นิทาน (บาลีวันละคำ 276)
นิทาน
อ่านว่า นิ-ทา-นะ
ภาษาไทยใช้เหมือนกัน อ่านว่า นิ-ทาน
“นิทาน” (นิ + ทาน = ให้) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ให้ผล” “สิ่งที่ให้ความกระจ่าง” “สิ่งเป็นเครื่องกำหนด” ความหมายคือ บ่อเกิด, แหล่งกำเนิด, เหตุเกิด, เรื่องเดิม, ข้ออ้าง
ความหมายที่เด่นชัดของ “นิทาน” ในภาษาบาลีคือ เรื่องราวที่เป็นเหตุให้ต้องบัญญัติศีลของภิกษุ หรือเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทำเช่นนั้นเช่นนี้ได้ เช่น
– แต่เดิมภิกษุเที่ยวเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาปะเย็บย้อมทำเป็นจีวรใช้นุ่งห่ม (ที่เรียกว่า ผ้าบังสุกุล) ต่อมาหมอชีวกมีศรัทธาทำจีวรสำเร็จรูปไปถวายพระ พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุรับจีวรสำเร็จรูปได้ หมอชีวกก็เป็น “นิทาน” ของเรื่องนี้
– ชุดกลาสีของทหารเรือกระดุมเป้าอยู่ด้านข้าง เพราะมีเรื่องที่กลาสีเรืออังกฤษคนหนึ่งเข้าห้องน้ำแล้วลืมติดกระดุมเป้า ไปตั้งแถวรับเสด็จพระราชินี พระองค์จึงรับสั่งให้ออกแบบกางเกงกลาสีใหม่ ให้ย้ายกระดุมเป้ามาไว้ด้านข้าง เรื่องกลาสีลืมติดกระดุมก็เป็น “นิทาน” ของกางเกงกลาสี
ในภาษาไทย “นิทาน” หมายถึงเรื่องที่เล่ากันมา จริงบ้างเท็จบ้าง ส่วนใหญ่จะถือว่าเป็นเรื่องเล่า ไม่ใช่เรื่องจริง
: เรื่องที่เกิดมานาน อย่าเหมาว่าเป็น “นิทาน” ไปทั้งหมด
บาลีวันละคำ (276)
9-2-56
นิทาน เหตุ, เหตุเกิด, เรื่องเดิม (ศัพท์วิเคราะห์)
สิ่งเป็นเครื่องกำหนด
สิ่งที่ให้ผล
สิ่งที่ให้ความกระจ่าง
นิทาน (บาลี-อังกฤษ)
การผูกลง, พื้น, รากฐาน, โอกาส, บ่อเกิด, แหล่งกำเนิด, เหตุ, เหตุผล, ข้ออ้าง, เรื่อง
นิทาน
น. เรื่องที่เล่ากันมา เช่น นิทานชาดก นิทานอีสป; เหตุ เช่น โรคนิทาน; เรื่องเดิม เช่น วัตถุนิทาน. (ป.).
นิทานวจนะ
[นิทานนะวะจะนะ] น. คําแถลงเรื่องเดิม, ข้อความเบื้องต้น. (ป.).