บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำรำพึงเรื่องเรียนบาลี

คำรำพึงเรื่องเรียนบาลี

———————

ปี ๒๕๖๒ นี้ สอบบาลีงวดแรก วันที่ ๖-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒-คือเริ่มเมื่อวานนี้ งวดหลังสอบวันที่ ๑-๓ มีนาคม ๒๕๖๒

การสอบบาลีของคณะสงฆ์ท่านกำหนดด้วยวันขึ้นแรมนะครับ-โปรดทราบ

คือสอบประโยค ป.ธ.๖-๗-๘-๙ เริ่มสอบในวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีนี้ตรงกับวันที่ ๖ กุมภาพันธ์

สอบประโยค ๑-๒ และประโยค ป.ธ.๓-๔-๕ เริ่มสอบในวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑ มีนาคม

ประโยค ป.ธ.๖-๗ สอบวันที่ ๖-๗ กุมภาพันธ์ / ๒ วัน

ประโยค ป.ธ.๘-๙ สอบวันที่ ๘-๙-๑๐ กุมภาพันธ์ / ๓ วัน

ประโยค ๑-๒ และประโยค ป.ธ.๔-๕ สอบวันที่ ๑-๒ มีนาคม / ๒ วัน

ประโยค ป.ธ.๓ สอบวันที่ ๑-๒-๓ มีนาคม / ๓ วัน

ประโยค ป.ธ.๖-๗-๘-๙ สนามสอบอยู่ในกรุงเทพฯ 

ประโยค ๑-๒ และประโยค ป.ธ.๓-๔-๕ สนามสอบมีทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

แจ้งข่าวไว้เพื่อร่วมกันอนุโมทนา

ใครมีศรัทธา มีกำลัง และมีจังหวะเวลา ผมขอเชิญชวนให้ไปร่วมบุญด้วยการถวายภัตตาหารและน้ำปานะแก่พระภิกษุสามเณรผู้เข้าสอบและผู้ทำหน้าที่กรรมการดำเนินการสอบ 

ผมได้สร้างประเพณีให้ญาติพี่น้องไว้อย่างหนึ่ง นั่นคือประกาศขอแรงญาติๆ ให้ทำอาหารไปเลี้ยงพระสอบนักธรรมและบาลีทุกปี และขอให้ถือว่าเป็นประเพณีของวงศ์ตระกูล ให้ทำกันต่อๆ ไปจากรุ่นสู่รุ่น อย่าให้ขาดสาย 

อาหารที่เอาไปเลี้ยงพระขอให้เป็นอาหารที่ทำเอง ไม่ใช่ไปซื้อเขามา เด็กรุ่นหลังจะได้หุงข้าวทำกับข้าวกินเองเป็น 

เวลาไปเลี้ยงพระก็ให้เอารุ่นเด็กไปช่วยด้วย เขาจะได้รู้ได้เห็นบรรยากาศ รู้เห็นพิธีการ จะได้รับช่วงประเพณีต่อไปได้

เวลานี้มีท่าน “ผู้ที่มิใช่พระภิกษุสามเณร” เข้ามาเรียนและสอบบาลีกันมากขึ้น ก็ช่วยกันเป็นกำลังใจให้ท่านเหล่านั้นด้วย

วันไหน สอบที่ไหน เวลาไหน ขอแนะนำให้เข้าไปถามที่วัดใกล้บ้าน เป็นหน้าที่ที่พระในวัดจะต้องตอบ 

ถ้าพระไม่รู้ จงคาดคั้นให้ท่านไปสืบหาความรู้มาตอบ จะตอบว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะนี่เป็นหน้าที่ของพระเณรที่จะต้องรู้ 

เวลานี้ผมสังเกตเห็นว่า พระเณรไม่รู้หน้าที่และไม่รู้เรื่องของตัวเองมากขึ้น 

พวกเราญาติโยมต้องช่วยกันเร่งรัดกวดขันให้ท่านหาความรู้ มิเช่นนั้นท่านก็จะเรื่อยเฉื่อย 

การเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะไม่ศึกษาเรียนรู้หน้าที่ของตัวเอง เป็นความเสื่อมของพระศาสนานะครับ

อย่าคิดว่า แค่มีพระไว้ให้ญาติโยมทำบุญใส่บาตรทุกเช้าก็พอแล้ว

เท่านั้นยังไม่พอนะครับ

ต้องหาทางเร่งรัดกวดขันให้ท่านศึกษาพระธรรมวินัยด้วย

ความข้อนี้ ขอบอกผ่านนมัสการไปยังท่านเจ้าคณะพระสังฆาธิการทั้งหลาย ตั้งแต่เจ้าคณะภายในวัด และเจ้าอาวาสเป็นต้นไปด้วย

ขออาราธนาให้ทำหน้าที่ด้วยนะขอรับ 

……………..

ย้อนมาที่การสอบบาลี

ก่อนหน้านี้ประมาณ ๒-๓ เดือน สำนักต่างๆ ติวเข้มบาลีกันถ้วนหน้า

ขออนุญาตเล่าว่า สมัยที่ผมเรียนบาลี ระบบติวเข้มนี่ยังไม่มี โดยเฉพาะตัวผมเองนั้นถือว่า ชั่วโมงที่อยู่ในชั้นเรียนตามวันเวลาปกตินั่นแหละคือเนื้อตัวของการเรียนบาลี ถ้าตักตวงเอาไว้ให้ได้เต็มที่ ก็ย่อมมีความรู้พอที่จะไปสอบ

แต่เวลานี้ระบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไป

ชั้นเรียนตามวันเวลาปกติลดความหมายและความสำคัญลงไป นักเรียนส่วนใหญ่หวังไปตักตวงวิชากันในช่วงติวเข้ม

ดั้งเดิมก็พอได้เห็นร่องรอยว่าเราถูกสอนมาให้เรียนบาลีเพื่อเอาความรู้

นักเรียนบาลีรุ่นเก่าความรู้มักแน่นและแม่น

แค่ประโยค ๖ สามารถค้นคว้าพระไตรปิฎกได้อย่างสบาย

แต่แล้วความเบี่ยงเบนก็เข้ามาครอบงำ

เวลานี้ นักเรียนบาลีของเราถูกสอนให้เรียนเพื่อสอบได้เป็นหลัก

แต่ไม่ได้ปลูกฝังให้เรียนเพื่อให้ได้ความรู้ แล้วเอาความรู้ไปเป็นหลักแห่งความประพฤติสำหรับตัวเอง ต่อจากนั้นก็เอาความรู้ไปสืบสวนค้นคว้าพระไตรปิฎกอันเป็นแหล่งคำสอนในพระพุทธศาสนา แล้วเอาหลักคำสอนที่ถูกต้องมาประกาศเผยแผ่แก่สังคม – นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนบาลี

แต่เวลานี้เป้าหมายมีเพียงแค่-เรียนเพื่อให้สอบได้

สอบได้แล้วก็จบแค่นั้น 

ชื่นชมยินดีกันแค่นั้น

ซ้ำเป็นการจบแบบตัวใครตัวมัน นั่นคือ เราไม่มีระบบหรือหลักการว่าจะเอาผู้ที่จบแล้วทั้งหลายไปใช้งานอะไรบ้าง

เหมือนผลิตสินค้า แต่ไม่ได้หาตลาดรองรับ

ดังนั้น ผู้ที่เรียนบาลีจบแล้วจึงไม่มีอนาคตที่ชัดเจนแน่นอน 

ใครมีช่องทางไหนก็เลือกเดินกันเอาเอง 

ไปทางไหนได้ ก็ไปกันเอง 

ไปไหนไม่ได้ ก็อยู่กันไปเอง

เป็นวิธีจัดการศึกษาที่น่าวังเวงใจเป็นที่สุด

ประเด็นนี้ก็ต้องขอหยุดไว้แค่นี้อีกเหมือนกัน

ผมอยากให้ผู้บริหารการพระศาสนาของเราเอาไปคิดต่อ เอาไปหาคำตอบให้ได้-หวังว่าการพระศาสนาบ้านเรายังมีผู้บริหารรับผิดชอบอยู่นะขอรับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

๑๔:๕๗

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *