บาลีวันละคำ

ลินลาศ (บาลีวันละคำ 2,240)

ลินลาศ

เป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร?

ในกาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) บทที่ว่า:

๏ สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย

งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์

ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม.

ลินลาศ” เป็นภาษาอะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่มีคำว่า “ลินลาศ” แต่มีคำว่า “ลินลา” บอกไว้ดังนี้ –

ลินลา, ลิ้นลา : (คำกริยา) ไปอย่างนวยนาด. (เพี้ยนมาจาก ป., ส. ลีลา).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ลินลา” เพี้ยนมาจากบาลีสันสกฤตว่า “ลีลา

ลีลา” (ลี-ลา) ในบาลี รากศัพท์มาจาก ลลฺ (ธาตุ = งาม) + ปัจจัย, แปลง อะ ต้นธาตุ เป็น อี (ลลฺ > ลีลฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ลลฺ + = ลล > ลีล + อา = ลีลา แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่งดงาม” หมายถึง การเล่น, ลีลา, การเยื้องกราย (play, sport, dalliance)

ลีลา” เป็นทั้งรูปบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ลีลา” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ลีลา : (คำนาม) กรีฑา, เกลิ, การเล่นสนุก; สวิลาสกรีฑา; play; sport, amorous sport.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลีลา : (คำนาม) ท่าทาง, ท่าทางอันงาม, การเยื้องกราย, เช่น พุทธลีลา; ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถยืนยกส้นพระบาทขวาสูงขึ้นจากพื้น ปลายพระบาทยังจดอยู่กับพื้นอยู่ในท่าจะก้าวเพื่อทรงพระดำเนิน พระหัตถ์ขวาห้อยอยู่ในท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน ที่สร้างเป็นท่ายกพระหัตถ์ขวาก็มี; ท่วงทำนอง เช่น ลีลาการพูด ลีลาการเขียน; การเลือกสรรฉันท์หรือแบบประพันธ์ให้เหมาะแก่ข้อความของเรื่อง เช่น ลีลาการประพันธ์. (ป., ส. ลีลา).”

ลีลา” เพี้ยนเป็น “ลินลา” แล้วเพี้ยนต่อไปเป็น “ลินลาศ” ได้อย่างไร

ลินลาศ” เป็นคำจำพวกที่เรียกในเชิงฉันทลักษณ์ว่า “ศ เข้าลิลิต” หมายถึงคำที่เติม “” หรือ “อีศ” เข้าข้างท้ายเพื่อให้ได้รูปหรือเสียงที่ต้องการในทางฉันทลักษณ์ แต่คงมีความหมายเท่าเดิม

คำจำพวกนี้เมื่อเติม “อีศ” แล้วมักแผลงเป็น “เอศ” เช่น –

นารี > นาเรศ

มยุรา > มยุเรศ

นาวา > นาเวศ

สาคร > สาคเรศ

แต่ในคำว่า “ลินลาศ” นี้ เนื่องจากคำเดิมคือ “ลีลา” แล้วเพี้ยนเป็น “ลินลา” ถ้าแผลง “อีศ” เป็น “เอศ” ก็จะเป็น “ลินเลศ” รูปและเสียงคงไม่เป็นที่ถูกใจกวี ท่านจึงทำเพียงคง “ลินลา” ไว้ แล้วเติม “” ข้างท้าย จาก “ลินลา” จึงเป็น “ลินลาศ

: ลีลา > ลินลา > ลินลาศ (ลิน-ลาด)

อภิปราย :

ดูบทกาพย์เห่เรือข้างต้น วรรคที่ 3 ว่า

“เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์

ลงท้ายด้วยคำว่า “มินทร์” (เสียงสระ-อิน) ซึ่งรับสัมผัสมาจากคำว่า “สินธุ์” ในวรรคที่ 2

สินธุ์” > “มินทร์” = เสียงสระ-อิน ซึ่งชวนให้เรียกหาคำเสียงสระ-อิน ในวรรคต่อไปมารับสัมผัส

แม้ว่ากาพย์ยานีจะไม่บังคับสัมผัสสระในวรรคต่อไปก็ตาม แต่กวีต้องการเพิ่มสัมผัสสระเพื่อให้เกิดความไพเราะในเวลาเห่ จึงแผลงคำถึง 2 ชั้น

ชั้นแรก: แผลง “ลีลา” เป็น “ลินลา” เพื่อให้ได้เสียงสระ-อิน รับสัมผัสกับวรรคก่อน “สินธุ์” > “มินทร์” > “ลิน

ชั้นสอง: แผลง “ลินลา” เป็น “ลินลาศ” เพื่อให้น้ำหนักของเสียงสอดคล้องกับท่วงทำนองเห่ (“ลินลาศเลื่อน” น้ำหนักเสียงดีกว่า (“ลินลาเลื่อน”) โดยใช้กฎ “ศ เข้าลิลิต” อันเป็นอภิสิทธิ์ทางภาษาอย่างหนึ่งของกวี

ลินลาศ < ลินลา < ลีลา > ลินลา > ลินลาศ มีความเป็นไปเป็นมาดังแถลงมาฉะนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กิริยาวาจาอาจแสร้งสร้างลีลาให้คนหลงชื่นชมได้ตลอดกาล

: แต่สุจริตถ้วนไตรทวารจึงจะทำให้โลกนับถือได้ตลอดไป

#บาลีวันละคำ (2,240)

31-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *