เลขานุการ (บาลีวันละคำ 275)
เลขานุการ
อ่านว่า เล-ขา-นุ-กาน
“เลขานุการ” ประกอบด้วย เลขา + อนุการ
“เลขา” แปลว่า รอยขีด, รอยเขียน, การขีดเขียน, สิ่งที่เขียน, ตัวอักษร, คำจารึก, หนังสือ (ดูเพิ่มเติมที่คำว่า “เลขาธิการ”)
“อนุการ” มาจาก อนุ (= น้อย, ภายหลัง, ตาม) + การ (= การกระทำ) = อนุการ แปลว่า การทําตาม, การเอาอย่าง, การเลียนแบบ
“เลขานุการ” แปลตามศัพท์คือ “เขียนตาม” ความหมายที่เข้าใจกันคือ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับหนังสือหรืออื่น ๆ ตามที่ผู้มีอำนาจสั่ง
ถามว่า “เลขานุการ” กับ “เลขาธิการ” มีฐานะต่างกันอย่างไร
คำตอบที่น่าจะชัด สั้น และตรงประเด็นก็คือ –
“เลขาธิการ” เป็นผู้บริหาร มีอำนาจออกคำสั่งได้
“เลขานุการ” เป็นผู้ปฏิบัติ มีหน้าที่ทำตามคำสั่ง (เช่น แปรคำสั่งออกเป็นลายลักษณ์อักษร)
ในแง่ตัวบุคคล (ไม่ใช่ชื่อตำแหน่งงาน) เลขานุการ ก็คือคนคัดกรองงานที่อยู่ใกล้ตัวผู้บังคับบัญชา สำหรับทหารบกเรียก “ทส.” (ทอ-สอ นายทหารคนสนิท) ทหารเรือเรียก “นายธง” ตำรวจเรียก “นายเวร” พลเรือนทั่วไปเรียกสั้นๆ ว่า “เลขาฯ” หรือภาษาปากว่า “หน้าห้อง”
: “เพราะมีผู้ทำตามคำสั่ง จึงทำให้มีอำนาจ”
แต่จงคิดให้ดี : ถ้าไม่มี “ลูกน้อง” แล้วจะเป็น “นาย” ใคร ?
บาลีวันละคำ (275)
8-2-56
เลขานุการ
น. ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับหนังสือหรืออื่น ๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง.
เลขา
น. ลาย, รอยเขียน, ตัวอักษร, การเขียน.ว. งามดังเขียน. (ป., ส.).
เลขา (บาลี-อังกฤษ)
เสี้ยว, รอยขีด, เส้น, การขีดเขียน, คำจารึก, หนังสือ, ศิลปะในการเขียนหรือวาด
อนุการ (บาลี-อังกฤษ)
การเลียนแบบหรือทำตาม
อนุการ
น. การทําตาม, การเอาอย่าง. (ป., ส.).