บาลีวันละคำ

นิยาม (บาลีวันละคำ 274)

นิยาม

อ่านว่า นิ-ยาม

นิยาม” แปลตามศัพท์ว่า “กำหนด

ถ้า “กำหนด” มาจาก “กด” และ “กด” = “กฎ” นิยามก็คือ “กฎ” นั่นเอง

ความหมายของ “นิยาม” จึง = การกำหนด, การจำกัด, ความแน่นอน

ในภาษาไทย “นิยาม” มักใช้ในความหมายว่า “กําหนดหรือจํากัดความหมายที่แน่นอน” โดยเฉพาะในการให้ความหมายของถ้อยคำต่างๆ ที่ใช้ในการทำพจนานุกรม

หลักของ “นิยาม” ที่บริสุทธิ์ คือแสดงความหมายไปตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ โดยปลอดจากความรู้สึกหรือความคิดเห็น

บางทีเราก็เข้าใจว่า ความรู้สึกหรือความคิดเห็นเป็นนิยาม เช่น

“คือน้ำผึ้ง คือน้ำตา คือยาพิษ

คือหยาดน้ำอมฤตอันชื่นชุ่ม

คือเกสรดอกไม้ คือไฟรุม

คือความกลุ้ม คือความฝัน นั่นแหละ รัก

(กลอนของ รยงค์ เวนุรักษ์)

นี่ไม่ใช่ “นิยามของความรัก” แต่เป็น “ความรู้สึกหรือความคิดเห็น” ของคนคนหนึ่งเท่านั้น ที่มีต่อความรัก

นิยามของความรัก” ที่ปลอดจากความรู้สึกหรือความคิดเห็น คือ “มีใจผูกพันด้วยความห่วงใย” “มีใจผูกพันด้วยความเสน่หา” “มีใจผูกพันฉันชู้สาว”

พระพุทธศาสนามีคำสอนที่เป็น “นิยาม” หรือ “กฎ” อยู่ 5 เรื่อง คือ

1. อุตุนิยาม – กฎธรรมชาติฝ่ายอนินทรียวัตถุ

2. พีชนิยาม – กฎธรรมชาติฝ่ายอินทรียวัตถุรวมทั้งพันธุกรรม

3. จิตนิยาม – กฎการทำงานของจิต

4. กรรมนิยาม – กฎแห่งกรรม

5. ธรรมนิยาม – กฎความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล

: “นิยาม” ที่คนกำหนดเปลี่ยนความจริงไม่ได้ แต่ “นิยาม” ที่ความจริงกำหนดเปลี่ยนคนได้

(ตามคำเสนอแนะของ ศุภวัชร ทองคำ – ขอขอบพระคุณ)

บาลีวันละคำ (274)

7-2-56

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย