บาลีวันละคำ

มหาเสน (บาลีวันละคำ 2,652)

มหาเสน

“มหา” ผู้นี้ไม่ได้บาลีสักประโยค

แต่ชาวโลกประหวั่นพรั่นพรึง!

ภาษาไทยอ่านว่า มะ-หา-เสน

ภาษาบาลีอ่านว่า มะ-หา-เส-นะ

มหาเสน” เป็นคำที่คนส่วนมากไม่คุ้นหูคุ้นตา แต่รับรองได้ว่าไม่มีใครหลบหน้าได้พ้น ประกอบด้วยคำว่า มหา + เสน

(๑) “มหา” (มะ-หา)

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย

: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)

มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”

ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –เสน เปลี่ยนรูปเป็น “มหา-”

(๒) “เสน” (เส-นะ)

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “เสนา” (เส-นา) รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + ปัจจัย, แปลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ > เส + = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้

(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้

เสนา” หมายถึง กองทัพ (an army)

บาลี “เสนา” สันสกฤตก็เป็น “เสนา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เสนา : (คำนาม) กองทัพ; ภควดี; มูรติพลหรือยุทโธปกรณานิของเทพดา; ชายาของการติเกย; an army; a goddess; the personified armament of the gods; the wife of Kārtikeya.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า “เสนา” คือ “ไพร่พล”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่ บอกว่า “เสนา” เป็นคำโบราณ หมายถึง “ข้าราชการฝ่ายทหาร”

มหนฺต + เสนา = มหนฺตเสนา > มหาเสนา แปลว่า “กองทัพที่ยิ่งใหญ่

หลักภาษา :

ในที่นี้ คำว่า “มหาเสนา” เป็นคำขยาย (ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “วิเสสนะ”) ของคำว่า “มจฺจุ” (ความตาย หรือมัจจุราช) พูดเป็นสำนวนไวยากรณ์ว่า –

“กองทัพที่ยิ่งใหญ่ของมัจจุราชนั้นมีอยู่

ดังนั้น มัจจุราชนั้นจึงชื่อว่า ‘ผู้มีกองทัพที่ยิ่งใหญ่’ ”

กฎไวยากรณ์มีว่า “คำขยายของคำใด ต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำที่ตนขยายนั้น”

กล่าวเฉพาะในที่นี้ “มจฺจุ” (มัด-จุ) เป็นปุงลิงค์ “มหาเสนา” ซึ่งตามรูปคำเดิมเป็นอิตถีลิงค์ จึงต้องปรับรูปให้เป็นปุงลิงค์ไปด้วย

มหาเสนา” (มะ-หา-เส-นา) เปลี่ยนรูปเป็น “มหาเสน” (มะ-หา-เส-นะ)

พูดควบกับ “มจฺจุ” เป็น “มหาเสน มจฺจุ” (มะ-หา-เส-นะ คำหนึ่ง มัด-จุ อีกคำหนึ่ง แยกเป็น 2 คำ) แปลว่า “มัจจุราชผู้มีกองทัพที่ยิ่งใหญ่’”

อภิปรายขยายความ :

กองทัพที่ยิ่งใหญ่” ของมัจจุราชคืออะไร?

ตามหลักธรรมท่านว่า ความแก่ชราและความเจ็บไข้ได้ป่วย เป็น “ทูต” ของมัจจุราช ภาษาทหารเรียก “ส่วนล่วงหน้า” คือเป็นส่วนเตือนให้รู้ตัว ถ้าเห็นส่วนล่วงหน้ามา ก็แน่ใจได้ว่าตัวจริงจะตามมาในไม่ช้า

อรรถกถาภัทเทกรัตตสูตรระบุไว้ว่า “กองทัพที่ยิ่งใหญ่” ที่มัจจุราชยกพลมาด้วยตัวเอง หมายถึง ต้นเหตุที่จะตัดชีวิตของมนุษย์ เช่น “อคฺคิวิสสตฺถาทีนิ” ถูกไฟ ถูกยาพิษ ถูกของมีคมเป็นต้น

คำว่า “เป็นต้น” หมายความว่า ยังมีเหตุอีกมากมายหลายอย่างที่สามารถทำให้คนตายได้ทุกขณะ

ดังนี้แลจึงเรียกว่า “มัจจุราชผู้มีกองทัพที่ยิ่งใหญ่

กฎเหล็กของมัจจุราชคือ ไม่มีการผ่อนผัน ผัดเพี้ยน ต่อรอง ตีสนิท ติดสินบน หรือยอมให้กระทำการอื่นใดที่จะทำให้ “ไม่ต้องตาย” – มิมีเลย

บัณฑิตรู้ความจริงข้อนี้แล้วจึงควรเร่งประพฤติธรรมโดยไม่ประมาท

อภินันทนาการ :

สำหรับญาติมิตรที่นิยมสวดมนต์ ผู้เขียนบาลีวันละคำขออภินันทนาการด้วยพระพุทธพจน์ที่เป็นข้อเตือนสติได้อย่างดียิ่ง มีนามว่า “ภัทเทกรัตตคาถา” (พัด-เท-กะ-รัด-ตะ-คา-ถา) ซึ่งแปลได้ความว่า “คาถาว่าด้วยผู้มีราตรีเดียวเจริญ” หมายความว่า ผู้ปฏิบัติได้ดังข้อความในคาถา แม้จะมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว พระพุทธองค์ก็ทรงสรรเสริญว่าประเสริฐนักแล้ว

จะสวดเฉพาะคำบาลีหรือสวดคำแปลด้วยก็ตามอัธยาศัย คำแปลนั้นเป็นสำนวนแปลของผู้เขียนบาลีวันละคำเอง ไม่สงวนลิขสิทธิ์

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอแนะนำด้วยความปรารถนาดีว่า ผู้มีศรัทธาจะสวดมนต์บทนี้ขอให้ท่านลงมือท่องจำคำบาลีวันละ 1 วรรค

วันแรก ท่องว่า –

อะตีตัง  นานวาคะเมยยะ

ว่าซ้ำๆ อยู่แค่นี้ตลอดวัน

วันที่สอง ท่องว่า –

อะตีตัง  นานวาคะเมยยะ

นัปปะฏิกังเข  อะนาคะตัง

ว่าซ้ำๆ อยู่แค่นี้ตลอดวัน

วันที่สาม ท่องว่า –

อะตีตัง  นานวาคะเมยยะ

นัปปะฏิกังเข  อะนาคะตัง

ยะทะตีตัมปะหีนันตัง

ว่าซ้ำๆ อยู่แค่นี้ตลอดวัน

วันที่สี่ ท่องว่า –

อะตีตัง  นานวาคะเมยยะ

นัปปะฏิกังเข  อะนาคะตัง

ยะทะตีตัมปะหีนันตัง

อัปปัตตัญจะ อะนาคะตัง.

ว่าซ้ำๆ อยู่แค่นี้ตลอดวัน

ให้เวลาเผื่อเหลือเผื่อขาด 1 สัปดาห์

ท่องจำได้ 4 วรรค

ภัทเทกรัตตคาถา” มีความยาว 16 วรรค นับเป็นคาถา 4 บท ใช้เวลาท่องจำ 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน

ให้เวลาเผื่อเหลือเผื่อขาดอีก 2 เดือน

ประกอบกับท่านสวดทบทวนไปทุกวัน อย่าให้ขาด ท่านจะสามารถท่อง “ภัทเทกรัตตคาถา” ได้คล่องปากภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน

ต่อจากนั้นท่านก็เป็นอิสระ แต่ที่วิเศษสุดก็คือ พระพุทธพจน์ทั้งพยัญชนะและอรรถะมาสถิตอยู่ในชีวิตจิตใจจริงของท่าน ไม่ใช่อยู่ในหน้าจอหรือในแผ่นกระดาษ และท่านก็ไม่ต้องเปิดต้นฉบับขึ้นมาอ่านทุกที-อีกต่อไป

ขอให้กำลังใจให้ท่านทำสำเร็จโดยทั่วกัน เทอญ

…………..

ภัทเทกรัตตคาถา

อะตีตัง  นานวาคะเมยยะ

นัปปะฏิกังเข  อะนาคะตัง

ยะทะตีตัมปะหีนันตัง

อัปปัตตัญจะ อะนาคะตัง.

ไม่ควรหวนละห้อยถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว

ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง

สิ่งที่ล่วงแล้วไป ก็เป็นอันล่วงไปแล้ว

สิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็เป็นอันยังไม่มาถึง

ปัจจุปปันนัญจะ  โย  ธัมมัง

ตัตถะ  ตัตถะ  วิปัสสะติ

อะสังหิรัง  อะสังกุปปัง

ตัง  วิทธามะนุพ๎รูหะเย.

สิ่งที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบันนี้แล

ผู้ใดมาเห็นประจักษ์แจ้งชัดในที่นั้นๆ

ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน

ผู้นั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด

อัชเชวะ  กิจจะมาตัปปัง

โก  ชัญญา  มะระณัง  สุเว

นะ  หิ  โน  สังคะรันเตนะ

มะหาเสเนนะ  มัจจุนา.

พึงปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรในวันนี้แหละ

ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาถึงในวันพรุ่ง

มัจจุราชผู้มีกองทัพมหิมานั้น

ไม่ยอมผ่อนผันผัดเพี้ยนให้เราดอก

เอวัง  วิหาริมาตาปิง

อะโห  รัตตะมะตันทิตัง

ตัง  เว  ภัทเทกะรัตโตติ

สันโต  อาจิกขะเต  มุนีติ.

ผู้มีความเพียรอยู่อย่างนี้เป็นปรกติ

ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแล

พระมุนีผู้สงบระงับตรัสเรียกว่า –

“ผู้มีราตรีเดียวเจริญ”

ที่มา: ภัทเทกรัตตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระไตรปิฎกเล่ม 14 ข้อ 527

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าฝากบทสวดมนต์ไว้กับหน้าจอแผ่นกระดาษ

: เพราะในพิภพมัจจุราชเอาหนังสือสวดมนต์ไปไม่ได้

(มือถือ แท็บเล็ต ไอแพด ไอโฟน อะไรก็เอาไปไม่ได้นะจ๊ะ)

#บาลีวันละคำ (2,652)

16-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย