บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำแนะนำเรื่องการฟังสวด

คำแนะนำเรื่องการฟังสวด

————————-

มีคนเป็นจำนวนมากที่ไปร่วมงานศพ-โดยเฉพาะในช่วงที่มีการสวดพระอภิธรรม-ไม่ได้ตั้งใจฟังพระสวด แต่ใช้เวลานั้นนั่งคุยแข่งกับพระสวด 

เหตุผลหนึ่งที่ยกขึ้นมาอ้างในการที่ไม่ตั้งใจฟังพระสวดก็คือ พระสวดภาษาบาลีฟังไม่รู้เรื่อง 

พร้อมกันนั้นก็ยื่นข้อเสนอหรือข้อเรียกร้อง ให้พระสวดคำแปลด้วย 

บางวัดจึงสนองข้อเรียกร้องด้วยการเอาข้อความอื่น-ที่ไม่ใช่พระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์มาสวด แล้วก็แปลเป็นภาษาไทย 

เรื่องนี้ ผมมีข้อคิดเห็นที่ใคร่จะแสดงสู่กันฟังดังนี้ 

ข้อ ๑ ธรรมเนียมสวดศพ เราใช้บทพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์มาสวด ผมเห็นว่าการเอาบทอื่นมาสวดเป็นการผิดธรรมเนียม พูดเป็นคำหนักก็คือเป็นการทำลายแบบแผนแห่งการสวดศพ – โดยไม่มีเหตุอันควร 

ข้อ ๒ เหตุผลที่เอาบทอื่นมาสวดมีข้อเดียว คือถูกเรียกร้องให้สวดแล้วฟังรู้เรื่อง เมื่อคนฟังเป็นคนไทย สวดให้ฟังรู้เรื่องก็ต้องสวดเป็นภาษาไทย เลยกลายเป็นสร้างธรรมเนียมใหม่ คือสวดมนต์เป็นภาษาไทย 

“สวดมนต์” ก็คือเอาบทพระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้ามาสาธยาย 

พระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้านั้นต้นฉบับเป็นภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่ท่านเล็งเห็นแล้วว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะรักษาบทธรรมคำสอนไว้ได้ไม่ให้เบี่ยงเบนผันแปรไปเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นท่านจึงวางหลักให้สวดสาธยายเป็นภาษาบาลีอันเป็นภาษาต้นฉบับเพื่อรักษาต้นฉบับไว้ให้แม่นยำ 

ต่อจากนั้น ใครอยากจะรู้เข้าใจความหมายในบทมนต์นั้นๆ ก็ให้ศึกษาภาษาบาลี 

การเรียนบาลีในสังคมสงฆ์ก็เกิดมีขึ้นด้วยเหตุนี้ คือเรียนเพื่อรู้เข้าใจพระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า

แหล่งใหญ่ที่เก็บพระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้าไว้ก็คือพระไตรปิฎก 

เพราะฉะนั้น ปลายทางของการเรียนบาลีจึงมุ่งไปที่พระไตรปิฎก

เมื่อเรียนบาลี รู้ความหมายของพระธรรมคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เอาพระธรรมมาบอกมาแสดงมาชี้แจงให้คนทั้งหลายได้รับรู้ด้วย ที่เรารู้จักกันในรูปแบบที่เรียกการเทศน์ หรือเรียกเป็นคำศัพท์ว่า “พระธรรมเทศนา”

ผู้รู้ท่านจึงพูดเป็นสูตรสำเร็จว่า 

ฟังสวดเอาสมาธิ

ฟังเทศน์เอาปัญญา 

เวลาฟังสวด ไม่ว่าจะเป็นสวดพระอภิธรรมงานศพหรือสวดมนต์ในงานบุญทั่วไป เราจึงฟังเพื่อเอาสมาธิ 

หลักก็คือ ตั้งจิตกำหนดตามเสียงที่ได้ยิน โดยไม่ต้องหมายใจใคร่รู้ว่าถ้อยคำที่มากระทบโสตประสาทนั้นมีความหมายว่าอย่างไร 

เอาสติกำหนดตามเสียงไปเป็นสำคัญ

ให้จิตดิ่งนิ่งแน่วแน่อยู่กับเสียงที่พระสวด แต่ละบท แต่ละตอน ตั้งแต่ต้นจนจบ

หน้าที่ของการฟังสวดมีแค่นั้น-คือแค่กำหนดตามเสียงเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ 

ไม่ใช่จะมาเอาเป็นเอาตายกับการรู้เรื่องที่สวด 

เวลาที่ใช้ไปกับการฟังสวดก็เพียงครึ่งชั่วโมง หรืออย่างมากที่สุดก็ไม่เกินชั่วโมง 

จะเอาเป็นเอาตายเอารู้บรรลุธรรมกันเดี๋ยวนั้นเชียวหรือ

เวลาอีก ๒๓ ชั่วโมง ไม่มีเลยหรือที่จะจัดสรรเพื่อการศึกษาบทธรรมที่พระท่านเอามาสวด 

จะต้องเอารู้กันให้ได้เฉพาะในเวลาที่ฟังสวดเท่านั้นหรือ 

ผมจึงขอยืนยันว่า สวดมนต์-ไม่ว่าจะเป็นสวดพระอภิธรรมงานศพหรือสวดในโอกาสอื่นใด ต้องสวดเป็นภาษาบาลี เหตุผลคือเพื่อรักษาต้นฉบับพระธรรมคำตรัสสอนไว้ 

ถ้าอยากรู้เรื่อง ขอแนะนำให้ทำตามคำคนเก่า คือ “ฟังสวดเอาสมาธิ ฟังเทศน์เอาปัญญา” 

หาโอกาสฟังเทศน์ ก็จะรู้เรื่องในบทสวด-อย่างที่กระหายใคร่รู้จนถึงกับเรียกร้องให้พระสวดให้รู้เรื่อง ก็จะได้ปัญญา 

คำว่า “ฟังเทศน์” เป็นสำนวนภาษา 

เหมือนคำว่า “กินข้าวกินปลา” ซึ่งเป็นสำนวนหมายถึงกินอาหาร ไม่ใช่มุ่งไปที่-จะต้องกิน “ข้าว” (rice) กับกินปลา (fish) ตามตัวหนังสือเท่านั้น

“ฟังเทศน์” หมายถึงการศึกษาพระธรรม 

จะโดยการฟังพระเทศน์ตามคำว่า “ฟังเทศน์” ตรงตัวก็ได้ ฟังคำบรรยายจากท่านผู้รู้อื่นๆ ก็ได้ อ่านหนังสือเอาเองก็ได้ ทำได้สารพัดวิธี 

ยิ่งเวลานี้ไฮเทคก้าวหน้า อยากรู้ธรรมะข้อไหน คลิกเดียวเท่านั้น 

จึงไม่ต้องไปคาดคั้นจะเอารู้เรื่องกันเฉพาะในเวลาฟังพระสวดนั่นเลย

ข้อ ๓ เฉพาะกรณีฟังสวดพระอภิธรรม ผมมีคำแนะนำที่ผมปฏิบัติเองมาตลอด นั่นก็คือ พระอภิธรรมบทสุดท้ายในชุดพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ คือบทปัฏฐาน ที่พระท่านจะขึ้นต้นบทสวดว่า “เห-ตุปัจจะโย” 

คำแนะนำของผมก็คือ เมื่อพระท่านสวดคำว่า “-ปัจจะโย” ครั้งหนึ่ง ก็ให้ท่านกำหนดนับว่า “หนึ่ง” อีกครั้งหนึ่งก็กำหนดว่า “สอง” 

กำหนดนับตามไปทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า “-ปัจจะโย” 

เมื่อจบ “-ปัจจะโย” สุดท้าย ตอบได้ไหมว่า นับได้กี่-ปัจจะโย 

บทอื่นๆ กำหนดจิตตามเสียงสวดเพื่อให้เกิดสมาธิ

แต่เฉพาะบทสุดท้ายนี้ กำหนดจิตด้วย กำหนดนับ “-ปัจจะโย” ด้วย เป็นการปฏิบัติธรรมโดยวิธีพิเศษ 

เอาแค่นับ “-ปัจจะโย” ให้ได้ครบเท่านี้ ก็ได้ประโยชน์เหลือหลายแล้ว

ไปฟังสวดเมื่อไรก็กำหนดแบบนี้ทุกครั้งไป เมื่อทำจนคุ้น จะพบว่าจิตดิ่งนิ่งเป็นสมาธิได้เร็วขึ้น แน่วแน่ขึ้น 

ถึงขั้นนั้นก็พัฒนาต่อไปอีกระดับหนึ่ง นั่นคือ กำหนดให้ละเอียดเข้าไปอีกว่า “-โย” ที่เท่าไรเป็นอะไร-โย 

เช่น –

“-โย” ที่หนึ่ง เป็นคำว่า “เห-ตุปัจจะโย” 

“-โย” ที่สอง เป็นคำว่า “อารัมมะณะปัจจะโย” (ฟังชัดหรือไม่ชัดไม่ต้องกังวล เอาแค่จับเสียงได้คร่าวๆ ก็พอ)

“-โย” ที่ห้า เป็นคำว่า อะไร-โย

“-โย” ที่สิบ เป็นคำว่า อะไร-โย

“-โย” ที่ยี่สิบ เป็นคำว่า อะไร-โย

ไปจนถึง “-โย” สุดท้าย เป็นคำว่า อะไร-โย 

รับรองว่าท่านจะรู้สึกสนุกกับเกมนี้ 

เป็นการฝึกจิต ฝึกสติ ฝึกความรู้สึกตัว พร้อมไปหมดในตัวเอง

ลืมเรื่องจะเอาเป็นเอาตายกับการฟังให้รู้เรื่องไปได้เลย 

แล้วต่อจากนั้น ท่านจะมีฉันทะ มีอุตสาหะในการที่จะอ่านจะสืบค้นหาความหมาย และหาความรู้ในบทสวดนั้นๆ ก้าวหน้าต่อไปอีก 

โดยไม่ต้องไปบังคับกะเกณฑ์ให้พระท่านสวดเป็นภาษาไทยเพื่อให้ฟังรู้เรื่องเอาเฉพาะหน้าอีกต่อไป 

ข้อสำคัญ ถ้าตั้งใจปฏิบัติตามนี้ ความคิดที่อยากจะคุยแข่งพระก็จะหายไป 

ท่านจะรู้สึกสุขสงบ จิตใจผ่องแผ้ว รับสัมผัสประโยชน์จากการไปฟังสวดได้เต็มๆ 

งานศพ-โดยเฉพาะในช่วงที่มีการสวดพระอภิธรรม-ก็จะเป็นพิธีที่มีสาระอย่างแท้จริง 

ไม่ใช่สักแต่ว่าทำกันไป-อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ กันยายน ๒๕๖๒

๑๑:๕๕

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *