บาลีวันละคำ

สังคมสงเคราะห์ (บาลีวันละคำ 2,812)

สังคมสงเคราะห์

จะให้สังคมสงเคราะห์ หรือจะสงเคราะห์สังคม

อ่านว่า สัง-คม-สง-เคฺราะ

(ตามพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า สังคม + สงเคราะห์

(๑) “สังคม

บาลีเป็น “สงฺคม” อ่านว่า สัง-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ > สงฺ + คมฺ = สงฺคมฺ + = สงฺคม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การไปร่วมกัน

สงฺคม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพบกัน, การเกี่ยวพันหรือติดต่อกัน, การร่วมสมาคม (meeting, intercourse, association)

(2) การร่วมประเวณี (sexual intercourse)

บาลี “สงฺคม” ในสันสกฤตก็เป็น “สงฺคม

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สงฺคม : (คำนาม) ‘สังคม,’ การประสบ, โยคหรือสมาคม; (คำใช้ในดาราศาสตร์) คฺรหโยค ( = คระหะโยค) หรือนักษัตรโยค; meeting, union; (In astronomy) planetary conjunction, or conjunction of planets.”

บาลี “สงฺคม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังคม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังคม, สังคม– : (คำนาม) คนจํานวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบ กฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สําคัญร่วมกัน เช่น สังคมชนบท; วงการหรือสมาคมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น สังคมชาวบ้าน. (คำวิเศษณ์) ที่เกี่ยวกับการพบปะสังสรรค์หรือชุมนุมชน เช่น วงสังคม งานสังคม. (ป.).”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “สังคม” เป็นอังกฤษว่า society; social

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล society เป็นบาลีดังนี้ –

(1) samiti สมิติ (สะ-มิ-ติ) = ที่ชุมนุมชน

(2) parisā ปริสา (ปะ-ริ-สา) = กลุ่มชนที่แบ่งกันเป็นพวกๆ

(3) samāgama สมาคม (สะ-มา-คะ-มะ) = “การมารวมกัน” > สมาคม

และแปล social เป็นบาลีดังนี้ –

(1) samājahita สมาชหิต (สะ-มา-ชะ-หิ-ตะ) = เพื่อนที่มาร่วมชุมนุมกัน

(2) mahājanika มหาชนิก (มะ-หา-ชะ-นิ-กะ) = ของมหาชน, เกี่ยวกับมหาชน, กลุ่มชน

น่าสังเกตว่า พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้แปล society และ social เป็นบาลีว่า “สงฺคม

(๒) “สงเคราะห์

บาลีเป็น “สงฺคห” อ่านว่า สัง-คะ-หะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ > สงฺ + คหฺ = สงฺคหฺ + = สงฺคห แปลตามศัพท์ว่า “การจับยึดไว้พร้อมกัน

สงฺคห” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การรวม, การรวบรวม, การสะสม (collecting, gathering, accumulation)

(2) การประกอบ, การเก็บรวบรวม, การกอปรด้วย, การจัดชั้นหรือประเภท (comprising, collection, inclusion, classification)

(3) การรวม, การประกอบความรู้สึก, องค์ (inclusion, constitution of consciousness, phase)

(4) การประมวล, การรวบรวมคัมภีร์ (recension, collection of the Scriptures)

(5) อัธยาศัยดี, ความกรุณา, ความเห็นใจ, ความเป็นมิตร, การช่วยเหลือ, การค้ำจุน, การป้องกัน, การอนุเคราะห์ (kind disposition, kindliness, sympathy, friendliness, help, assistance, protection, favour)

ในที่นี้ “สงฺคห” ใช้ในความหมายตามข้อ (5)

บาลี “สงฺคห” สันสกฤตเป็น “สงฺคฺรห

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “สงฺคฺรห” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สงฺคฺรห : (คำนาม) ‘สังคระหะ, สงเคราะห์,’ รจนาและสังเขป; ปริคณนา, ปริสังขยา, นามาวลี, รายชื่อ; ปริมาณ, สมุหะ, คณะ; การระงับ; การหยิบฉวย-จับกุม-หรือถือเอา; ประสาทน์; การปรนปรือหรือให้ความสุขด้วยประการต่างๆ; การคุ้มครองหรือรักษา; ที่เก็บติปาฐะ; สัญญา; ความสูง; เวค, ความเร็ว; การกำหมัด; อุตสาหะ; compilation and abridgment; a catalogue, a list, a list of names; quantity, collection; restraining; seizing, laying hold of, or taking; propitiating, pleasing or satisfying; protecting or guarding; a place where anything is kept; agreement or contract; assent or promise; loftiness; velocity; clenching the fist; effort.”

บาลี “สงฺคห” สันสกฤต “สงฺคฺรห” ภาษาไทยใช้เป็น “สงเคราะห์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สงเคราะห์ : (คำนาม) การช่วยเหลือ, การอุดหนุน, เช่น ฌาปนกิจสงเคราะห์; การรวบรวม เช่น หนังสือนามสงเคราะห์. (คำกริยา) อุดหนุน เช่น สงเคราะห์เด็กกำพร้า. (ส. สงฺคฺรห; ป. สงฺคห).”

สังคม + สงเคราะห์ = สังคมสงเคราะห์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังคมสงเคราะห์ : (คำนาม) การดําเนินงานเพื่อช่วยเหลือบุคคลให้สามารถช่วยตนเองได้.”

อภิปราย :

สังคมสงเคราะห์เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ในภาษาไทย พิจารณาดูแล้วน่าจะเห็นว่าเป็นคำพิเศษคำหนึ่ง คือ

– แปลจากหน้าไปหลังเหมือนคำประสมในภาษาไทยก็ได้ คือแปลว่า “คนในสังคมสงเคราะห์กัน

– แปลจากหลังมาหน้าเหมือนบาลีสันสกฤตก็ได้ คือแปลว่า “การสงเคราะห์กันของคนในสังคม

สังคมสงเคราะห์” บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า social welfare

social welfare ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถานใช้ว่า –

“การสังคมสงเคราะห์”

“สวัสดิการสังคม”

“สวัสดิภาพสังคม”

ในภาษาบาลี คำที่น่าจะมีความหมายตรงกับ social welfare คือคำว่า “ปรหิตปฏิปตฺติ” (ปะ-ระ-หิ-ตะ-ปะ-ติ-ปัด-ติ) เขียนเป็นคำไทยว่า “ปรหิตปฏิบัติ” (ปะ-ระ-หิ-ตะ-ปะ-ติ-บัด) แปลว่า “ปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น

คำที่เป็นคู่กันคือ “อตฺตหิตสมฺปตฺติ” (อัด-ตะ-หิ-ตะ-สำ-ปัด-ติ) เขียนเป็นคำไทยว่า “อัตหิตสมบัติ” (อัด-ตะ-หิ-ตะ-สม-บัด) แปลว่า “ความสมบูรณ์ด้วยประโยชน์ส่วนตัว” หมายถึงผู้ที่สามารถทำประโยชน์ส่วนตัวได้สมบูรณ์เต็มที่แล้ว และพร้อมที่จะปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นต่อไป

ตามหลักของอารยชน เมื่อตนเองสมบูรณ์ด้วย “อัตหิตสมบัติ” คือส่วนตัวไม่เดือดร้อนด้านความเป็นอยู่แล้ว ก็จะเริ่มบำเพ็ญ “ปรหิตปฏิบัติ” คือปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น-ซึ่งก็คือประโยชน์ของสังคมต่อไป

ในสังคมอารยชน การบำเพ็ญ “ปรหิตปฏิบัติ” ไม่ใช่เพราะมีกฎหมายบังคับ หากแต่เพราะมีคุณธรรมบังคับตนเอง

…………..

: ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง เป็นสุภาพบุรุษ

: ทำเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง เป็นรัฐบุรุษ

: ทำเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ เป็นมหาบุรุษ

ดูก่อนภราดา!

ท่านเป็นบุรุษประเภทไหน?

#บาลีวันละคำ (2,812)

23-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย