บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำสอนที่สวนทาง (๒)

คำสอนที่สวนทาง (๒)

———————

เรื่องบริจาคมากได้บุญมาก

คำสอนเรื่องหนึ่งของสำนักธรรมกายที่เห็นประจักษ์กันทั่วไปก็คือ สอนว่าทำบุญมากได้ผลมาก ทำน้อยได้ผลน้อย

ขอให้พิจารณาคำกล่าวต่อไปนี้

……….

เราจะมี

รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ หรือคุณสมบัติ

ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

ก็ขึ้นอยู่กับ “บุญ”

ถ้าทำมาก..ก็มีมาก

ทำปานกลาง..ก็มีปานกลาง

ทำน้อย..ก็มีน้อย

ถ้าไม่ทำ..ก็ไม่มี

……….

คำว่า “ทำมาก..ก็มีมาก” หมายความว่า ถ้าทำบุญมาก รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ และลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็จะมีมาก

นี่เป็นคำชี้นำ หรือโน้มน้าวใจให้ “อยาก”

พูดแบบหาเรื่องกันนิดๆ ก็ว่า-ยกเอารูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ และลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ขึ้นมาล่อให้อยากได้

แน่นอน ปุถุชนคนมีกิเลสก็ต้องอยากได้เป็นธรรมดา

พอล่อให้อยากได้แล้ว ก็ชี้แนะต่อไป-อยากได้ก็ต้องทำ “บุญ” สิ

แล้วก็สรุปชวนแบบให้คิดตาม

………..

ทำมาก..ก็มีมาก

ทำปานกลาง..ก็มีปานกลาง

ทำน้อย..ก็มีน้อย

ไม่ทำ..ก็ไม่มี

………..

ฟังดูก็เป็นเหตุเป็นผลทุกประการ

ฟังดูก็ไม่เห็นจะมีอะไรผิดตรงไหน

โปรดดูต่อไปอีก

วัดพระธรรมกายสอนว่า

———-

แน่นอนว่าผู้ที่ให้ทานจำนวนมากกว่าก็ย่อมได้รับผลมากกว่า

เหมือนคนทำนา ๑๐๐ ไร่ ย่อมได้ผลมากกว่าคนทำนา ๑ ไร่

———-

นี่เป็นการย้ำว่า “ทำบุญมาก” ในความหมายของสำนักวัดพระธรรมกายก็คือ “ให้ทานจำนวนมาก

อยากได้รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ และลาภ ยศ สรรเสริญ สุขมากๆ ก็ต้องบริจาคมากๆ

“ทำบุญ” อาจหมายถึงให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

ฟังให้ดีนะครับ ประเดี๋ยวจะมีคนแย้งกลับมาอีก 

ผมบอกว่าบุญอย่างอื่นวัดพระธรรมกายก็สอน ไม่ใช่ไม่สอน

แต่ “ทำบุญ” ตามคำสอนของสำนักนี้เน้นที่ทานมัย บุญบริจาค-บุญที่สำเร็จได้ด้วยการควักกระเป๋า เปิดบัญชี โอนที่ โอนเงิน โอนทรัพย์สินเท่านั้นที่เน้น

กิจกรรมบุญใดๆ ที่สำนักนี้จัด ไม่ว่าจะเป็นตักบาตรพระสงฆ์หมื่นรูป บวชพระแสนรูป เดินธุดงค์ธรรมชัย หรือแม้แต่กิจกรรมเชิงวิชาการอื่นใด ล้วนมุ่งไปที่การจูงใจให้คนควักประเป๋าเป็นจุดหมายปลายทาง

และเน้นย้ำที่-อยากได้บุญมากๆ ก็ต้องบริจาคมากๆ

ทั้งต้องบริจาคกับธรรมกายเท่านั้นด้วย

เราไม่เคยได้ยินธรรมกายบอกว่า-ญาติโยมทั้งหลาย อยู่ใกล้วัดไหน สะดวกวัดไหน หรือศรัทธาวัดไหน ก็ขอให้ไปทำบุญกันที่วัดนั้นแหละ ไม่ต้องมาที่วัดธรรมกายหรอก ทำบุญที่วัดไหนก็ได้บุญเหมือนกันนั่นแหละโยม

เราเคยเห็นแต่ธรรมกายดูดพระจากวัดต่างๆ ไปร่วมชุมนุมในกิจกรรมที่ธรรมกายจัดขึ้น

บรรพบุรุษของเราท่านสร้างวัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ

เมื่อดูดเอาพระจากวัดต่างๆ มา ธรรมกายเคยรู้สึกบ้างไหมว่าญาติโยมรอบวัดนั้นเขาจะคิดอย่างไร เขาจะไปทำบุญกันที่ไหน แล้วจะสร้างวัดตามหมู่บ้านตำบลต่างๆ ไว้ทำไม

นี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า ทำบุญต้องทำกับธรรมกายเท่านั้น

—————-

คราวนี้ก็มาดูกันว่า-แล้วในคัมภีร์ท่านแสดงไว้อย่างไร

ขออนุญาตยกเรื่องจากคัมภีร์วิมานวัตถุมาเสนอสักเรื่องหนึ่ง

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าของเราเสด็จดับขันธปรินิพพานและได้ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งกรุงราชคฤห์ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ทรงได้รับส่วนแบ่งมาสร้างสถูปไว้ในเมืองราชคฤห์และจัดให้มีงานฉลอง

สตรีนางหนึ่งเก็บดอกโกสาตกีได้ ๔ ดอก เกิดศรัทธาคิดจะเอาไปบูชาพระสถูป

“โกสาตกี” (โก-สา-ตะ-กี) ท่านแปลกันว่า บวบขม เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามพื้นถิ่นทั่วไป ไม่มีราคาค่างวดอะไร และน่าจะกินไม่ได้ เพราะมีคำขยายความว่า “อนภิจฺฉิตา” แปลว่า “ไม่มีใครอยากได้”

พอเกิดศรัทธา สตรีนางนั้นก็เดินมุ่งหน้าไปที่พระสถูป ตั้งใจเอาดอกบวบขมไปบูชา

ระหว่างทางถูกโคขวิดตาย ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รัศมีข่มเทพธิดาองค์อื่นๆ ทั้งหมด พระอินทร์ถามว่า ทำบุญด้วยอะไรจึงได้มาเกิดที่นี่ นางก็ตอบว่าทำบุญด้วยดอกบวบขม ความจริงแล้วยังไม่ทันได้ทำสำเร็จด้วยซ้ำ แค่ตั้งใจและกำลังจะไปทำเท่านั้น

พระอินทร์ได้ฟังดังนั้นจึงตรัสกับมาตลีเทพสารถีว่า

ปสฺส  มาตลิ  อจฺเฉรํ 

จิตฺตํ  กมฺมผลํ  อิทํ 

อปฺปกมฺปิ  กตํ  เทยฺยํ 

ปุญฺญํ  โหติ  มหปฺผลํ

นตฺถิ  จิตฺเต  ปสนฺนมฺหิ 

อปฺปกา  นาม  ทกฺขิณา 

ตถาคเต  วา  สมฺพุทฺเธ 

อถ วา  ตสฺส  สาวเก.

มาตลีเอย 

จงดูผลแห่งกรรมอันวิจิตรน่าอัศจรรย์นี้เถิด

ไทยธรรมที่เทพธิดานี้ถวายแล้วถึงจะน้อย บุญก็มีผลมาก

เมื่อจิตเลื่อมใสในพระตถาคตสัมพุทธเจ้า

หรือในสาวกของพระองค์ก็ตาม (แล้วทำบุญ)

ผลบุญไม่ชื่อว่าน้อยเลย

ที่มา: 

ปีตวิมาน วิมานวัตถุ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๔๗

ปรมัตถทีปนี อรรถกถาวิมานวัตถุ หน้า ๒๗๐-๒๗๕

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๔๘ หน้า ๓๘๒-๓๘๙

—————-

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาประกอบ คือหลักเรื่องสัมปทา ๔

ขอยกข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอไว้ตรงนี้ ท่านแสดงไว้กระชับและชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว

———-

[190] สัมปทา หรือ สัมปทาคุณ 4 (ความถึงพร้อม, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งทำให้ทานที่บริจาคแล้ว เป็นทานอันยอดเยี่ยม มีผลมาก อาจเห็นผลทันตา — Sampadā: successful attainment; accomplishment; excellence)

1. วัตถุสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือบุคคลผู้เป็นที่ตั้งรองรับทาน เช่น ทักขิไณยบุคคลเป็นพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี ผู้เข้านิโรธสมาบัติได้ — Vatthu-sampadā: excellence of the foundation for merit)

2. ปัจจัยสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยปัจจัย คือ สิ่งที่จะให้เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบธรรม — Paccaya-sampadā: excellence of the gift)

3. เจตนาสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือ มีเจตนาในการให้สมบูรณ์ครบ 3 กาล ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ จิตโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา — Cetanā-sampadā: excellence of the intention)

4. คุณาติเรกสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยคุณส่วนพิเศษ คือ ปฏิคาหกมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ทักขิไณยบุคคลนั้น ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ — Guṇātireka-sampadā: excellence of extra virtue)

DhA.III.93. ธ.อ.5/88.

———-

จะเห็นได้ว่า ในหลักเรื่องสัมปทา ๔ นี้ ของที่ทำบุญต้องเป็นของบริสุทธิ์คือได้มาโดยถูกธรรมถูกทาง ท่านไม่ได้บอกเลยว่าต้องบริจาคมากๆ จึงจะได้บุญมาก

สรุปว่า การจะทำบุญให้ได้บุญมาก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินหรือปริมาณของทรัพย์สินที่บริจาคแต่ประการใดเลย แม้จะถวายของเพียงเล็กน้อย ก็ได้บุญมาก ถ้ามีองค์ประกอบที่ถูกต้อง เช่นจิตเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัยเป็นต้น

—————-

มีพระสูตรอีกสูตรหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ขอนำมาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อประกอบการศึกษา

พระสูตรนี้ชื่อ “เวลามสูตร” มีมาในคัมภีร์อังคุตรนิกาย นวกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ ข้อ ๒๒๔ หน้า ๔๐๕-๔๐๘

เล่าลัดๆ ว่า ในอดีตกาลนานไกล ในชมพูทวีปมีพราหมณ์ชื่อ “เวลามะ” (เวลามพราหมณ์) ได้ถวายมหาทานอย่างมโหฬาร

รายการทรัพย์สินที่บริจาคมีดังต่อไปนี้ –

๑ ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด

๒ ถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด 

๓ ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด 

๔ ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก พร้อมเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง

๕ รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง 

๖ แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก (ให้น้ำนมมาก) ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม 

๗ หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล 

๘ บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ (พรมอย่างดี) ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง 

๙ ผ้าเนื้อดี ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร และผ้าฝ้าย 

๑๐ ข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค เครื่องลูบไล้ ที่นอน มีปริมาณมากมายเหมือนแม่น้ำไหลไป 

ทั้งปริมาณและคุณภาพของทรัพย์สินเอามาสร้างวัดพระธรรมกายได้อีกร้อยวัด

แต่ทำบุญมากมายขนาดนั้น พระพุทธองค์ยังตรัสว่า

๑ เลี้ยงพระโสดาบันองค์เดียวอิ่มเดียวได้บุญมากกว่าทานทั้งหมดที่เวลามพราหมณ์บริจาคตามรายการข้างต้น 

๒ เลี้ยงพระสกทาคามีองค์เดียวอิ่มเดียว ได้บุญมากกว่าเลี้ยงพระโสดาบัน ๑๐๐ องค์

๓ เลี้ยงพระอนาคามีองค์เดียวอิ่มเดียว ได้บุญมากกว่าเลี้ยงพระสกทาคามี ๑๐๐ องค์

๔ เลี้ยงพระอรหันต์องค์เดียวอิ่มเดียว ได้บุญมากกว่าเลี้ยงพระอนาคามี ๑๐๐ องค์

๕ เลี้ยงพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียว ได้บุญมากกว่าเลี้ยงพระอรหันต์ ๑๐๐ องค์

๖ เลี้ยงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียว ได้บุญมากกว่าเลี้ยงพระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ องค์

๗ เลี้ยงพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ ได้บุญมากกว่าเลี้ยงเฉพาะพระพุทธเจ้าองค์เดียว

๘ สร้างวัดหรือสร้างเสนาสนะถวายให้เป็นของสงฆ์ ได้บุญมากกว่าเลี้ยงพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์

๙ ทำจิตใจให้ผ่องใสนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ได้บุญมากกว่าสร้างวัดหรือสร้างเสนาสนะถวายให้เป็นของสงฆ์

๑๐ ตั้งใจรักษาศีลแล้วรักษาได้จริง ได้บุญมากกว่าทำจิตใจให้ผ่องใสนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

๑๑ เจริญเมตตาแม้เพียงชั่วเวลาสูดกลิ่นหอมอึดหนึ่ง (หรือชั่วเวลาที่รีดนมได้หยดหนึ่ง) ได้บุญมากกว่ารักษาศีล 

๑๒ เจริญอนิจสัญญา (พิจารณาให้เห็นประจักษ์ใจว่าสรรพสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน) เพียงชั่วเวลาดีดนิ้วมือทีหนึ่ง ได้บุญมากกว่าเจริญเมตตาอึดใจหนึ่ง

ลองคำนวณดูว่า จะต้องบริจาคทรัพย์สินเป็นปริมาณมากมายมหาศาลขนาดไหนจึงจะได้บุญเท่ากับเจริญอนิจสัญญาเพียงชั่วเวลาดีดนิ้วมือทีหนึ่ง

พูดอีกแง่หนึ่ง ระหว่าง –

๑ การบริจาคทรัพย์สินเป็นปริมาณมากมายมหาศาลเหมือนกับที่เวลามพราหมณ์ถวายมหาทาน

กับ –

๒ การเจริญอนิจสัญญาเพียงชั่วเวลาดีดนิ้วมือทีหนึ่ง 

อย่างไหนจะได้บุญมากกว่ากัน ?

ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า เราไม่จำเป็นต้องบริจาคทานอะไรกันอีกแล้วนะครับ อย่าเข้าใจผิดเป็นอันขาด

ทำบุญให้ทานบริจาคทรัพย์สินก็ยังคงต้องทำ เลิกไม่ได้

แต่ทำตามกำลัง

ไม่ใช่ทำตามคำโฆษณาชวนเชื่อว่า ทำมากได้บุญมาก

—————-

ก่อนจบตอนนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับการทำบุญบริจาคที่นำมาเสนอให้ทราบนี้ล้วนแต่มีอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก

วัดพระธรรมกายมีมหาเปรียญเฉพาะที่เป็นเปรียญเอก ๙ ประโยคประมาณ ๘๐ รูป ต่ำกว่า ๙ ประโยคอีกเป็นร้อย ท่านเหล่านั้นล้วนทรงภูมิรู้ที่สามารถค้นคว้าพระไตรปิฎกได้แตกฉานทั้งสิ้น

สำนักธรรมกายสอนสวนทางกับพระไตรปิฎกอยู่เช่นนี้ ท่านจะมีประโยค ๙ เปรียญเอกเป็นร้อยๆ ไว้ทำอะไรขอรับ?

————–

ตอนต่อไป-เรื่องสร้างศาสนสถานใหญ่โต

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ เมษายน ๒๕๕๙

๑๖:๔๖

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *