นารีปราโมทย์ – หนึ่งในรสวรรณคดีไทย (บาลีวันละคำ 2431)
นารีปราโมทย์ – หนึ่งในรสวรรณคดีไทย
รสวรรณคดีไทย ตามตำราท่านว่ามี 4 รส ตั้งชื่อคล้องจองกันว่า –
เสาวรจนี
นารีปราโมทย์
พิโรธวาทัง
สัลลาปังคพิสัย
…………..
“นารีปราโมทย์” อ่านว่า นา-รี-ปฺรา-โมด แยกศัพท์เป็น นารี + ปราโมทย์
(๑) “นารี”
รากศัพท์มาจาก นร + ณ ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
“นร” (นะ-ระ) รากศัพท์มาจาก –
(1) นี (ธาตุ = นำไป) + อร ปัจจัย, ลบ อี ที่ นี (นี > น) (ภาษาไวยากรณ์พูดว่า “ลบสระหน้า)
: นี > น + อร = นร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำไปสู่ความเป็นใหญ่”
(2) นรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป; นำไป) + อ ปัจจัย
: นรฺ + อ = นร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ดำเนินไปสู่ภพน้อยภพใหญ่” (2) “ผู้อันกรรมของตนนำไป” (3) “ผู้ถูกนำไปตามกรรมของตน”
“นร” หมายถึง คน ในบางบริบทหมายถึง “ผู้ชาย” โดยเฉพาะ (man, in poetry esp. a brave, strong, heroic man)
นร + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ต้นศัพท์เป็น อา (ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ”) (นร > นาร) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: นร + ณ = นรณ > นร > นาร + อี = นารี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นของชายเพราะคู่กับชาย”
“นารี” ในบาลีหมายถึง สตรี, ภรรยา, ผู้หญิง (woman, wife, female)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นารี : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) ผู้หญิง, นาง. (ป., ส.).”
(๒) “ปราโมทย์”
เป็นรูปคำอิงสันสกฤต บาลีเป็น “ปาโมชฺช” (ปา-โมด-ชะ) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + มุทฺ (ธาตุ = ร่าเริง, ยินดี) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), ทีฆะ อะ ที่ ป เป็น อา (ป > ปา), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ (มุทฺ > โมท), แปลง ทฺย (คือ ทฺ ที่สุดธาตุ + ย จาก ณฺย ปัจจัย) เป็น ชฺช
: ป + มุทฺ = ปมุทฺ + ณฺย = ปมุทฺณฺย > ปมุทฺย > ปามุทฺย > ปาโมทฺย > ปาโมชฺช (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งบุคคลหรือจิตที่มีความยินดีทั่วไป” หมายถึง ความยินดี, ความร่าเริง, ความสุข (delight, joy, happiness)
บาลี “ปาโมชฺช” สันสกฤตเป็น “ปฺรโมทฺย” ภาษาไทยใช้เป็น “ปราโมทย์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปราโมทย์ : (คำนาม) ความบันเทิงใจ, ความปลื้มใจ, ปราโมช ก็ใช้. (ส. ปฺรโมทฺย; ป. ปาโมชฺช).”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำว่า “ปฺรโมทฺย” แต่มีคำว่า “ปฺรโมท” บอกไว้ดังนี้ –
“ปฺรโมท : (คำนาม) ‘ประโมท,’ ความบันเทิง, สุข, ปรีติ; pleasure, happiness, delight.”
นารี + ปราโมทย์ = นารีปราโมทย์ แปลตามศัพท์ว่า “ถ้อยคำที่ทำให้ผู้หญิงปลื้มใจ” หรือ “ถ้อยคำอันยังความบันเทิงใจให้เกิดแก่สตรี” หรือแปลทับศัพท์ว่า “เครื่องปราโมทย์ใจแห่งนารี”
ในทางวรรณคดีไทย คำประพันธ์ที่มีลักษณะเป็น “นารีปราโมทย์” หมายถึงคำประพันธ์ที่มีความหมายในทางเกี้ยวพาราสี บอกรัก ฝากรักในเชิงชู้สาว ซึ่งฝ่ายชายเป็นผู้กล่าวแก่ฝ่ายหญิง บางทีเรียกว่า บทเกี้ยว หรือบทโอ้โลม
ทำไมถ้อยคำบอกรักจึงเป็น “เครื่องปราโมทย์ใจแห่งนารี” ?
อาจตอบได้เป็นเลาๆ ด้วยการล้อคำถามนั่นเองว่า “ไม่มีอะไรจะทำให้สตรีบันเทิงใจยิ่งไปกว่าคำบอกรักจากบุรุษ” แต่คำตอบที่แจ้งชัดควรมาจากปากของสตรีเอง
อย่างไรก็ตาม มีคำที่ผู้เจนโลกสรุปไว้ว่า อันว่าสตรีเพศนั้นทำให้ถูกใจอย่างเดียว ได้หมดทุกอย่าง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: “ยอมทุกอย่างแก่ผู้ที่ทำให้ถูกใจ”
: คือธรรมชาติอันเป็นมหันตภัยของนารี
————–
(ได้แรงบันดาลใจจากโพสต์ของ Charanya Deeboonmee Na Chumphae)
#บาลีวันละคำ (2,431)
7-2-62