บาลีวันละคำ

บริวารกฐิน (บาลีวันละคำ 2,337)

บริวารกฐิน

ลูกน้องใหญ่กว่านาย

อ่านว่า บอ-ริ-วาน-กะ-ถิน

ประกอบด้วยคำว่า บริวาร + กฐิน

(๑) “บริวาร

บาลีเป็น “ปริวาร” (ปะ-ริ-วา-ระ) รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + วร (ธาตุ = ระวัง, ป้องกัน) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (วรฺ > วาร)

: ปริ + วรฺ = ปริวรฺ + = ปริวรณ > ปริวร > ปริวาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ระวังโดยรอบ” “ผู้ป้องกันโดยรอบ” “เครื่องป้องกันโดยรอบ

ปริวาร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) คนแวดล้อม, ผู้ติดตามไปเป็นกลุ่ม, บริวาร, สาวก, ผู้ติดสอยห้อยตาม, กระบวน (surrounding, suite, retinue, followers, entourage, pomp)

(2) ผู้ติดตาม, สิ่งประกอบหรือของที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีเกียรติ, ความเคารพ, การรับใช้, การแสดงความภักดี, เกียรติคุณ (followers, accompaniment or possession as a sign of honour, and therefore meaning “respect,” attendance, homage, fame)

(3) ส่วนผสม, ส่วนที่เพิ่มเติม, บริขารหรือของจำเป็น (ingredient, accessories, requisite)

(4) เป็นชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายในวินัยปิฎกชื่อ ปริวาร, ส่วนเพิ่มเติม, ภาคผนวก (as N. it is the name of the last book of the Vinaya Piṭaka [“The Accessory”], the Appendix, a sort of résumé and index of the preceding books)

ปริวาร” ในภาษาไทยใช้เป็น “บริวาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บริวาร : (คำนาม) ผู้แวดล้อมหรือผู้ติดตาม เช่น พระพุทธเจ้ามีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร, สิ่งที่เป็นส่วนประกอบหรือสมทบสิ่งอื่นที่เป็นประธาน เช่น บริวารกฐิน. (คำวิเศษณ์) ที่แวดล้อม เช่น ดาวบริวาร. (ป., ส. ปริวาร).”

(๒) “กฐิน

บาลีอ่านว่า กะ-ถิ-นะ รากศัพท์มาจาก กฐฺ (ธาตุ = อยู่ลำบาก) + อิน ปัจจัย

: กฐฺ + อิน = กฐิน แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่อยู่ลำบาก

คำว่า “กฐิน” ในบาลี :

(1) ถ้าเป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) แปลว่า “ไม้สะดึง” คือไม้แบบสำหรับขึงเพื่อตัดเย็บจีวร

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “กฐิน” (คำนาม) ว่า –

the cotton cloth which was annually supplied by the laity to the bhikkhus for the purpose of making robes, also a wooden frame used by the bh. in sewing their robes (ผ้าฝ้ายที่ฆราวาสถวายประจำปีแก่ภิกษุเพื่อทำจีวร, ไม้สะดึงที่ภิกษุใช้เย็บจีวร)

(2) ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า แข็ง, แนบแน่น, ไม่คลอนแคลน, หนัก, หยาบกร้าน, โหดร้าย (hard, firm, stiff, harsh, cruel)

ในที่นี้ “กฐิน” หมายถึงผ้าที่มีผู้ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบสามเดือนแล้วเพื่อผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเดิม มีพระพุทธานุญาตให้สงฆ์ยกผ้านั้นให้แก่ภิกษุรูปหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันเพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง โดยภิกษุทั้งหมดที่จำพรรษาร่วมกันนั้นต้องช่วยกันทำเพื่อแสดงถึงความสามัคคี

บริวาร + กฐิน = บริวารกฐิน แปลอย่างคำประสมแบบไทยว่า “เครื่องประกอบองค์กฐิน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่คำว่า “กฐิน” บอกไว้ตอนหนึ่งว่า –

กฐิน, กฐิน– : (คำนาม) ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล, … เฉพาะผ้ากฐิน บางทีก็เรียกว่า องค์กฐิน ถ้าพร้อมกับของอื่นอันเป็นบริวารสําหรับถวายภิกษุสงฆ์ เรียกว่า เครื่องกฐิน หรือ บริวารกฐิน [บอริวานกะถิน] … ฯลฯ …”

ขยายความ :

คนแต่ก่อนพูดกันว่า “จัดเครื่องกฐินก็เหมือนจัดบริขาร อย่างน้อยพอบวชพระได้องค์หนึ่ง” ดังนั้น นอกจากไตรครอง 1 ไตรอันเป็น “องค์กฐิน” แล้ว รายการเครื่องกฐินอันเป็น “บริวารกฐิน” ที่จัดกันทั่วไปจึงนิยมกำหนดดังที่จะขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้พอให้เห็นค่านิยมที่มีอยู่ในยุคสมัยหนึ่ง ดังต่อไปนี้ –

1 ไตรจีวรพระคู่สวด 2 ไตร

2 บาตร พร้อมธมกรก (เครื่องกรองน้ำ) มีดโกน เข็ม 1 ชุด

3 ตาลปัตรและย่าม 1 ชุด

4 เสื่อ ที่นอน หมอน ผ้าห่มนอน มุ้ง 1 ชุด

5 ร่ม 1 คัน

6 ปิ่นโต 1 เถา

7 รองเท้า 1 คู่

8 กาต้มน้ำ 1 ใบ

9 ถังกานวม, ถ้วยชา 1 ชุด

10 กระโถน 1 ใบ

11 ช้อนส้อม จานข้าว 1 ชุด

12 ผ้าขนหนูเช็ดตัว 1 ผืน

13 ตะเกียง 1 ดวง หรือโคมไฟ 1 ชุด

14 ไม้กวาด, สายระเดียง (ราวตากผ้า), ธงตะเข้ 1 ชุด

15 ผ้าห่มพระประธาน 1 ผืน

16 เทียนปาติโมกข์ 1 ห่อ

17 เครื่องมือช่าง 1 ชุด (เช่น จอบ เสียม มีด ขวาน ค้อน ฯลฯ)

18 พานแว่นฟ้า, ดอกไม้คลุมไตร 3 ชุด

19 สัปทน 1 คัน

20 เครื่องไทยธรรม เท่าจำนวนพระภิกษุ-สามเณรทั้งวัด

รายการ “บริวารกฐิน” เหล่านี้เจ้าภาพอาจตัดหรือเติมได้ตามความเหมาะสม

โปรดสังเกตว่า “เงิน” ไม่ได้อยู่ในรายการ “บริวารกฐิน” เหล่านี้ แสดงว่าการทอดกฐินในสมัยก่อนไม่ได้เน้นเรื่องเงิน

แต่ปัจจุบัน “เงิน” กลายเป็น “บริวารกฐิน” ที่สำคัญที่สุด และสำคัญยิ่งกว่า “องค์กฐิน” เสียด้วยซ้ำ

ทอดกฐินเสร็จ ไม่มีใครถามว่า “ได้ผ้ากฐินเท่าไร

มีแต่คนถามว่า “ได้เงินเท่าไร

นับเป็นค่านิยมที่เบี่ยงเบนอย่างน่ากลัว

…………..

ดูก่อนภราดา!

ยตฺเถว ยตฺถ ปริวารตนูกสามี

ตตฺเถว ตตฺถ ปริหานิปิ ปาฏิกงฺขา.

: ที่ใดลูกน้องใหญ่กว่านาย

: ที่นั้นความฉิบหายเป็นอันหวังได้

#บาลีวันละคำ (2,337)

5-11-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย