บาลีวันละคำ

เสาวรจนี – หนึ่งในรสวรรณคดีไทย (บาลีวันละคำ 2430)

เสาวรจนี – หนึ่งในรสวรรณคดีไทย

…………..

รสวรรณคดีไทย ตามตำราท่านว่ามี 4 รส ตั้งชื่อคล้องจองกันว่า –

เสาวรจนี

นารีปราโมทย์

พิโรธวาทัง

สัลลาปังคพิสัย

…………..

เสาวรจนี” ภาษาไทยอ่านว่า เสา-วะ-รด-จะ-นี แยกศัพท์เป็น เสาว + รจนี

(๑) “เสาว

อ่านว่า เสา-วะ รูปคำเดิมคือ “สุ” เป็นคำประเภท “อุปสรรค” นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “สุ : ดี, งาม, ง่าย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)

กระบวนการกลายรูปคือ แปลง อุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (อะ-วะ)

: สุ > โส > สฺว (สุ – โส – ซัวะ)

ในบาลีหยุดการกลายรูปอยู่เพียง “สฺว” (โปรดสังเกต สฺว มีจุดใต้ สฺ ด้วย) แต่ในภาษาไทยอาจกลายรูปต่อไปได้อีก คือจาก “อว” เป็น “เอาว” คำเทียบก็เช่น “นวรัตน์ เป็น “เนาวรัตน์”

ในที่นี้ “อว” กลายเป็น “เอาว” ต่อไป คือจาก “สฺว” ในบาลี เป็น “เสาว” ในภาษาไทย

: สุ > โส > สฺว > เสาว

(๒) “รจนี

ภาษาไทยอ่านว่า รด-จะ-นี ในบาลีปกติคำนี้จะเป็น “รจนา” (ระ-จะ-นา) รากศัพท์มาจาก รจฺ (ธาตุ = แต่ง, ร้อยกรอง, ประพันธ์) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: รจฺ + ยุ > อน = รจน + อา = รจนา แปลตามศัพท์ว่า “คำที่ตกแต่ง

รจนา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การจัดดอกไม้เป็นพวงมาลัย (arrangement of flowers in a garland)

(2) การแต่งหนังสือ (composition of a book)

: สุ > โส > สฺว > เสาว + รจนา = เสาวรจนา แปลว่า “ถ้อยคำที่ตกแต่งอย่างงดงาม

ในที่นี้ เนื่องจากต้องการให้ส่งสัมผัสไปยังคำต่อไปคือ “นารีปราโมทย์” ท่านจึงแปลง “เสาวรจนา” เป็น “เสาวรจนี

: เสาวรจนีนารีปราโมทย์

ในทางวรรณคดีไทย คำประพันธ์ที่มีลักษณะเป็น “เสาวรจนี” หมายถึงคำประพันธ์ที่พรรณนาให้เห็นภาพที่งดงามของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อ่านแล้วเกิดความซาบซี้งในความงามตามคำพรรณนานั้น หรือคำประพันธ์ที่บรรยายให้เข้าใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างแจ่มแจ้งประดุจหยิบมาวางไว้ตรงหน้าฉะนั้น

คำบรรยายที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ สำนวนบาลีท่านใช้คำอุปมาว่า –

เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ

เปิดของที่ปิด

บอกทางแก่คนหลงทาง

หรือส่องประทีปในที่มืดให้คนมองเห็น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าถามว่า ทำไมเขาไม่เข้าใจที่เราพูด

: แต่จงถามว่า ทำไมเราไม่พูดให้เขาเข้าใจ

————–

(ได้แรงบันดาลใจจากโพสต์ของ Charanya Deeboonmee Na Chumphae)

#บาลีวันละคำ (2,430)

6-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *