บาลีวันละคำ

สีลสามัญญตา (บาลีวันละคำ 3,612)

สีลสามัญญตา

ศีลเสมอกัน

อ่านว่า สี-ละ-สา-มัน-ยะ-ตา

ประกอบด้วยคำว่า สีล + สามัญญ + ตา

(๑) “สีล” 

เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า สี-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) สีลฺ (ธาตุ = สงบ, ทรงไว้) + (อะ) ปัจจัย

: สีลฺ + = สีล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย” 

(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย, ยืดเสียง (ทีฆะ) อิ ที่ สิ เป็น อี

: สิ + = สิล > สีล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกจิตไว้

นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย

สีล” หมายถึง :

(1) ข้อปฏิบัติทางศีลธรรม, นิสัยที่ดี, จริยธรรมในพุทธศาสนา, หลักศีลธรรม (moral practice, good character, Buddhist ethics, code of morality)

(2) ธรรมชาติ, นิสัย, ความเคยชิน, ความประพฤติ (nature, character, habit, behavior)

สีล” ในบาลี เป็น “ศีล” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) ศีล : (คำคุณศัพท์) มี; มีความชำนาญ; มีมรรยาทหรือจรรยาดี, มีอารมณ์ดี; endowed with, or possessed of; versed in; well-behaved, well-disposed.

(2) ศีล : (คำนาม) ชาติหรือปรกฤติ, คุณหรือลักษณะ; ภาวะหรืออารมณ์; สุศีล, จรรยา– มรรยาท– หรืออารมณ์ดี; การรักษาหรือประติบัทธรรมและจรรยาไว้มั่นและเปนระเบียบ; โศภา, ความงาม; งูใหญ่; nature, quality; disposition or inclination; good conduct or disposition; steady or uniform observance of law and morals; beauty; a large snake.

ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศีล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ศีล : (คำนาม) ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กำหนดการปฏิบัติกายและวาจา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘, การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม (ดู ทศพิธราชธรรม); พิธีกรรมบางอย่างทางศาสนา เช่น ศีลจุ่ม ศีลมหาสนิท. (ส. ศีล ว่า ความประพฤติที่ดี; ป. สีล).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

…………..

ศีล : ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย, ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ; มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา (ข้อ ๑ ในไตรสิกขา, ข้อ ๒ ในบารมี ๑๐, ข้อ ๒ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๒ ในอริยวัฑฒิ ๕)

…………..

ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “สีล

(๒) “สามัญญ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สามญฺญ” อ่านว่า สา-มัน-ยะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) สมาน (สะ-มา-นะ, เสมอกัน, เหมือนกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ทีฆะ อะ ที่ -(มาน) เป็น อา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย (สมาน > สามาน), แปลง อาน (ที่ –มาน) กับ เป็น ญฺญ

: สมาน + ณฺย = สมานณฺย > สมานฺย > สามานฺย > สามญฺญ (สา-มัน-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน

(2) สม (สะ-มะ, เสมอกัน, เหมาะสมกัน) + ณฺย ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ -(ม) เป็น อา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย (สม > สาม), แปลง ณฺย เป็น ญฺญ

: สม + ณฺย = สมณฺย > สามณฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน

สามญฺญ” ตามรากศัพท์นี้หมายถึง –

(1) สามัญ, ความเสมอกัน, การอนุวัตตาม (generality; equality, conformity) 

(2) ความเป็นหนึ่ง, วงสมาคม (unity, company)

ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “สามัญ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สามัญ ๒ : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น ชนชั้นสามัญ คนสามัญ. (ป. สามญฺญ; ส. สามานฺย).”

ในที่นี้ใช้ตามรูปเดิมในบาลีเป็น “สามัญญ

(๓) “ตา” 

เป็นปัจจัยตัวหนึ่ง ในบาลีไวยากรณ์อยู่ในส่วนที่เรียกว่า “ตัทธิต” (ตัด-ทิด) ตา-ปัจจัยเป็นปัจจัยในภาวตัทธิต แทนศัพท์ว่า “ภาว” (ความเป็น) ใช้ต่อท้ายศัพท์ ทำให้เป็นคำนาม แปลว่า “ความเป็น–” เทียบกับภาษาอังกฤษก็คล้ายกับ -ness -ation หรือ -ity นั่นเอง เช่น –

happy แปลว่า สุข สบาย 

happiness แปลว่า ความสุข 

การประสมคำ :

สามญฺญ + ตา = สามญฺญตา (สา-มัน-ยะ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้เสมอกัน” 

สีล + สามญฺญตา = สีลสามญฺญตา (สี-ละ-สา-มัน-ยะ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้เสมอกันด้วยศีล” หมายถึง มีศีลเท่ากัน

อธิบายเทียบเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น –

มีความรู้เท่ากัน เรียกว่า ความเป็นผู้เสมอกันด้วยความรู้

มีตำแหน่งเท่ากัน เรียกว่า ความเป็นผู้เสมอกันด้วยตำแหน่ง

มีทรัพย์สมบัติเท่ากัน เรียกว่า ความเป็นผู้เสมอกันด้วยทรัพย์สมบัติ

ดังนั้น มีศีลเท่ากัน จึงเรียกว่า ความเป็นผู้เสมอกันด้วยศีล

สีลสามญฺญตา” เขียนแบบไทยเป็น “สีลสามัญญตา” ว่าตามหลักนิยมในภาษาไทยควรจะตัด ออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “สีลสามัญตา” แต่ท่านถือว่าคำนี้เป็นศัพท์เฉพาะทางวิชาการ จึงคงไว้ตามรูปเดิมในบาลี

สีลสามัญญตา” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [273] สารณียธรรม 6 (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน, ธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี, หลักการอยู่ร่วมกัน) หลักธรรมข้อที่ 5. สีลสามัญญตา ขยายความไว้ดังนี้ –

…………..

5. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ — Sīlasāmaññatā: to keep without blemish the rules of conduct along with one’s fellows, openly and in private)

…………..

สีลสามัญญตา” ตรงกับที่เราพูดกันว่า “มีศีลเสมอกัน” คำนี้ใช้ในด้านดีเท่านั้น คน 2 คน ชักชวนกันทำชั่วทำผิด จะเรียกว่ามีศีลเสมอกันหาได้ไม่ อาจเรียกล้อได้ว่า “ทุศีลเสมอกัน”

คำที่มักมาคู่กับ “สีลสามัญญตา” คือ “ทิฏฐิสามัญญตา” (ทิด-ถิ-สา-มัน-ยะ-ตา) แปลว่า “ความเป็นผู้เสมอกันด้วยความเห็น” หลักธรรม 2 ข้อนี้จำเป็นอย่างยิ่งในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนชั่ว อาจมีบางส่วนที่น่าชม

: แต่ความชั่ว ไม่มีส่วนไหนเลยที่น่าชม

#บาลีวันละคำ (3,612)

3-5-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *