่อนแอลงถึงเพียงนี้
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๐ มีนาคม ๒๕๕๙
๑๘:๐๒
———-
ปัจจุสมัย
[ปัดจุดสะไหฺม] น. เวลาเช้ามืด. (ป. ปจฺจูสสมย).